Saturday, March 3, 2012

 Neurobic Exercise 
บริหารสมองให้แข็งแรง


ชื่อเรื่อง : Neurobic Exercise บริหารสมอง ให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม
Article : นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ
http://www.healthtodaythailand.com/
 Key words:  Neurobic exercise, บริหาร, สมอง, สมองเสื่อม

         ความ ฟิตแอนด์เฟิร์มไม่ใช่แค่เรื่องของร่างกายที่จับต้องได้ หรือมองด้วยตาเปล่าเห็นเท่านั้น เพราะสมองก็ต้องการความฟิตแอนด์เฟิร์มด้วย เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะหลงลืมอวัยวะสำคัญส่วนนี้ไป ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้นละก็คงอยู่เฉยไม่ได้แล้ว

          ความเชื่อเดิมๆ ในอดีต (สมัยที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม) บอกว่า สมองของคนเราจะพัฒนาจนสมบูรณ์เมื่อเรามีอายุ 5-6 ขวบ หลังจากนั้นเซลล์ประสาทจะไม่มีการเพิ่มจำนวนหรือเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป มีแต่จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ผลจากการศึกษาในปัจจุบันกลับพบว่า เซลล์ประสาทสามารถที่จะเติบโต เปลี่ยนแปลง รวมถึงมีการแตกแขนงกิ่งก้านสาขาของเซลล์ได้อีก แม้ว่าเราจะมีอายุมากแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบด้วยว่า ผู้ที่ใช้สมองอย่างต่อเนื่องเป็นประจำมีอัตราการเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่า คนที่ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้

      ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ง่ายๆ ว่า สมองก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากกล้ามเนื้อของร่างกาย ที่หากไม่ได้ใช้งานนานๆ ก็จะลีบเล็กไป แต่ถ้ามีการบริหารบ่อยๆ กล้ามก็จะโตและแข็งแรง สมองก็เช่นกันเพราะเราสามารถที่จะบริหารให้เซลล์ประสาทเติบโตแข็งแรงขึ้นมา ได้

      การออกกำลังสมองแบบ neurobic exercise นี้ คิดขึ้นมาโดยศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ซี แคทซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ชาวอเมริกัน โดยท่านได้เขียนหนังสือชื่อ “Keep your brain alive” ออกมา และกลายเป็นหนังสือขายดีที่ได้รับการแปลเป็นหลายภาษา หลักการของ neurobic exercise เป็นการนำแนวคิดการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ด้วยการขยับกล้ามเนื้อหลายๆ ส่วน มาประยุกต์กลายเป็นวิธีการบริหารสมองที่ใช้ประสาทสัมผัสไปกระตุ้นกล้ามเนื้อ สมองหลายๆ ส่วนให้ขยับและตื่นตัว ทำให้เซลล์ประสาทแตกกิ่งก้านสาขา เซลล์สมองมีการสื่อสารกันมากขึ้น ด้วยวิธีการคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

หลักการสำคัญของneurobic exercise
      1.ใช้ประสาทสัมผัสให้มากขึ้นในทุก ๆ ด้าน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพื่อจะได้ดึงความสามารถของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ออกมาให้มากที่สุด และควรลองใช้สัมผัสหลายๆ ด้านผสมกัน เพราะคนเราทุกวันนี้ส่วนใหญ่มักจะมีกิจกรรมที่ใช้ประสาทสัมผัสซ้ำๆ เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นประสาทสัมผัสทางตาและหู ขณะที่ประสาทสัมผัสอื่นๆ มักจะไม่ค่อยถูกใช้งาน แต่เนื่องจากระบบประสาทสัมผัสแต่ละชนิดใช้สมองคนละส่วนกัน ดังนั้นเมื่อมีการใช้ประสาทสัมผัสหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันก็จะเป็นการกระตุ้นเซลล์สมองหลายๆ ส่วนให้ทำงานและตื่นตัว ซึ่งจะช่วยให้เซลล์ประสาทแตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น รวมถึงมีการเชื่อมโยงประสานงานกันระหว่างเซลล์เพิ่มขึ้นด้วย

      2. ทำอะไรใหม่ๆ หากเรามัวแต่ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ซ้ำๆ สมองจะไม่ได้ทำงานเท่าไร เพราะสมองจะทำทุกอย่างไปตามความเคยชินหรือเป็นอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น การที่เราขับรถไปที่ทำงานทางเดิมทุกวัน บางครั้งเราจะขับโดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้สมาธิ สมองจึงแทบจะไม่ได้ทำงานอะไรเลย แต่การทำอะไรใหม่ๆ จะเป็นการกระตุ้นสมองให้คิด วิเคราะห์ วางแผน และต้องใช้สมาธิ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้สมองมีความสามารถเพิ่มขึ้น รวมถึงยังทำให้ชีวิตมีความสนุก ตื่นเต้น ไม่ซ้ำซากน่าเบื่อ


ลองมาบริหารสมองกันดูหน่อย


วิธีการบริหารสมองแบบ neurobic exercise ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก เพียงเริ่มจาก

1. เลือกวิธีการออกกำลังสมองที่จะยกตัวอย่างให้ดูหลังจากนี้มาทำวันละ 2-3 อย่าง โดยที่คุณสามารถคิด ดัดแปลง ประยุกต์เพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสภาพบ้านหรืองานของตัวคุณเองได้

2.ให้เปลี่ยนวิธีที่ทำไปเรื่อย ๆ อย่าทำวิธีซ้ำๆ จนกลายเป็นความเคยชิน

3. ทำให้ง่าย ให้เข้ากับชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้ไม่เกิดความเครียด เพราะความเครียดมีผลให้เซลล์ประสาทฝ่อ แทนที่จะแข็งแรงขึ้น

ตัวอย่างการทำ neurobic exercises

สิ่งที่สามารถทำได้ที่บ้าน
      - อาหารเช้า ก่อนกินให้ลองดมกลิ่นดูด้วย (ไม่ใช่พออาหารมาถึงก็กินรวดเดียวหมด) ถ้ากินชาหรือกาแฟ อาจจะลองเปลี่ยนกลิ่นหรือรสไปเรื่อยๆ ไม่ให้ซ้ำกัน การทำเช่นนี้จะทำให้เราได้สัมผัสถึงรสชาติ กลิ่น รูปลักษณ์ของอาหารแต่ละชนิดอย่างละเอียด เป็นการใช้ประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น
     - อาบน้ำ ให้ใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ มากขึ้น เช่น อาจจะหลับตาอาบน้ำเพื่อฝึกใช้ประสาทสัมผัสทางกายแทนการมอง ดมกลิ่นสบู่หรือแชมพูที่ใช้ และร้องเพลงหรือเปิดเพลงฟังไปด้วย
     - แปรงฟัน ด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เพราะโดยทั่วไปสมองที่ควบคุมมือขวาจะเป็นสมองด้านซ้าย ส่วนมือซ้ายควบคุมโดยสมองด้านขวา ดังนั้นให้ลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัดดูบ้าง เพื่อจะได้ฝึกใช้สมองทั้งสองข้าง
    - สับเปลี่ยนการทำกิจวัตรประจำวันอย่าทำอะไรเหมือนเดิม เช่น จากที่เคย ตื่นนอน ? แปรงฟัน ? อาบน้ำ ? กินข้าว ก็อาจเปลี่ยนเป็น ตื่นนอน ? แปรงฟัน ? กินข้าว ? อาบน้ำ เป็นต้น
    - หลับตาเดินในบ้าน หรือลองหลับตาหาของบนโต๊ะ
    - เปิดเพลงที่ชอบในบรรยากาศที่มีกลิ่มหอม เช่น อาจจะจุดตะเกียงน้ำมันหอมระเหย เพราะโดยปกติแล้วเรามักจะไม่ค่อยใช้ประสาทสัมผัสในการฟังพร้อมกับการดมกลิ่น การทำสองอย่างนี้พร้อมกันบ่อยๆ จะช่วยสร้างการเชื่อมโยงระหว่างประสาทสองระบบนี้

สิ่งที่สามารถทำได้ที่ทำงาน
     - หลับตาหาของบนโต๊ะทำงานแทนการมอง
     - จัดโต๊ะใหม่เป็นพักๆ จัดที่วางของใหม่ หมุนทิศทางของโต๊ะทำงานไม่ให้เหมือนเดิม เปลี่ยนที่วางถังขยะใหม่ เพื่อกระตุ้นสมองจดจำตำแหน่งใหม่ๆ
     - ขับรถกลับบ้านด้วยเส้นทางใหม่ๆ ไม่กลับทางเดิม
     - ลองประชุมนอกสถานที่ดูบ้าง เปลี่ยนจากการประชุมในห้องทำงาน หรือการประชุมด้วยรูปแบบเดิมๆ การออกไปประชุมนอกสถานที่ดูบ้าง เช่น อาจจะไปนั่งประชุมในสวน
    - เปลี่ยนตำแหน่งการนั่งประชุม โดยไม่ให้แต่ละคนนั่งที่เดิม
    - เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในการทำงาน เช่น เปลี่ยนจากการใช้ windows XP มาใช้ mac os หรือ window 7 หากใช้ Microsoft Office Word 2003 อยู่ก็เปลี่ยนมาใช้เวอร์ชั่น 2007 ถ้าใช้ internet explorer ก็ลองเปลี่ยนมาใช้ google chrome หรือ firefox ดูบ้าง แล้วจะพบว่าการใช้โปรแกรมใหม่ๆ เป็นสุดยอดแห่งการเรียนรู้และการกระตุ้นสมองอย่างหนึ่ง
   - ใช้กลิ่น เช่น น้ำมันหอมระเหยระหว่างการทำงาน

สิ่งที่สามารถทำได้ในเวลาว่าง
   - ไปออกกำลังกายในสถานที่ใหม่ๆ เช่น หากปกติไปวิ่งอยู่แล้วก็ลองไปวิ่งในสวนสาธารณะใหม่ๆ ดูบ้าง หรือเปลี่ยนเส้นทางการวิ่งไม่ให้ซ้ำเดิม
   - ทำอาหารใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ หรือถ้าไม่เคยทำอาหารเลยก็ให้ลองทำดูบ้าง
   - เล่นเกมส์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเล่น เช่น เล่นหมากรุก ครอสเวิร์ด ซูโดกุ หมากล้อม หรือไพ่ โดยสลับสับเปลี่ยนการเล่นไปเรื่อยๆ
   - ไปท่องเที่ยวในสถานที่ไม่เคยไปมาก่อน เพราะการเดินทางไปในสถานที่ใหม่ๆ จะทำให้ได้เจอคนใหม่ๆ รวมถึงการได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้สมองได้คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหามากขึ้น
   - อ่านหนังสือประเภทที่ไม่เคยอ่านมาก่อน หรือเลือกอ่านหนังสือและนิตยสารที่แตกต่างจากที่เคยอ่านอย่างชัดเจนดูบ้าง
   - ทำงานอดิเรกใหม่ เช่น เล่นกีฬา งานฝีมือ เย็บปักถักร้อย รวมถึงการพบปะสังสรรค์ การเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมในครอบครัว เป็นสมาชิกชมรม หรือเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ จะทำให้สมองได้แก้ปัญหาและมีการสื่อสารระหว่างเซลล์สมองมากขึ้น 

          จะ เห็นว่าการออกกำลังสมองแบบ neurobic exercises เป็นอะไรที่ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก และไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเสียเวลาเพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมง รวมถึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันปกติได้ โดยมีหลักการง่ายๆ คือ ลองใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ให้ทั่วถึง หลีกเลี่ยงการทำอะไรจนเป็นกิจวัตรประจำวัน เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้สมองแข็งแรง และสร้างความสนุกให้กับชีวิตได้
ขอให้ทุกท่านสนุกสนานกับการออกกำลังสมอง เพื่อสมองจะได้แข็งแรงคู่กับร่างกายที่ฟิตแอนด์เฟิร์มไงครับ

1 comment:

  1. ฉลองครบรอบมีบทความเกิน 24 เรื่อง
    เลยเอามาทยอยลงใส่ blog ดีกว่า

    ReplyDelete