การฆ่าตัวตาย
(Suicide)
เรื่อง: การฆ่าตัวตาย
ตีพิมพ์ใน: นิตยสาร Health Today
Keywords: ฆ่าตัวตาย, ซึมเศร้า, suicide, depression
"There
is not a righteous man on Earth who does what is right and never sins."
Ecclesiastes 7:20
“ไม่มีคนชอบธรรมสักคนเดียวบนแผ่นดินโลก
ที่ได้ประพฤติแต่สิ่งที่ถูกต้องและไม่กระทำบาปเลย” ปัญญาจารย์ 7:202x1
6
“ปี 2550
ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 3,458 คน
มีคนพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าสองหมื่นกว่าคน”
ซึ่งในความเป็นจริงเชื่อว่าตัวเลขน่าจะเยอะกว่านี้เยอะ
เพราะมีผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากที่ทำแล้วไม่ได้มาโรงพยาบาล
หรือไม่ได้มีการรายงานอย่างตรงไปตรงมาว่าฆ่าตัวตาย เช่น บางคนกินยาเกินขนาดมา
ยามีผลทำให้ตับวาย บางครั้งแพทย์ก็อาจจะลงสาเหตุการตายว่าตับวาย
โดยไม่ได้ลงว่าฆ่าตัวตาย ในโรงพยาบาลที่ผมทำงานเองเฉลี่ยแล้วก็มีคนพยายามฆ่าตัวตายมาอย่างน้อยวันละ
1-2 คน
คำว่า “Suicide” นั้นมาจากภาษาลาติน ซึ่งแปลว่า “self-murder” หรือ “การฆาตกรรมตัวเอง” ในที่นี้จะมีคำศัพท์ที่ใช้บ่อย ๆ
เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งขออธิบายไว้ก่อน เพื่อที่อ่านแล้วจะได้ไม่สับสนครับ
การฆ่าตัวตายสำเร็จ (completed suicide) คือ
การฆ่าตัวตายซึ่งทำให้ผู้ฆ่าตัวตายเสียชีวิต หรือพูดง่าย ๆ ทำแล้วตายจริง
การพยายามฆ่าตัวตาย (attempted suicide) คือ
การที่ผู้กระทำพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ อาจด้วยจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
แพทย์ช่วยไว้ได้ วิธีการนั้นไม่รุนแรงพอทำให้เสียชีวิต เป็นต้น
สถานที่ ที่มีคนฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลกคือสะพาน Golden gate ใน San Francisco โดยตั้งแต่สร้างเสร็จที่นี่ที่เดียวมีคนมาฆ่าตัวตายเสียชีวิตแล้วมากกว่า
800 คน
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย
เพศใดฆ่าตัวตายมากกว่ากัน ?
พบว่าเพศชายเป็นเพศที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ(คือตายจริง)
มากกว่าเพศหญิง 4 เท่า
แต่ผู้หญิงมีการพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย
4 เท่า คือทำมากกว่า แต่ตายจริงน้อยกว่า เหตุผลเพราะผู้หญิงมักใช้วิธีการฆ่าตัวตายที่รุนแรงน้อยกว่า
คือในผู้ชายมักจะใช้ ใช้ปืนยิง แขวนคอ หรือกระโดดตึก (ซึ่งรุนแรง
เมื่อทำแล้วมักจะตายจริง) ในขณะที่ผู้หญิงมักใช้วิธีรุนแรงน้อยกว่า เช่น
กินยาเกินขนาด กรีดข้อมือ เป็นต้น
(ภาพ: Old Man in Sorrow (On the Threshold of Eternity) is emblematic of Vincent van Gogh's suffering in his final months in Auvers-sur-Oise)
อายุไหนฆ่าตัวตายมากกว่ากัน ?
พบว่าการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มมากขึ้นตามอายุ
โดยอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในเด็กและวัยรุ่นจะน้อยกว่าในวัยผู้ใหญ่
โดยผู้ชายจะพบมากอย่างชัดเจนหลังอายุ 45
ที่จริงแล้วการพยายามฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเองก็เกิดบ่อยมาก แต่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้นน้อยกว่า
(คือวัยรุ่นทำบ่อยแต่ตายน้อยกว่า)
แต่ในบัจจุบันพบแนวโน้มอัตราการพยายามฆ่าตัวตายในเด็กวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ และเจอได้ในอายุที่น้อยลงเรื่อย
ๆ
โสด vs. การแต่งงาน ใครฆ่าตัวตายมากกว่ากัน
พบว่าการแต่งงานอยู่เป็นครอบครัวนั้นลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
โดยเฉพาะถ้ามีลูก เหมือนที่ผู้ป่วยที่เคยพยายามฆ่าตัวตายหลาย ๆ
คนมักจะบอกว่าที่ไม่คิดจะฆ่าตัวตายอีกเพราะคิดถึง”ลูก”
แต่ในคนโสด
รวมถึงคนที่หย่าหรือคนที่เป็นหม้ายนั้นพบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่แต่งงานกว่า
2 เท่า
การทำงาน
พบว่าการมีงานทำลดอัตราฆ่าตัวตาย
และในทางตรงกันข้ามการตกงานนั้นเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตาย ในแง่ของเศรษฐกิจนั้น
ที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดวิกฤตเศษรฐกิจนั้นจะมีคนฆ่าตัวตายมากกว่าช่วงที่เศรษฐกิจดี
สุขภาพทางกาย
พบว่าสุขภาพทางกายนั้นเป็นปัจจัยอันหนึ่งที่สำคัญมากของการฆ่าตัวตาย
โดยปัจจัยการป่วยที่สำคัญคือ การเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดการสูญเสียสมรรถภาพถาวร
จนทำให้ทำงานหรือทำสิ่งที่ชอบไม่ได้ เช่นเป็นอัมพาต เป็นโรคพาร์คินสัน
หรือตาบอดทั้งสองข้างเป็นต้น กับอีกปัจจัยที่สำคัญคือการเจ็บปวดจากการเจ็บป่วยที่ควบคุมไม่ได้
เช่น เป็นมะเร็งแล้วมีอาการปวดอย่างมากจนผู้ป่วยทนไม่ได้
ความสำคัญของความเจ็บป่วยทางจิต
ความเจ็บป่วยทางจิตเวชเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับการฆ่าตัวตาย
โดยพบว่ามากกว่า 90 %
ของคนที่พยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น มีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจอยู่ด้วย
โดยจากการศึกษาในผู้ที่ฆ่าตัวตายพบว่า
45-80% เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
(depressive
disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder)
10-20% เป็นโรคจิตเภท
(schizophrenia)
5% นั้นเป็นโรคสมองเสื่อมและภาวะสับสน (delirium)
โดยพบว่า 25 %
ของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายนั้นเป็นโรคติดสุรา (alcohol
dependence) ร่วมด้วย และยังพบว่าในคนที่ติดสุรานั้น ร้อยละ 15 จะมีการพยายามฆ่าตัวตาย
การพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือพบว่าในคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น
กว่า 20-24
% นั้นเคยมีการพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน (แต่ไม่สำเร็จ)
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า การที่ใครสักคนมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองนั้น
เป็นสิ่งสำคัญที่คนรอบข้างควรใส่ใจ
และที่สำคัญคือควรให้คนเหล่านี้มาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำสอง ซ้ำสาม
สาเหตุที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย
ในคนอายุน้อยกว่า 30 ปี แน่นอนว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเครียดนั้น
มักเป็นปัญหากับคนใกล้ชิด โดยเฉพาะทะเลาะหรือเลิกกับแฟน อันนี้บ่อยสุด
ส่วนกับคนอื่น ๆ เช่น มีปัญหากับพ่อแม่ เป็นต้น ถ้าอายุปลาย ๆ ยี่สิบส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากเรื่องของตกงานหรือความเครียดจากการทำงาน
ในคนอายุมากกว่า 30 ปี สาเหตุที่สำคัญคือ
เรื่องของการเจ็บป่วยทางกายที่เรื้อรัง กับปัญหาเรื่องฐานะการเงิน เป็นปัญหาหลัก ๆ
จิตวิทยาของการฆ่าตัวตาย
ทางจิตวิทยานั้นเชื่อว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายนั้น
มีเหตุผลหรือแรงพลักดันในลักษณะที่ต่าง ๆ กันไปดังนี้
1.
การฆ่าตัวตายนั้นนำไปสู่สิ่งชีวิตดีกว่า เช่น
มีชาติภพหน้าที่ดีกว่า เป็นอิสระเสรี เป็นต้น
2.
การฆ่าตัวตายนั้นเป็นการลงโทษตัวเอง เช่น
เกิดในคนที่รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรผิด เช่น สามีขับรถไปกับภรรยาแล้วรถชน
ภรรยาเสียชีวิตแต่ตัวเองรอด ทำให้รู้สึกผิดมากจนอยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น
3.
การฆ่าตัวตายนั้นเป็นเสมือนการแก้แค้นคนที่รัก
เช่น
ถ้าเธอไม่รักฉัน ฉันจะตายให้ดู (ถ้าฉันตายมันเป็นความผิดของเธอ)
4.
การฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา เช่น มีปัญหาหนี้สิ้นท่วมตัว
ไม่รู้จะแก้ไขจัดการยังไงดี เป็นต้น
5.
การฆ่าตัวตายเนื่องจากอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน
เช่น
ในผู้ป่วยโรคจิตเภทส่วนหนึ่งจะฆ่าตัวตายจากการที่มีหูแว่วมาสั่งให้ฆ่าตัวตาย
หรือบางรายอาจมีอาการหวาดระแวงกลัวคนมาทำร้าย ทำให้เครียดมากจนฆ่าตัวตาย เป็นต้น
การป้องกันและสังเกตการพยายามฆ่าตัวตาย
สิ่งสำคัญคือประชาชนทั่วไปควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช
และการฆ่าตัวตายให้มากขึ้น และไม่มองว่าการฆ่าตัวตายเป็นตราบาป (Stigma) เช่นคิดว่าเป็นเรื่องของคนสิ้นคิด หรือคิดว่าเป็นเพียงเรื่องเล่น ๆ
ถึงแม้ว่าการฆ่าตัวตายนั้นหลายครั้งจะเป็นการยากที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้
แต่ก็มีหลายจุดที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ก่อน และสามารถป้องกันหรือให้การรักษาได้ทันท่วงที
โดยสิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรถือเป็นเรื่องจริงจัง และจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง
·
พฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย
ต้องถือเป็นเรื่องจริงจัง เพราะในชีวิตจริงทุกวันนี้จะพบว่า หลาย ๆ
ครั้งของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายนั้น ไม่ได้มาพบแพทย์
ผมเองมีเด็กวัยรุ่นที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาหลายครั้ง แต่
ที่บ้านก็ไม่เคยพามาพบแพทย์เลย จนครั้งหลังสุดทำรุนแรงจริง ๆ จึงพามาพบแพทย์
·
ความเจ็บป่วยทางจิต ดังที่กล่าวข้างต้นว่า
การฆ่าตัวตายนั้นสัมพันธ์กับความเจ็บป่วยทางจิตอย่างมาก ดังนั้นหากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจขึ้นมา
ก็อย่ารีรอที่จะมาพบแพทย์
·
สัญญาณเตือน (Warning signs) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรสังเกตและให้ความสนใจ
โดยพบว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายจะมีสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างออกมาให้คนรอบข้าง
เช่น พูดเปรย ๆ ว่า “ไม่อยากอยู่” หรือ “ครอบครัวจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีตัวเองอยู่” “ชีวิตนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว” “นี่คงเป็นข้าวมื้อสุดท้าย” เป็นต้น หรือมีพฤติกรรมบางอย่างเช่น ซื้อยามาเก็บไว้มาก
ๆ ซื้อสารอันตรายที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาเก็บไว้ เขียนจดหมายลาตาย
หรือพูดทำนองสั่งเสียกับคนอื่น ๆ เป็นต้น
สิ่งที่ควรทำเมื่อพบผู้ที่สงสัยว่ามีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย
1.
ต้องถือเป็นเรื่องจริงจัง
2.
ให้พูดคุย ซักถามว่าเกิดอะไรขึ้น
โดยไม่แสดงท่าทีตำหนิหรือว่ากล่าว
3.
เสนอความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้
4.
เก็บ/เอาสิ่งที่อาจจะใช้ทำร้ายตัวเองออกไปให้หมด
5. อย่าปล่อยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายอยู่คนเดียวลำพัง
6. รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากไม่สามารถจัดการได้ หรือสถานการณ์ไม่ดีขึ้น
) "Although the
world is full of suffering, it is also full of overcoming it."
Helen Keller 06, "
“ถึงแม้นว่าโลกนี้จะเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน
แต่มันก็ยังเต็มไปด้วยการได้ชัยชนะต่อสิ่งเหล่านั้น
No comments:
Post a Comment