Tuesday, July 1, 2014

ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตในโรคอัลไซเมอร์ (BPSD)

ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบในโรคอัลไซเมอร์
(Behavioral and psychological symptoms in Alzheimer’s disease)

            โดยปกติแล้วหากพูดถึงโรคอัลไซเมอร์ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงอาการหลงลืมเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าอาการของโรคอัลไซเมอร์นั้นมีหลายด้าน ซึ่งอาการด้านที่จะพูดถึงเป็นหลักในบทความนี้คืออาการด้านพฤติกรรมและอาการทางจิต


 (รูปจาก Harper L, et al. J Neurol Neurosurg Psychiatry 2014;85:692–698. doi:10.1136/jnnp-2013-306285)


ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบในโรคอัลไซเมอร์
               ปัญหาพฤติกรรมแลอาการทางจิตนั้นเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก จากการศึกษาของผู้เขียน* พบได้มากกว่า 90% ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และจากประสบการณ์ในการทำงานพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นญาติไม่ได้พามารักษาเพราะอาการหลงสืม แต่มักพามาเพราะผู้ป่วยมีปัญหาพฤติกรรมหรืออาการทางจิตมากกว่า

ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบได้บ่อย ๆ มีดังต่อไปนี้*
อาการหลงผิด (delusion) พบได้  30-40 %
อาการหูแว่วหรือประสาทหลอน (auditory hallucination and visual hallucination) พบได้ 20-30 %
ภาวะซึมเศร้า (depression) พบได้  40-50 %
อาการวิตกกังวล (anxiety) พบได้ 40 %
อาการเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว (apathy) พบได้ 70 %
พฤติกรรมไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ (disinhibition) พบได้30-40 %
อารมณ์หงุดหงิด โกรธ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย (irritable) พบได้ 40%
พฤติกรรมทำอะไรแปลก ๆ (aberrant motor behavior) พบได้ 30-40 %
ปัญหาด้านการนอน (sleep problem) พบได้ 30-50 %
ปัญหาด้านการกิน (Appetite)  พบได้ประมาณ 40-50%

อาการหลงผิด (Delusion)
อาการหลงผิด (delusion)  พบได้ประมาณ 30% ถึง 40% และมักทำให้เกิดปัญหากับตัวผู้ป่วยเองและญาติได้ได้บ่อย ๆ 
อาการหลงผิดคืออะไร ?
อาการหลงผิด หรือ delusion นั้น แปลว่า “fixed false belief”  นั่นคือ ความเชื่ออย่างผิด ๆ ที่เปลี่ยนไม่ได้ (และไม่มีเหตุผล)  ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาการหลงผิดที่พบได้บ่อย ๆ  อาการหวาดระแวง (paranoid) เช่น  คิดว่ามีคนมาขโมยของไป (มักจะเกิดร่วมกับการที่ผู้ป่วยหลงลืม วางของแล้วจำไม่ได้) มีคนจะมาทำร้าย หรือ สามี/ภรรยาของเขามีชู้หรือนอกใจ  เป็นต้น

ตัวอย่าง
มีผู้ป่วยชายอายุประมาณ 65 ปี  อาศัยอยู่กับภรรยา และลูกชาย ลูกสาว  โดยลูกสาวเป็นคนพาบิดามาตรวจเนื่องจากผู้ป่วยระแวงว่าภรรยา (อายุ 65 เท่า ๆ กัน) นั้นมีอะไรกับคนงานในบ้าน  ระแวงจนไม่ยอมให้ภรรยาอยู่คนเดียว ต้องเดินตามตลอด เมื่อภรรยาไม่อยู่ด้วยก็จะหงุดหงิดตะโกนโวยวายกับคนในบ้านว่าภรรยาไปมีชู้  พยายามค้นข้าวของหาหลักฐานการมีชู้ของภรรยา  ผู้ป่วยยังบ่นบ่อย ๆ ว่ามีคนในบ้านขโมยของของเขา (โดยที่ลูกสาวบอกว่าจริง ๆ ของก็ไม่ได้ไปไหน ก็วางอยู่ในบ้านนั่นแหละ)  ลูกสาวพยายามที่จะอธิบายว่ามารดาไม่ได้เป็นอย่างนั้น  และก็อายุมากขนาดนี้แล้ว  แต่ผู้ป่วยเองก็ยังระแวงอยู่ตลอด ไม่ยอมเชื่อ ลูกทุกคนมายืนยันก็ไม่เชื่อ จนมีอารมณ์หงุดหงิดโวยวายมากขึ้น  ลูกสาวจึงตัดสินใจพาผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์
หลังจากที่แพทย์ได้พูดคุยซักประวัติ และทำการทดสอบแล้ว พบว่า ผู้ป่วยมีอาการหลงลืมมาประมาณสองปี วางของแล้วจำไม่ได้ จำเรื่องที่พึ่งผ่านมาไม่ได้  แต่ที่บ้านคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนสูงอายุ สรุปวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ระยะเล็กน้อย (mild dementia) ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาสักระยะหนึ่ง อาการหลงผิดก็หายไป
              
อาการหลงผิดอีกอันหนึ่งที่พบได้บ่อย ๆ และมักทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวก็คือ การคิดว่าคนในบ้านขโมยของ ซึ่งสิ่งนี้ หลาย ๆ ครั้งถึงกับทำให้เกิดการทะเลาะกัน  โดยคนที่หนีไม่พ้นจะถูกผู้ป่วยบอกว่าขโมยของไปก็มักจะเป็นคนที่ดูแลใกล้ชิดที่สุดนั่นแหละ  จนลูกหลานที่ดูแลหลายคนเสียใจท้อแท้  เพราะดูแลเหนื่อยยากแทบตาย  แต่ผู้ป่วยกลับไปพูดกับคนอื่นว่าตัวเองขโมยของในบ้านไป ... สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ สิ่งเหล่านี้เป็นอาการเจ็บป่วย เป็นอาการหนึ่งของโรค  ผู้ดูแลต้องเข้าใจ ไม่ผิดหวังหรือน้อยใจไปกับคำพูดของผู้ป่วย

อาการหูแว่วและประสาทหลอน (auditory hallucination and visual hallucination)
อาการหูแว่วและประสาทหลอนนั้นพบได้ประมาณ 20% - 30% ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอาการหูแว่ว
อาการหูแว่วคืออะไร (auditory hallucination) คืออะไร ?
               คือการที่ผู้ป่วยได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง แต่ผู้ป่วยจะได้ยินเหมือนว่ามีเสียงนั้นจริง ๆ  โดยผู้ป่วยอาจจะเล่าให้ฟังว่ามีใครมาพูดอะไรด้วย หรือมีท่าทางพูดคนเดียวโดยที่ไม่มีใครอยู่ข้าง ๆ
อาการเห็นภาพหลอน (visual hallucination) คืออะไร ?
               คือการที่ผู้ป่วยเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง  โดยผู้ป่วยอาจเคยพูดว่าเขาเห็นแปลกหน้าในบ้าน คนที่เสียชีวิตไปแล้ว หรืออาจเป็นสัตว์ สิ่งของก็ได้
               อาการทั้งสองอย่างนี้อาจทำให้ผู้ป่วยหวาดกลัว ตกใจ หรือบางครั้งทำให้มีปัญหากับญาติได้เพราะญาติเองเถียงกับผู้ป่วยว่ามันไม่มีจริง ซึ่งทำให้กระตุ้นอารมณ์และพฤติกรรมวุ่นวายของผู้ป่วยได้

               อาการหลงผิดและอาการหูแว่วนี้เป็นอาการที่พบได้ในโรคจิตเภท (schizophrenia) เช่นกัน ทำให้บ่อยครั้งที่พบว่าญาติหรือแพทย์ทั่วไปเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท ซึ่งความจริงแล้วผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์

ภาวะซึมเศร้า (depression)
ภาวะซึมเศร้า  เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม ประมาณความชุกจากการศึกษาต่างๆ ได้สูงถึงร้อยละ 40-50 ในขณะที่ความชุกของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุทั่วๆไป พบได้เพียงร้อยละ 1-5 เท่านั้น  
ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าจะมี อารมณ์เศร้าเบื่อไม่อยากที่จะทำอะไร บางครั้งร้องไห้บ่อย ๆ  ไม่มีกำลังใจ รู้สึกตัวเองแย่เป็นภาระกับคนอื่น ท้อแท้ บางครั้งพูดว่าไม่อยากอยู่ อยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย
โดยภาวะซึมเศร้าอาจนำมาก่อนการเกิดภาวะหลงลืม หรือเกิดภายหลังก็ได้   มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการซึมเศร้าเป็นครั้งแรกหลังอายุ 60 ปี เมื่อติดตามต่อไป 2 ปี ร้อยละ 40 จะมีเริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ตามมาภายหลัง  

ภาวะวิตกกังวล (anxiety)
               ผู้ป่วยที่มีภาวะวิตกกังวล จะมีอาการ กังวลเกี่ยวในเรื่องหลาย ๆ เรื่อง เครียด คิดมาก หงุดหงิด บางครั้งอาจมีอาการใจสั่น ตกใจง่าย  บางคนเมื่อวิตกกังวลหรือกลัว จะพยายามเกาะติดกับผู้ดูแลตลอดไม่ยอมแยก ไม่ยอมอยู่คนเดียว

อาการเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว (apathy)
               ผู้ป่วยจะขาดความสนใจในสิ่งรอบ ๆ ตัว ไม่มีแรงจูงใจจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ดูเฉยเมยไม่สนใจ ไม่มีความอยากที่จะทำเริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง เริ่มต้นคุยกับคนอื่นน้อยลง มีส่วนร่วมกับคนในครอบครัวหรือสังคมน้อยลง ไม่สนใจเพื่อน ๆ ไม่มีความกระตือรือร้นในสิ่งที่เคยชอบทำมาก่อน  ดังที่หลายคนอาจจะเคยเห็นผู้สูงอายุที่ทั้งวันนั่งอยู่กับเก้าอี้ตัวเดิม นั่งเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร

พฤติกรรมไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ (disinhibition)
            ผู้ป่วยจะทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่นเหมือนไม่คิด เช่น ผู้ป่วยอาจพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักอย่างเหมือนสนิทสนม พูดเสียงดังหรือก้าวร้าวกับคนอื่นแบบที่ไม่ควรจะพูด หรือพูดเรื่องหยาบคายลามก หรือมีการแตะเนื้อต้องตัวคนอื่น(แต๊ะอั๋งนั่นแหละครับ) อย่างไม่เหมาะสม  หรือบางครั้งอาจเห็นการใช้เงินฟุ่มเฟือย เห็นอะไรก็ซื้อเลยไม่สามารถยับยั้งใจตัวเองได้ เป็นต้น

อารมณ์หงุดหงิด โกรธ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย (irritable)
               ผู้ป่วยจะมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย (กว่านิสัยเดิมที่เคยเป็น) อาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่อดทน ควบคุมอารมณ์ไม่ได้แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายจากอารมณ์ดีเป็นโมโหได้ในไม่กี่นาที ผู้ป่วยอาจดูเอาแต่ใจตัวเองมากขึ้นขัดใจไม่ได้ หรือชอบเถียง

พฤติกรรมแปลก ๆ (aberrant motor behavior)
               ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เมื่อมีอาการมาก ๆ หลาย ๆ คนพบพฤติกรรมแปลก ๆ ได้ เช่นเดินไปเดินมาซ้ำ ๆ โดยไม่มีจุดหมาย รื้อของออกมาแล้วจัดใหม่แล้วรื้ออีก หรือเอาของทั้งหมดในบ้านมากองรวมตรงกันกลางห้อง มีการทำอะไรซ้ำ ๆ เช่นเอาเสื้อมาใส่แล้วถอดแล้วใส่อีก หยิบของมาดูแล้ววางแล้วหยิบมาดูใหม่ บางคนผุดลุกผุดนั่งซ้ำ ๆ หรือบางคนอาจจะนั่งเล่นนิ้วมือตัวเองได้ทั้งวัน
               อีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนพบบ่อย ๆ คือการผู้ป่วยจะเก็บของต่าง ๆ บางครั้งก็เป็นขยะมาสะสมในบ้าน บางคนนั้นเก็บถุงพลาสติกมาเก็บสะสมในห้องเป็นหลายร้อยถุงจนรกไปหมด เป็นต้น

ปัญหาด้านการนอน (sleep problem)

ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับในผู้ป่วยสมองเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดสำหรับผู้ดูแลได้อย่างมาก เพราะทำให้ญาติต้องอดนอนไปด้วย  ซึ่งจากตรวจผู้ป่วยในประเทศพบว่าปัญหานี้เองที่มักจะทำให้ญาติต้องพาผู้ป่วยมารับการรักษา
โดยปัญหาการนอนที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยจะนอนหลับยาก หลับแล้วตื่นกลางดึกแล้วนอนไม่หลับอีก บางคนตื่นขึ้นมาเดินไปเดินมา หรือในบางคนพบว่าผู้ป่วยตื่นมากลางดึกตีสองแล้วอาบน้ำแต่งตัวไปทำกับข้าวเหมือนว่าเช้าแล้วจนลูก ๆ หลาน ๆ ตกใจ

ปัญหาด้านการกิน (appetite)
               ผู้ป่วยมักจะมีกินน้อยลง เบื่ออาหาร กินแต่ของซ้ำ ๆ เหมือนเดิมแทบทุกวัน จนบางคนน้ำหนักลดลงหลายกิโล แต่ในบางคนอาจจะพบปัญหาตรงกันข้ามคือกินมากและกินบ่อยครั้ง กินทุก 2-3 ชั่วโมง บางครั้งกินไปแล้วก็บอกว่าไม่ได้กิน จนบางทีพบว่าทำให้ลูกทะเลาะกันเนื่องจากอีกคนหนึ่งเข้าใจว่าลูกที่ดูแลไม่ให้แม่กินข้าว (แต่จริง ๆ คือให้กิน แต่คนไข้จำไม่ได้)

สรุป  ปัญหาทางพฤติกรรม และทางจิต ที่พบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นพบได้บ่อย และหลายครั้งเป็นอาการที่เห็นได้ชัดเจนมากกว่าอาการหลงลืมด้วยซ้ำ โดยปัญหาเหล่านี้จะมีผลกระทบและสร้างความเครียดให้กับครอบครัวและผู้ดูแลได้อย่างมาก และหลายครั้งมากกว่าตัวอาการความจำเสื่อมด้วยซ้ำ   การเข้ารับการรักษาทั้งด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยานั้นจะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นได้ ดังนั้นหากใครสังเกตเห็นว่าญาติที่เป็นผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้ ก็ควรพามารับการปรึกษากับแพทย์ เพื่อจะได้เป็นการหาสาเหตุและให้การช่วยเหลือต่อไป


* เอกสารอ้างอิง Phanasathit Muthita, Charernboon Thammanard, Hemrungrojn S, Tangwongchai S, Phanthumchinda K. Prevalence of Neuropsychiatric Symptoms in Mild Cognitive Impairment and Alzheimer’s Disease. In: Mateos R, Engedal K, Franco M, eds. IPA 2010. Diversity, Collaboration, Dignity/Abstracts of the IPA International Meeting 1st ed. Santiago De Compostela: Universidade De Santiago De Compostela, 2010: 491-492

Saturday, May 3, 2014

อิทธิพลกลุ่มบนสังคมออนไลน์

อิทธิพลกลุ่มบนสังคมออนไลน์



บทความเผยแพร่ในนิตยสาร Health Today 
http://www.healthtoday.net/thailand/mental/mental_153.html

     ยุคนี้เป็นยุคที่ว่ากันว่าเป็นยุคแห่งสังคมออนไลน์ (social network) เกือบทุกคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำ อย่างน้อยคงต้องใช้ social network อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter หรือ web board สักแห่ง จบแทบจะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว เมื่อมีการใช้สังคมออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง ทำให้ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ กลับมาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในสังคมออนไลน์



อิทธิพลกลุ่ม (Group Influence)
     อิทธิพลกลุ่มในภาษาวิชาการที่จริงมีหลายคำที่ใช้ใกล้เคียงกัน เช่น Group/Peer influence หรือ Conformity การศึกษาชื่อดังอันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของอิทธิพลกลุ่ม ที่ไม่คิดว่าจะมีคนทำแต่ก็ทำกันมาแล้ว แถมยังเป็นการศึกษาที่มีการอ้างอิงบ่อยที่สุดอันหนึ่งได้แก่ การทดลองของ Milgram ในปี 1969 วิธีการศึกษาง่ายมากครับ เหล่าผู้วิจัยจะให้คนจำนวนหนึ่งเล่นเป็นหน้าม้า ไปยืนมองหน้าต่างชั้น 6 บนตึกๆ หนึ่งในเมืองนิวยอร์ก แล้วคอยสังเกตดูพฤติกรรมของคนที่เดินผ่านไปผ่านมาแถวนั้น ว่ามีคนที่มาหยุดยืนดูด้วยกี่คน แน่นอนว่าหน้าต่างก็เป็นหน้าต่างธรรมดาไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ผลการศึกษาก็เป็นที่คาดเดาได้เลยครับ ว่าจำนวนคนที่หยุดดูจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนหน้าม้าที่มอง โดยพบว่าถ้ามีหน้าม้ามองคนเดียวคนก็จะหยุดมองตามไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าหน้าม้าเพิ่มเป็น 5 คน คนเดินผ่านไปมาเกินครึ่งหนึ่งจะมองตาม และถ้ามีหน้าม้า 15 คน คนกว่า 85% จะหยุดมองจนคนล้นไปกีดขวางทางจราจร!

      อิทธิพลกลุ่ม แนวคิดแบบพวกมากลากไป หรือแห่ตาม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ในชีวิตประจำวันเราก็พบเห็นได้บ่อยๆ อย่างเช่น เวลาร้านอะไรสักร้านมีคนมุงเยอะๆ เราก็มักเข้าไปมุงด้วย ในสังคมออนไลน์ก็เช่นกัน แถมจากการศึกษาระยะหลังยังดูเหมือนว่าอิทธิพลกลุ่มในสังคมออนไลน์จะรุนแรงและเห็นได้ชัดมากกว่าในชีวิตจริงด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายรูปท่าต่างๆ อย่างแพลงกิ้ง หรือถ่ายรูปคู่กับไอติมที่ช่วงหนึ่งฮิต ก็มีคนทำตามกันอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์

ทำไมคนเราถึงทำตามกลุ่ม?
     1. เพราะคนเราต้องการที่จะได้รับการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ประเด็นนี้ที่จริงเป็นความต้องการ (Need) ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่อยากให้คนอื่นยอมรับและเชื่อมโยงกับคนอื่น ซึ่งใครๆ ก็อยากได้ แต่สิ่งเหล่านี้ยากที่จะได้มาหากเราเล่นสวนกระแสผู้อื่นตลอดเวลา สำหรับในสังคมออนไลน์ที่เราสามารถลบหรือบล๊อคเพื่อนกันได้ง่ายๆ ซึ่งต่างจากชีวิตจริง จึงไม่แปลกเลยที่เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่ามีคนถูกลบออกจากการเป็นเพื่อนเพราะมีทัศนคติบางอย่างไม่ตรงกัน (โดยเฉพาะเรื่องการเมือง) ดังนั้นการทำตัวแตกต่างจากกลุ่มก็มีโอกาสสูงที่จะถูกเพื่อนเลิกเป็นเพื่อน (unfriend) ได้

      2. เพราะเราหลีกเลี่ยงที่จะถูกด่า (หรือวิจารณ์) คนเราทุกคนย่อมไม่อยากโดนด่า และในสังคมออนไลน์ก็เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นที่ที่คนจะปากจัดกว่าในชีวิตจริง เพราะไม่ได้เจอหน้าเจอหน้ากันจึงไม่ค่อยเกรงใจกัน ดังนั้นการโพสอะไรขัดหูขัดตาคนอื่นย่อมไม่พ้นการโดนด่าหรือวิจารณ์

      3. เพราะเราอยากจะทำในสิ่งที่คิดว่าน่าจะถูกต้อง ปัญหาคือบางกรณีเราก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกกันแน่ และวิธีการง่ายที่สุดในกรณีที่เราไม่รู้หรือไม่มั่นใจว่าอะไรดี อะไรถูกต้อง ก็คือทำการตามชาวบ้านไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ความจริงมันอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราขับรถอยู่บนถนนแห่งหนึ่ง แล้วเกิดอยากจอดข้างทาง แต่เราไม่แน่ใจว่าข้างทางตรงนี้มันห้ามจอดรึเปล่า ไม่มีป้ายบอกว่าห้ามจอดหรือไม่ ในกรณีนี้ถ้าเราเห็นว่าด้านหน้าเรามีรถคันอื่นๆ จอดอยู่เราก็มักจะกล้าจอด เพราะเห็นว่าคนอื่นเค้ายังจอดได้เลย ในสังคมออนไลน์เองก็พบได้ เช่น กรณีมีโพสทำนองว่า “นักร้องชายชื่อดังทำผู้หญิงท้องแล้วไม่รับ” แรกๆ หลายคนก็อาจไม่ค่อยแน่ใจว่าจริงรึเปล่านะ ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ ไม่แน่ใจว่าควรคอมเมนท์ว่าไงดี แต่พอดูไปดูมาสักพัก เห็นมีคนโพสด่านักร้องกันมากมาย ทีนี้เราก็เริ่มมั่นใจจนไปโพสด่ากับเขามั่ง 

      4. เพราะเราไม่อยากรู้สึกต่ำต้อยกว่าคนอื่น คนบางคนมักจะรู้สึกแย่ถ้าเราไม่มีในสิ่งที่คนอื่นมีหรือไม่ทำสิ่งที่คนอื่นทำ เราเห็นคนโพสอะไรก็อยากโพสมั่ง ถ้าไม่ทำก็จะรู้สึกเหมือนเราต่ำต้อยกว่าคนอื่นยังไงชอบกล
ที่ผ่านมาเป็นการอธิบายว่าเพราะอะไรคนเราถึงชอบทำตามคนอื่น ถัดมาเราจะมาดูว่าการอยู่กับกลุ่มที่มีความเชื่อคล้ายกันเป็นเวลานานๆ จะเกิดอะไรขึ้น และมีผลเสียยังไง กับปรากฏการณ์ group polarization



Group Polarization
     Group polarization คือปรากฏการณ์ที่เวลาคนเราไปอยู่ในกลุ่มที่มีทัศนคติหรือความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งคล้ายกันมากๆ เราจะยิ่งมีความเห็นหรือการตัดสินใจที่สุดโต่งหรือสุดขั้วมากขึ้นกว่าตอนที่อยู่คนเดียว แรกๆ group polarization มีต้นกำเนิดมาจากเรื่องของความเสี่ยง (risky shift) คือพบว่าเมื่อคนเราอยู่ในกลุ่มที่มีความคิดเหมือนกัน เราจะกล้าเลือกทางเลือกที่เสี่ยงมากขึ้น แต่ภายหลังพบว่ามันสามารถประยุกต์ใช้ได้มากกว่าเรื่องความเสี่ยงอย่างเดียว

      การทดลองหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ได้แก่การทดลองของ Myers และ Bishop ในปี 1970 ทั้งสองคนทำการทดลองโดยให้นักศึกษามาทำแบบประเมินทัศนคติการเหยียดสีผิว แล้วแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีทัศนคติเหยียดสีผิวมาก ปานกลาง และน้อย แล้วให้ทั้งสามกลุ่มทำการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มประเด็นเรื่องเชื้อชาติและสีผิว โดยทำซ้ำๆ กันหลายครั้ง และเมื่อเสร็จสิ้นการพูดคุยแล้ว ก็เอาแต่ละคนมาทำแบบประเมินทัศนคติการเหยียดผิวใหม่อีกที ผลออกมาพบว่า กลุ่มที่เอาคนที่เหยียดผิวมากมารวมตัวกัน หลังคุยเป็นกลุ่มทัศนคติก็ยิ่งแย่กว่าเดิม เหยียดผิวหนักกว่าเดิม ส่วนกลุ่มที่เหยียดผิวน้อยอยู่แล้วก็จะมีทัศนคติที่ดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่อยู่ตรงกลางทัศนคติก็จะพอๆ เดิม การทดลองนี้ได้ข้อสรุปง่ายๆ คือกลุ่มที่ทัศนคติดียิ่งคุยก็ยิ่งดีขึ้น กลุ่มที่ทัศนคติแย่ยิ่งคุยก็ยิ่งแย่ลง นี่คือลักษณะของ Group polarization 

      Group polarization นี้สามารถเห็นชัดที่สุดเวลาเราเข้าไปดูในกลุ่มเกี่ยวกับการเมือง (ที่จริงกลุ่มอื่นก็เกิดได้ครับ เช่น กลุ่มคนรักผลิตภัณฑ์บางอย่าง กลุ่มต่อต้านอะไรสักอย่าง เป็นต้น) จะเห็นได้ว่าความเห็นนั้นมักจะดุเดือด ยิ่งโพสยิ่งรุนแรง เกลียดใครก็ยิ่งเกลียดมากขึ้นเรื่อยๆ และความคิดเห็นก็ไปทางเดียวกันอย่างสุดขั้ว ซึ่งมักจะก่อให้เกิดผลเสียตามมา



ปัญหาของการคิดเป็นกลุ่มหรือได้อิทธิพลกลุ่มมากเกินไป

     1.ไม่มีความคิดสร้างสรรค์หรือคิดต่างจากเดิม (ไม่คิดนอกกรอบของกลุ่ม) 
     2.ไม่มีทางเลือกอื่น หรือมีทางเลือกน้อยมาก 
     3.ไม่มีอิสระทางความคิดของแต่ละคน 
     4. ยิ่งอยู่นานยิ่งคิดแบบสุดโต่ง
     5. เชื่อง่ายโดยไม่มีการหาข้อมูลก่อน หรือลำเอียง (Bias) เชื่อแต่ข้อมูลที่มาจากกลุ่มตัวเอง



รู้ได้อย่างไรว่าเราได้อิทธิพลกลุ่มหรือคิดแบบเป็นกลุ่มมากเกินไปหรือเปล่า?

     Irving Janis ได้เขียนลักษณะของคนที่คิดเป็นกลุ่มมากเกินไปไว้ (ซึ่งผมเอามาดัดแปลงเล็กน้อย) ดังนี้

      กลุ่มที่ 1 ประเมินค่าของกลุ่มมากเกินไป ทั้งในแง่ของอำนาจและศีลธรรม (Overestimations of the group)

      1.1 เชื่อในพลังอำนาจของกลุ่มมากจนเกินไป มองกลุ่มในแง่ดีเกินไปจนนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงๆ

      1.2 ไม่สงสัยในศีลธรรมของกลุ่ม จนทำให้ไม่คิดถึงผลเสียที่อาจจะตามมา

      ตัวอย่างที่ดีในสังคมออนไลน์คือ พฤติกรรมการล่าแม่มดและเสียบประจาน จะเห็นว่าคนในกลุ่มนี้เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ “ดี” “ถูกต้อง” และ “สมควรทำ” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ทำนั้นยอกย้อนในตัวเอง เพราะการเสียบประจานก็เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นและผิดกฎหมายในตัวมันเอง แต่คนในกลุ่มส่วนใหญ่ไม่สงสัยในศีลธรรมหรือความถูกต้องในสิ่งที่ทำ ตรงกันข้ามกลับเชื่อในอำนาจของกลุ่มว่าเปรียบเสมือนศาลที่สามารถตัดสินถูกผิดคนอื่นได้ และมักไม่คิดถึงผลเสียที่อาจจะตามมา เช่น ทำผิดกฎหมายซะเองซึ่งอาจถูกฟ้อง หรืออาจจะถูกเอาคืนด้วยการเสียบประจาน เป็นต้น

      กลุ่มที่ 2 โลกแคบ (Closed-mindedness)

     2 .1 แก้ตัวให้กลุ่มหรือโจมตีคนอื่นที่ขัดแย้งกับความคิดของกลุ่ม โดยไม่สนใจตัวเนื้อหาหรือเหตุผลใด

      2.2 มองว่าคนอื่นที่คิดตรงข้ามว่าอ่อนแอ ชั่วช้า ลำเอียง ปัญญาอ่อน ไร้การศึกษา ฯลฯ (อ่านแล้วคุ้นๆ ไหมครับ)

      กลุ่มที่ 3 กดดันเพื่อให้คิดเหมือนกัน (Pressures toward uniformity)

      3.1 ไม่กล้าแสดงความเห็นที่แตกต่างจากกลุ่ม โดยยอมเซ็นเซอร์ตัวเอง

      3.2 มีภาพลวงตาแห่งการเห็นด้วย เชื่อในการเห็นด้วยของกลุ่มแบบมากเกินจริง จนกระทั่งการไม่ออกความเห็นถูกแปลว่าเป็นการเห็นด้วย เช่น ในกลุ่มมีคนหนึ่งโพสว่า “แม่ง นัง ก. โคตรเลวเลย” แล้วมีบางคนเข้ามาเห็นด้วย ความจริงมีคนจำนวนมากในกลุ่มที่ไม่ได้เข้ามาด่าด้วย แต่ผู้ที่โพสกลับแปลว่าทุกคนในกลุ่มเห็นด้วยทั้งๆ ที่ไม่เป็นจริง

      3.3 ผู้ไม่เห็นด้วยจะถูกกดดันให้กลายเป็น “คนทรยศ” “หักหลัง” หรือ “ไม่ภักดี” ต่อกลุ่ม

      3.4 สมาชิกคอยปกป้องกลุ่มจากการถูกโจมตีด้วยตัวเอง คือไม่มีใครสั่ง ไม่ได้มีการจัดตั้ง ไม่ได้มีตำแหน่งองครักษ์พิทักษ์กลุ่ม แต่รู้และทำการปกป้องกลุ่มหรือความเห็นของคนในกลุ่มด้วยตัวเองอย่างเต็มที่


วิธีป้องกันและแก้ไขการคิดแบบกลุ่มที่มากเกินไป

      1. ผู้นำหรือผู้ทรงอิทธิพลของกลุ่ม ไม่ควรแสดงความเห็นเร็วหรือชี้นำมากเกินไป เพราะจะไม่มีใครกล้าเสนออะไรอีก นอกจากนี้ควรมีการสนับสนุนให้ผู้อื่นได้แสดงความเห็นบ้าง

      2. พยายามคิดอะไรที่ต่างไปจากกลุ่มบ้าง

      3. พูดคุยกับคนอื่นภายนอกกลุ่มเป็นระยะ โดยเฉพาะคนที่คิดต่างจากกลุ่ม

      4. ไม่ประณามคนที่คิดต่างหรือแหกคอกจากกลุ่ม

      5. มีผู้ทำหน้าที่แย้งประจำกลุ่มอย่างน้อยสัก 1 คน (หรือถ้ามีอยู่แล้วก็อย่าพึ่งไปลบเขาออกจากการเป็นเพื่อน) คล้ายๆ ฝ่ายค้าน คอยถามว่า “จริงเหรอ” “มั่นใจได้ไง” “ไม่ผิดเหรอทำแบบนี้” “รู้ได้ไง” เป็นต้น
ถ้าหากอ่านบทความนี้แล้วเริ่มรู้สึกว่ามันตรงกับชีวิตเราหลายข้อเหลือเกิน นี่เป็นสัญญาณว่าเราอาจจะติดและอินกับกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป ดังนั้นจงรีบเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อนที่อาจจะเกิดผลเสียตามมาในอนาคตได้


เอกสารอ้างอิงที่สำคัญ
Janis IL, 1971. Groupthink. Psychology Today, 5: 43-76.
Milgram S, Bickman L, Berkowitz L, 1969. Note on the drawing power of crowds of different size. Journal of Personality and Social Psychology, 13: 79-82.
Myers DG, Bishop GD, 1970. Discussion Effects on Racial Attitudes. Science, 169: 778-779.

Thursday, February 6, 2014

Stalker and Stalking

Stalker and Stalking

(บทความตีพิมพ์ในวารสาร Health Today ประเทศไทย)
           คิดว่าในเดี๋ยวนี้คำว่าสตอร์คเกอร์หรือ stalker (ขอใช้ทับศัพท์น่าจะสะดวกกว่า) นั้นคงเป็นศัพท์ที่ใคร ๆ ก็รู้จักและได้ยิน และคิดว่าหลาย ๆ คนอาจจะเคยมีประสบการณ์ตรงจากการถูกติดตามมาแล้วด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยก็อาจจะได้ยินข่าวที่ว่าดาราบางคนเคยถูกติดตามมาแล้วด้วย

อันดับแรกจะขออธิบายความแตกต่างของคำศัพท์จากพจนานุกรมได้ดังนี้
Stalking เป็นคำนาม แปลได้ว่า การเดินย่องตาม การติดตาม
Stalk เป็นคำกริยา  แปลว่าการติดตาม
Stalker เป็นคำนาม แปลว่า ผู้เดินย่องตาม ผู้ติดตาม



อะไรคือ Stalking
            Stalking คือพฤติกรรมที่มีการรุกรานผู้อื่นซ้ำ ๆ อันทำให้เกิดความกลัวหรือรบกวนต่อผู้อื่น โดยพฤติกรรมที่รุกรานนี้เป็นไปได้ทั้ง การแอบติดตาม ดักรอ แอบดู การพยายามติดต่อด้วยไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์ SMS จดหมาย อีเมล์ การให้ของ การทิ้งโน๊ตให้ หรือกระทั้งการพูดคุยต่อหน้า ในยุคอินเตอร์เน็ตนี้ การรุกรานนั้นเริ่มพัฒนาไปเป็นแนวใหม่ ๆ มากขึ้นเช่น ไปเขียนข้อความให้ใน hi5, face book หรืออื่น ๆ การเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ถูกติดตามไว้ใน blog, web board หรือเขียนส่งไปให้คนอื่น ๆ เป็นต้น

Stalking พบได้บ่อยแค่ไหน
               มีการศึกษาไม่มากเกี่ยวกับเรื่อง stalking แต่ส่วนใหญ่พบว่าพฤติกรรม Stalking นั้นพบได้ไม่น้อย  มีการศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้หญิง 8-22% เคยเจอการ stalking มาแล้ว ในผู้ชายพบน้อยกว่าที่ 2-8% 
โดยส่วนใหญ่นั้นผู้ที่ถูกติดตามจะเป็นผู้หญิง (70-80%) เป็นผู้ชาย 20-30% ในขณะที่ผู้ติดตาม (Stalker) นั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย (80-85%)
            การติดตามนั้นส่วนใหญ่เป็นการติดตามเพศตรงข้ามคือผู้ชายตามผู้หญิง มีแค่ 20-25% เท่านั้นที่ผู้ติดตามและผู้ถูกติดตามเป็นเพศเดียวกันซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชายตามผู้ชาย

ผลกระทบต่อผู้ถูกติดตาม
               โดยพฤติกรรมของการ stalking นั้นเป็นการรุกรานและรบกวนอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ผู้ที่ถูกติดตามมักจะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตไม่มากก็น้อย ทำให้เกิดความกลัว ความระแวง ตื่นตระหนก หงุดหงิด นอนไม่หลับหรือแม้กระทั่งซึมเศร้าได้ ผลกระทบต่อจิตใจนั้นจะมีมากขึ้นเมื่อการติดตามเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน มีการศึกษาหนึ่งพบได้ว่าผู้ที่ถูกติดตาม 44% มีอาการวิตกกังวล 41% มีอาการนอนไม่หลับ 28% มีอาการซึมเศร้า
               นอกจากนี้บางกรณีการรุกรานนั้นยังรุนแรงจนถึงการทำลายข้าวของหรือทำร้ายร่างกายผู้ถูกติดตามได้ได้


การแบ่งประเภทของ Stalker
            มีการแบ่งประเภทของ Stalker หลาย ๆ แบบ เพื่อที่จะสามารถเข้าใจและอธิบายได้ง่าย ในบทความนี้จะแบ่งประเภทของ Stalker ตามแบบของ Mullen ซึ่งแบ่งประเภทของ Stalker เป็น 5 กลุ่มดังนี้

1. ผู้ถูกปฏิเสธ The rejected
            เป็นกลุ่มที่เคยสนิทหรือมีความสัมพันธ์กันมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นอดีตคนรัก บางกรณีก็เป็นเพื่อนสนิทที่แอบรัก พฤติกรรมการติดตามเริ่มจากการถูกปฏิเสธความสัมพันธ์ การบอกเลิก แรงจูงใจของพฤติกรรมติดตามนั้นเกิดจากความต้องการที่จะคืนดีกลับไปเป็นเหมือนเดิม หรือจากความโกรธแค้น หรือทั้งสองอย่างผสมกัน นอกจากนั้นเมื่อติดตามไปได้สักระยะ การติดตามกลายเป็นการชดเชยความสัมพันธ์ที่ขาดหายไป บางครั้งก็กลายเป็นความพึงพอใจที่ได้รุกรานและควบคุมอีกฝ่าย
               โดยส่วนใหญ่กลุ่มนี้ไม่ได้เป็นผู้ที่มีโรคทางจิตเวช แต่อาจมีปัญหาในเรื่องการยึดติดกับคนอื่น self esteem ต่ำ การควบคุมจิตใจตัวเองไม่ดี
               กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการทำร้ายร่างกายผู้ถูกติดตาม และการติดตามมักเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน

2. ผู้แสวงหาความรัก The intimacy seeker
            เป็นกลุ่มที่การติดตามนั้นทำเพื่อความรัก ชักนำด้วยความหวังที่จะสมหวังในความรัก ในกลุ่มนี้ stalker มีได้ตั้งแต่ผู้ถูกติดตามเองไม่รู้จัก stalker เลย จนถึงพอที่จะรู้จักบ้างเช่น ทำงานที่เดียวกัน เคยพบกันบ้าง ในกลุ่มนี้อาจแบ่งได้เป็น
               Private stranger คือ stalker เป็นคนแปลกหน้าที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น เคยเดินเจอกัน ทำงานหรือเรียนที่เดียวกัน
               Public stranger คือ ผู้ถูกติดตามเป็นคนที่พบได้ตามสื่อ ส่วนใหญ่ก็เป็นดารา โดยที่เจ้าตัวเองไม่ได้รู้จักตัว stalker เลยด้วยซ้ำ
               ในกลุ่มนี้นั้น stalker ส่วนหนึ่งเป็นวัยรุ่น ที่เป็นแฟนดาราหรือนักร้องคนนั้นอย่างมาก ๆ ชนิดคลั่งไคล้ จนนำไปสู่พฤติกรรมติดตาม หรือเป็นการตกหลุมรักอย่างมาก ๆ  ในขณะที่อีกส่วนหนึ่ง  เกิดจากโรคทางจิตเวช เช่นโรคจิตเภท (schizophrenia) โรค delusional disorder หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) โดยที่ผู้ติดตามมักมีอาการหลงผิดแบบ erotomanic

3. ผู้ขาดทักษะ The incompetent suitor
               กลุ่มนี้คือผู้ติดตามเพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ โดยความสัมพันธ์ที่ต้องการนี้อาจเป็นได้ทั้งแบบคนรัก หรือแค่แบบเพื่อนธรรมดาก็ได้  โดยผู้ติดตามในกลุ่มนี้จะขาดทักษะในการเข้าสังคมและการสร้างความสัมพันธ์ การติดตามในกลุ่มนี้มักเกิดขึ้นไม่นานก็หายไป มักไม่พบพฤติกรรมรุนแรงหรือการทำร้ายร่างกาย
               โดย stalker ในกลุ่มนี้มักเป็นวัยรุ่นชายที่ดูขี้อาย งก ๆ เงิ่น ๆ  เก้ ๆ กัง ๆ ออกแนวเด็กเนิร์ด ไม่เก่งในการเข้าหาคนเข้าหาสังคม กับอีกพวกหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทางจิตเวชที่ทำให้ทักษะการเข้าสังคมไม่ดี เช่น ไอคิวไม่ดี เป็นกลุ่มโรค autistic โรค Asperger เป็นต้น
โดย stalker ในกลุ่มนี้มักไม่ได้มีความผิดปกติทางจิตแบบหลงผิดแต่อย่างใด

4. ผู้โกรธเคือง The resentful
               กลุ่มนี้แรงจูงใจในการตามเกิดจากการโกรธ เจ็บใจ รู้สึกถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม หรือถูกกลั่นแกล้ง ดูถูก  ทำให้ขายหน้า ต่อมาความโกรธแค้น ก็เปลี่ยนไปเป็นความพอใจ สะใจ รู้สึกตัวเองมีอำนาจ รู้สึกว่าเหนือกว่าอีกฝ่าย จากที่ตัวเองเคยเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ กลั่นแกล้ง การติดตามจะช่วยลดอารมณ์โกรธ ความรู้สึกอยุติธรรมลงไปได้
               ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ stalker ไม่ได้มีโรคทางจิตเวช อาจจะมีบ้างส่วนน้อยที่เกิดจากความหลงผิดแบบหวาดระแวง (paranoid delusion)

5. ผู้ล่า The predator
            กลุ่มนี้คือผู้ที่ทำเพื่อต้องการทำความรุนแรงต่อเหยื่อ หรือต้องการตอบสนองความต้องการทางเพศของตัวเอง แรงจูงใจของการติดตามเริ่มมาจากความอยากรู้จักข้อมูลของอีกฝ่าย ได้ความพอใจจากการลอบแอบดู ความตื่นเต้น ความรู้สึกมีอำนาจเหนือเหยื่อ ความสุขจากการได้วางแผนที่จะลงมือกับเหยื่อ
               กลุ่มนี้มักจะมีความผิดปกติทางจิตใจเป็น ซาดิสต์ (sadistic) หรือ pedophilia (ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก)

ความเสี่ยงของการทำร้ายร่างกาย
               เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการประเมินการติดตามนี้ว่า มีความเสี่ยงที่ stalker จะกระทำรุนแรงต่อผู้ถูกติดตามแค่ไหน การกระทำรุนแรงในที่นี้หมายถึงการทำร้ายร่างกาย โดยพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการทำร้ายร่างกายคือ
  • ลักษณะของความสัมพันธ์ ดังที่กล่าวมาคือ stalker ที่เป็นอดีตคนรัก หรือเพื่อนนั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความรุนแรง โดยพบว่าประมาณ 50% ของ stalker ที่เป็นอดีตคนรักมีการทำร้ายร่างกายร่วมด้วย ในขณะที่ stalker ที่เป็นแค่คนผู้ร่วมงานมีการทำร้ายร่างกายประมาณ 16% ส่วนที่เป็นคนแปลกหน้านั้นทำร้ายร่างการแค่ประมาณ 8%
  • การขู่ การ stalking นั้นบางครั้ง stalker มีการขู่ เช่น ขู่ว่าจะทำร้าย หรืออื่น ๆ กับผู้ถูกติดตาม พบว่าการขู่นั้นเป็นสัญญาณหนึ่งของการก่อความรุนแรง โดยพบว่า ประมาณ 44% ของผู้ที่ถูกขู่ทำร้ายตามมาด้วยการทำร้ายจริง ๆ
  • วิธีการติดตาม พบว่ายิ่งวิธีติดตามที่รุกรานมาก ยิ่งเป็นความเสี่ยงที่ stalker จะทำความรุนแรงกับผู้ถูกติดตาม โดยวิธีที่พบว่ามีความเสี่ยงมากคือ การที่ stalker บุกรุกถึงในบ้านหรือในที่ทำงาน
  • โรคทางจิตเวช เป็นที่เข้าใจผิดกันว่า stalker ที่ก่อความรุนแรงนั้นน่าจะป่วยทางจิต แต่กลับพบว่าโดยทั่วไปแล้ว stalker ที่ไม่ได้เจ็บป่วยทางจิตก่อความรุนแรงต่อเหยื่อมากกว่ากลุ่มที่เจ็บป่วยทางจิต (ยกเว้นกลุ่ม Predator)

เมื่อถูกติดตามควรทำยังไงดี
1. พบแพทย์  หากรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีปัญหาเช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เครียดมาก ซึมเศร้า แบบนี้ควรพบแพทย์ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อย่าปล่อยทิ้งไว้จนเป็นมาก
2. บอกคนอื่นที่ใกล้ชิด เมื่อถูกติดตาม ควรที่จะบอกครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน การบอกคนอื่นเพื่อจุดมุ่งหมายดังนี้
·       เพื่อคนอื่น ๆ จะได้เข้าใจ และให้กำลังใจ
·       เพื่อคนอื่น ๆ จะได้ช่วยระมัดระวัง ดูแล ป้องกันไม่ให้ stalker เข้าถึง หรือเผลอไปช่วย stalker โดยไม่ตั้งใจ เช่น ไม่ต่อโทรศัพท์ให้ ไม่รับฝากโน๊ตหรือของ ไม่บอกว่าผู้ถูกติดตามอยู่ที่ไหน
·       เพื่อคนอื่นจะได้ช่วยในการดูว่า บางครั้งเรากังวลมากเกินไปรึเปล่า
3. ควรหลีกเลี่ยงการติดต่อกับ stalker ไม่พยายามพูดคุย ตอบโต้ใด ๆ เพราะยิ่งจะทำให้การติดตามเป็นมากขึ้น และไม่ควรตอบโต้ด้วยการด่าว่าหรือด้วยความรุนแรง เพราะยิ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการที่ stalker จะก่อความรุนแรงมากขึ้น
4. เพิ่มการรักษาความปลอดภัย เช่น ควรล็อกประตูหน้าต่างให้ดี  ติดไฟเพิ่มความสว่างบริเวณรอบ ๆ บ้าน หลีกเลี่ยงการไปในที่เปลี่ยวคนเดียว เป็นต้น
5. การจัดการด้านกฎหมาย ในเมืองนอกพบว่าวิธีจัดการกับการติดตามที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้อำนาจศาล แบบที่เราคงเคยเห็นในหนังบ่อย ๆ คือห้ามคน ๆ นั้นเข้าใกล้ในรัศมีเท่านั้นเท่านี้ แต่จุดนี้ในประเทศไทยผมก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่ามีการทำมากน้อยเพียงใด แต่ในเมืองนอกนั้นคงเป็นเรื่องที่ไม่ประหลาดมาก เพราะผมเองยังมีคนรู้จักที่เคยขอคำสั่งศาลแบบนี้มาแล้ว
               จุดสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในประเด็นนี้คือ ควรเก็บหลักฐานการติดตามไว้ เช่นจดหมายหรือของที่ส่งมาให้ อัดเสียงการโทรศัพท์ เก็บอีเมล์ที่ส่งมา หรือการถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอการติดตามไว้ เผื่อไว้ในกรณีที่ต้องใช้ในการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป

               อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือผู้ที่เป็น stalker เพราะจำนวนหนึ่งของ stalker เองก็เกิดจากความเจ็บป่วยทางจิต ดังนั้นผู้ปกครองหรือญาติ ๆ หากเห็นลูก ๆ หลาน ๆ หรือคนรู้จักมีพฤติกรรมแบบ stalker ก็ควรเข้าไปดูแลพูดคุย และพามาพบแพทย์เพื่อที่จะรักษาให้หายต่อไป