Wednesday, October 24, 2012


บทความพิเศษ
ผลของสื่อต่อความรุนแรงในเด็กและวัยรุ่น
(Media and Violence)
ธรรมนาถ เจริญบุญ*
                                                                                                                                                                          ติรยา เลิศหัตถศิลป์*
*โครงการจัดตั้งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“I object to violence because when it appears to do good,
 the good is only temporary; the evil it does is permanent.”
(คานที, 1916)

(จาก Thammanard CharernboonLerthattasilp T. Media and violence. In: Buranatrevedh S, Tomtichong P eds. From the best practice to patient education. Pathumthani: Thammasat Printing House, 2012: 17-23. (in Thai) เอกสารจากการประชุมวิชาการฯ ปี 2555)


ในปัจจุบันสื่อ(media)เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อประเภทภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอเกมส์และอินเตอร์เน็ต ที่มีอัตราการเติบโตเป็นอย่างมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา นอกจากการเติบโตในแง่ของจำนวนของสื่อแล้ว ยังพบว่าชั่วโมงการใช้สื่อเหล่านี้ก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จากการศึกษาพบว่า ในประเทศอุตสาหกรรม เด็กอายุ 5-15 ปีมากกว่าร้อยละ 90 ดูโทรทัศน์ โดยข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง ในขณะที่ในยุโรป (ประเทศสเปน) ประชาชนดูโทรทัศน์โดยเฉลี่ยประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน1  
ในจำนวนสื่อได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น สื่อจำนวนมากเป็นสื่อที่มีความรุนแรงสูง จากการศึกษาพบว่า 61% ของรายการโทรทัศน์ในอเมริกามีความรุนแรงเป็นส่วนประกอบ โดยเด็กอายุ10-15 ปี จำนวน 38% เคยดูฉากที่มีความรุนแรงจากอินเตอร์เน็ท แม้แต่วีดีโอเกมที่ได้รับการจัดเรทติ้งว่าเหมาะสมกับเด็กอายุมากกว่า 10 ปี กว่า 90%ก็มีฉากความรุนแรง นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าจนถึงวันที่เด็กมีอายุครบ 18ปีนั้น เด็กได้มีประสบการณ์ดูฉากที่มีความรุนแรงกว่า 200,000 ฉากแล้ว2  แพทยสมาคม และสมาคมจิตแพทย์ของอเมริกาได้ตระหนักถึงผลเสียของความรุนแรงในสื่อที่มีผลต่อเด็กและวัยรุ่น ส่งผลให้มีการทำการศึกษาวิจัยวิจัยออกมาเป็นจำนวนมากใน 50 ปีที่ผ่านมา บทความนี้ได้รวบรวมงานวิจัยและหลักฐานทางวิชาการต่างๆ เพื่ออธิบายถึงผลกระทบของสื่อต่อเด็กและวัยรุ่นรวมและพฤติกรรมรุนแรง รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขและป้องกัน

ผลกระทบของสื่อต่อเด็กและวัยรุ่น
ในด้านดี การใช้สื่อที่มีคุณภาพนั้นมีประโยชน์กับการพัฒนาของเด็ก จากการศึกษาพบว่าเด็กที่ดูรายการสารคดีหรือรายการที่ให้ความรู้ในช่วงวัยเด็ก จะมีผลการเรียนดีกว่า อ่านหนังสือมากกว่า และมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า รวมทั้งก้าวร้าวน้อยกว่าเด็กที่ดูรายการโทรทัศน์ทั่วไปเมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่น
ส่วนผลทางลบนั้น  ในเด็กเล็กพบว่าการดูโทรทัศน์เป็นเวลานานส่งผลให้มีปัญหาการนอน หลับไม่สนิท หลับไม่เป็นเวลา และยังส่งผลระยะยาวถึงความสามารถในการอ่าน และคิดคำนวนที่น้อยกว่าเด็กทั่วไปเมื่อโตขึ้นด้วย บางงานวิจัยรายงานว่าการดูโทรทัศน์มากทำให้เด็กมีสมาธิสั้นลง แต่ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนในประเด็นนี้3
ในเด็กที่โตขึ้น พบว่าการดูโทรทัศน์ส่งผลทางอ้อมให้น้ำหนักเด็กเพิ่มขึ้น จากการทดลองพบว่าเมื่อให้เด็กดูโทรทัศน์น้อยลง ค่าBMI (body mass index) ของเด็กก็ลดลงด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่สัมผัสสื่อ (รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เพลง นิตยสาร) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทางเพศมาก มีแนวโน้มจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นกว่าเด็กทั่วไป และยังพบว่าวัยรุ่นที่ดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ4 ชั่วโมง จะสูบบุหรี่มากกว่าเด็กวัยรุ่นที่ดูโทรทัศน์น้อยกว่าวันละ2 ชั่วโมงถึง 5 เท่า3
นอกจากนั้น การดูสื่อที่รุนแรงยังสามารถส่งผลให้เกิดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า Posttraumatic stress disorder ปัญหาการนอน ฝันร้าย และ การแยกตัวในเด็กและวัยรุ่นได้ด้วย2

สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ก่อให้เกิดความรุนแรงได้จริงหรือ ?


นิยาม4
ความรุนแรง (Violence) หมายถึง “การกระทำที่แสดงออกมา อันก่อให้เกิดความบาดเจ็บต่อร่างกาย จิตใจหรือวัตถุ” ดังนั้นตัวอย่างของความรุนแรง ได้แก่ การทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกาย รวมทั้งการใช้คำพูดที่รุนแรง เป็นต้น
สื่อที่มีความรุนแรง (Violent media) หมายถึง “สื่อที่มีการแสดงความก้าวร้าวรุนแรง หรือทำอันตรายแก่บุคคลอื่น โดยที่ผู้แสดงความรุนแรงนั้นอาจจะเป็นมนุษย์ หรือไม่ใช่ก็ได้ เช่น อาจเป็นตัวการ์ตูน หุ่นยนต์ เป็นต้น”

ก่อนหน้านี้ได้มีทฤษฏีที่อธิบายว่าการดูสื่อที่รุนแรงนั้น เป็นวิธีที่จะปลดปล่อยและระบายความก้าวร้าวของบุคคลออกมาในทางที่ปลอดภัย(คือไม่ไปทำในชีวิตจริง) แต่ในเวลานี้สามารถตอบได้แล้วว่าทฤษฎีนี้ไม่เป็นความจริง จากการทบทวนวรรณกรรมได้ข้อสรุปว่า การได้รับสื่อที่มีความรุนแรงซ้ำ ๆ ในเด็กและวัยรุ่น มีผลเพิ่มพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าวได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยความสัมพันธ์ของการสัมผัสสื่อที่รุนแรงแล้วเกิดพฤติกรรมรุนแรงตามมานั้นเทียบเท่ากับโอกาสเกิดมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่2
แต่เนื่องจากความจำกัดในเรื่องของเนื้อที่ในการเขียน ผู้เขียนจึงไม่สามารถแสดงผลการศึกษาได้ทุกชิ้น จึงขอยกเพียงบางการศึกษาที่น่าสนใจควบคู่ไปกับผลการศึกษาแบบ Meta-analysis ที่เกี่ยวกับความรุนแรง โดยจะทำการแบ่งชนิดของการศึกษาเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ การศึกษาในลักษณะของการทดลอง และการศึกษาแบบสำรวจ

ตัวอย่างการศึกษาในลักษณะการทดลอง (Randomized experiments)
               การศึกษาของ Josephson (1987)5 ได้ทำการทดลองในเด็กผู้ชาย 396 คน อายุ 7-9 ปี โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ดูภาพยนตร์ที่มีความรุนแรงก่อนการเล่นฮอคกี้ ส่วนอีกกลุ่มให้ดูภาพยนตร์ที่ไม่มีความรุนแรง จากนั้นจึงให้เด็กทั้งสองกลุ่มเล่นฮอคกี้ด้วยกัน โดยจะมีผู้สังเกตเป็นผู้ให้คะแนน (ซึ่งไม่รู้ว่าเด็กคนไหนมาจากกลุ่มไหน) โดยจะทำการจดบันทึกจำนวนครั้งที่เด็กแต่ละคนทำความรุนแรงในระหว่างเกมส์  โดยความรุนแรงที่จะถูกบันทึกคะแนน ได้แก่ การตบ ต่อย ศอก เข่า ดึงผม กระแทกให้ล้ม และอื่น ๆ (ที่ผิดกติกาในการเล่นฮอคกี้) ผลการศึกษาพบว่าเด็กกลุ่มที่ได้ดูภาพยนตร์ที่มีความรุนแรงจะได้คะแนนความรุนแรงสูงกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าการดูภาพยนตร์ที่มีความรุนแรงมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมทำร้ายร่างกาย โดยมี effect size ในระดับปานกลาง ( r= .25, p< .05)
               โดยจากการทดลองหลายการศึกษา นอกจากจะพบว่าการได้รับสื่อที่มีความรุนแรงสามารถเพิ่มความก้าวร้าว (aggression) ได้ ยังพบว่าสื่อเหล่านี้ยังเพิ่มความชาชิน (tolerance) อีกด้วย โดย Malamuth (1981)6 ได้ทำการทดลองในนักศึกษา 271 คน โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะได้ดูภาพยนตร์ที่มีความรุนแรงทางเพศ (Violent sexual films โดยมีสองเรื่องได้แก่ Swept Away หรือ The Gateway) ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้ดูภาพยนตร์ที่ไม่มีความรุนแรง (เรื่อง A man and a Women หรือ Hooper) โดยหลังจากชมภาพยนตร์ 3-7 วัน จึงให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบประเมินเรื่องการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง (Acceptance of interpersonal violence against women) ซึ่งผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างผู้ชายที่ดูภาพยนตร์ที่มีความรุนแรงจะยอมรับการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงได้มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังมีระดับความเชื่อผิด ๆ ต่อการข่มขืนมากกว่ากลุ่มควบคุมแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
               บทสรุปจาก Meta-analysis ในการศึกษาแบบ randomized experiments ของ Paik and Comstock (1994)6 ที่ทำการวิเคราะห์จากการศึกษา 217 ชิ้นพบว่า สื่อที่มีความรุนแรงมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมรุนแรง โดยมีค่า effect size ในระดับปานกลาง ( r=.38) จึงทำให้สามารถสรุปได้ว่า การได้รับสื่อภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ที่มีความรุนแรง สามารถทำให้เด็กและวัยรุ่นมีความคิด อารมณ์และพฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้  

ตัวอย่างการศึกษาในรูปแบบการสำรวจ (Survey)
การศึกษาแบบ Cross-sectional surveys         
การศึกษาของ McLeod, Atkin, and Chaffee (1972)7 พบความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมก้าวร้าว (เช่น การทะเลาะ การทำร้ายร่างกาย) กับการดูโทรทัศน์ที่มีความรุนแรง ในเด็กระดับมัธยม โดยความสัมพันธ์มีนัยสำคัญทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยมีระดับความสัมพันธ์ (correlations) อยู่ระหว่าง ( r=.17-.28)
               Meta-analysis ใน cross-sectional surveys ของ Pail and Comstock’s (1994)4 พบว่าสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่มีความรุนแรงมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง (r=.19) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ยิ่งดูสื่อที่มีความรุนแรงบ่อยเท่าไหร่ยิ่งพบพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าวได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบอีกว่าระดับความสัมพันธ์ในเด็กประถมจะสูงกว่าในวัยรุ่นระดับมัธยม
การศึกษาแบบ Longitudinal surveys
การศึกษาของ Eron (1972)8 ได้ทำการศึกษาในเด็กอายุ 8 ปีจำนวน 856 คนในนิวยอร์ค โดยได้ทำการศึกษาติดตามไปสิบปี พบว่า เด็กผู้ชายที่ได้ดูสื่อที่มีความรุนแรงตอนอายุ 8 ขวบ จะมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในอีกสิบปีถัดมา (r = .31, p= 0.01) โดยพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในการศึกษานี้ได้แก่ทั้งด้านวาจาและการทำร้ายร่างกาย โดยจากการศึกษานี้สรุปได้ว่า การได้รับสื่อที่มีความรุนแรงในวัยเด็ก สามารถที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในช่วงวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ตอนต้นได้
               Meta-analysis ใน longitudinal surveys โดย Anderson and Bushman (2002)4 ได้ทำการทบทวนการศึกษา 42 ชิ้นพบว่า สื่อที่รุนแรงมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมรุนแรงในระยะยาว ด้วย effect size ระดับปานกลาง (r=.17) จากผลการศึกษาแบบ longitudinal สรุปได้ว่า การได้รับสื่อที่มีความรุนแรงมาก ๆ ในวัยเด็ก สามารถก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงได้ในระยะยาว

สื่อภาพยนตร์ก่อให้เกิดความรุนแรงได้อย่างไร ?2, 3, 4, 9

1. พฤติกรรมเลียนแบบ (Modeling/Imitation) เป็นที่ทราบกันว่าการเลียนแบบเป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ แต่เพราะอะไรเราถึงเกิดการเลียนแบบขึ้น
1.1เลียนแบบเพราะยังไม่สามารถแยกแยะได้ ในเด็กอายุน้อยนั้นยังไม่สามารถแยกโลกในความจริงออกจากจินตนาการได้ การกระทำของเด็กส่วนใหญ่จึงมักจะเกิดจากการเลียนแบบและทำตามสิ่งที่พบเห็นแทบทั้งสิ้น รวมทั้งจากสื่อต่างๆ มีการศึกษาพบว่าแม้แต่เด็กอายุ 1 ปี ที่เปิดโทรทัศน์ให้ดู ก็มีพฤติกรรมตอบสนองกับตัวละครในโทรทัศน์เหมือนกับที่ตอบสนองกับคนจริงๆ2,3
1.2 เลียนแบบเพราะ mirror neuron นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมเลียนแบบนี้เกิดจากเซลล์สมองที่เรียกว่า mirror neuron ซึ่งอยู่ในสมองส่วน inferior prefrontal cortexและ inferior parietal cortex ของมนุษย์เรา เซลล์สมอง mirror neuronนี้เป็นตัวที่ทำให้มนุษย์ทำพฤติกรรมเลียนแบบผู้อื่น โดยเมื่อเรามองคนอื่นหรือภาพยนตร์ทำสิ่งใด mirror neuronของเราก็จะทำงานในแบบเดียวกับที่สมองของคนนั้นทำงานด้วย เช่น เรามองคนเตะกระป๋อง สมองของเราก็ทำงานเสมือนเราเตะกระป๋องนั้นเองด้วย เรามองคนร้องไห้ สมองเราก็จะทำงานเหมือนเรากำลังร้องไห้ ซึ่งจะส่งผลไปกระตุ้นอารมณ์เศร้าของเราตามมา ในแง่ดีนั้นmirror neuronก็ช่วยให้เราสามารถเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น(empathy)เพราะสมองเราก็ทำงานเสมือนมันเกิดขึ้นกับเราเองด้วย แต่ในแง่ของการเกิดความรุนแรงแล้ว การที่เราดูฉากรุนแรงซ้ำ สมองเราก็ทำงานเสมือนเราทำความรุนแรงนั้นซ้ำๆ เช่นกัน  ในการศึกษาพบว่าเมื่อเด็กดูรายการโทรทัศน์ที่มีความรุนแรง mirror neuronในสมองของเด็กคนนั้นจะถูกกระตุ้นให้ทำงาน และเด็กจะมีพฤติกรรมไปในเชิงก้าวร้าวรุนแรงขึ้นหลังจากดูรายการนั้นด้วย3

2. สร้างความหมายใหม่ของความรุนแรง (Observational learning)
Observational learning เป็นทฤษฏีที่อธิบายในเรื่องของผลระยะยาวจากความรุนแรงในสื่อ ซึ่งโดยพัฒนาการตามปกตินั้น เด็กจะสร้างมุมมอง ความคิดรวบยอดของตัวเอง จากข้อมูลที่ผ่านเข้ามาและสิ่งที่ได้พบเห็น เมื่อเด็กและวัยรุ่นใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับสื่อมาก ซึ่งในบางคนอาจใช้เวลากับโทรทัศน์ เกม และอินเตอร์เน็ทมากกว่าเวลาที่ใช้กับผู้ปกครองหรือโรงเรียนด้วยซ้ำ สื่อจึงเป็นแหล่งข้อมูลหลักที่เด็กจะเรียนรู้โลก รู้จักสังคม รวมถึงเรียนรู้ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร แทนการเรียนรู้จากพ่อแม่และครู  เกิดเป็นการรับรู้ความรุนแรงในความหมายใหม่ ตัวอย่างของการสร้างความหมายใหม่ที่พบได้บ่อย ได้แก่
·       การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ (acceptance of violence) และเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือเป็นทางออกที่เหมาะสม เมื่อลองมองถึงภาพยนตร์กลุ่มฮีโร่ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Batman, Hulk, Spiderman, James Bond และอื่น ๆ จะเห็นว่าตัวเอกจะเป็นฮีโร่ และได้รับการยกย่องจากการปราบเหล่าร้าย มากกว่าจะถูกลงโทษ ซึ่งแท้จริงแล้ว สิ่งที่ตัวเอกเหล่านี้ทำก็คือความรุนแรง ทำร้ายคน (แม้จะเป็นคนร้าย) ทำลายข้าวของ เช่นกัน
·       หากเหยื่อเป็นคนเลว การลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการแก้แค้นเป็นสิ่งที่น่าเชิดชู (Justified mean) ภาพยนตร์หลายเรื่องสร้างขึ้นโดยคล้ายกับจะยึดแนวคิดนี้เป็นโครงเรื่อง ทั้งที่ในความเป็นจริง เราต่างก็ทราบกันว่า ไม่ควรใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เราไม่จำเป็นต้องถือมีด หรือควงปืนเดินไปมาเพื่อลงโทษคนเลวเหมือนในภาพยนตร์
·       การกระทำรุนแรงต่อเพศหญิงเป็นเรื่องที่ทำได้ ตัวอย่างที่ดีในประเด็นนี้ คือการที่ละครไทยหลายเรื่องมีฉากพระเอกข่มขืนนางเอก และกลายเป็นคู่รักกันในภายหลัง โดยที่นางเอกก็ไม่ได้คิดแม้แต่จะแจ้งความด้วยซ้ำ

3. ความชาชินที่มากขึ้น (Desensitization/Tolerance)
Desensitization ในที่นี้หมายถึง การที่เรามีความตึงเครียด (หรือความรู้สึกไม่ดี) ลดลงจากการดูสื่อที่มีความรุนแรง หรือหากเรียกง่าย ๆ ก็คือ ”ชิน” มากขึ้น ส่งผลให้เมื่อเราดูสื่อที่มีความรุนแรงนาน ๆ เราจะมีการตอบสนองต่อความรุนแรงลดลงเมื่อเทียบกับตอนแรก  และเมื่อเรามีความ “ชิน” เกิดขึ้น ก็จะมีผลทำให้เรา “เฉย ๆ “ ต่อการพบเห็นหรือกระทำความรุนแรง
นอกจากนี้ความเคยชินยังมีผลทำให้เรามี “ความเห็นอกเห็นใจ” ต่อเหยื่อน้อยลง เช่น บางคนอาจมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้หญิงที่ถูกคนรักทำร้ายน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อดูละครที่มีฉากลักษณะนี้บ่อย ๆ

4. การเพิ่มความรู้สึกตื่นตัวและความยับยั้งชั่งใจลดลง (Arousal/Disinhibition)
               สื่อที่มีความรุนแรงมักจะกระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัวหรือเร้าใจสำหรับเด็กและวัยรุ่นเกือบทุกคน โดยทางสรีระแล้วอาจแสดงออกให้เห็นได้จาก อัตราการเต้นหัวใจที่เพิ่มขึ้น การหายใจเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นต้น ในภาวะที่มีการตื่นตัวสูง จะมีผลให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงหรือกำลังมากกว่าปกติ ขณะเดียวกันหลายการศึกษาก็พบว่าสื่อที่มีความรุนแรงยังมีผลให้สมองส่วน Prefrontal cortex ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความยับยั้งชั่งใจทำงานลดลง ซึ่งส่งผลให้มนุษย์สามารถทำความรุนแรงได้ง่ายขึ้นกว่าในภาวะปกติ 

5. การกระตุ้นรูปแบบความคิดเกี่ยวกับความรุนแรง (Priming and automatization of aggressive schematic processing)
            ในปัจจุบัน neuroscientist และ cognitive psychologist พบว่าการทำงานของจิตใจมนุษย์จะมีลักษณะเป็นแบบเครือข่าย โดยมนุษย์จะมีรูปแบบการคิด (schema) บางอย่างเก็บไว้ในความจำซึ่งสามารถถูกกระตุ้นได้โดยสิ่งกระตุ้นบางอย่าง โดยที่คน ๆ นั้นอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ ส่งผลให้สิ่งกระตุ้นบางอย่างอาจจะถูกตีความและกระตุ้นรูปแบบความคิดเกี่ยวกับความรุนแรงออกมาได้ทั้ง ๆ ที่ตัวสิ่งกระตุ้นนั้นก็เป็นเพียงสิ่งของ หรือสถานที่ทั่ว ๆ ไป ตัวอย่างเช่น บางคนเพียงแค่เห็นภาพอาวุธปืน ก็อาจกระตุ้นให้เกิดความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้นมาได้ เป็นต้น



ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อความรุนแรงกับสื่อ2, 4
อายุ      การศึกษาพบว่าอายุมีความสัมพันธ์เชิงลบกับผลของสื่อที่มีต่อกับความรุนแรง กล่าวคือยิ่งเด็กมีอายุน้อยการสัมผัสสื่อที่มีความรุนแรงจะยิ่งมีผลกับเด็กมาก (มีผลมากที่สุดในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี) แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะได้รับผลกระทบจากสื่อน้อยลง
เพศ        ในเรื่องของเพศกลับไม่พบว่าสื่อที่รุนแรงส่งผลถึงการเกิดความรุนแรงที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างเพศชายและเพศหญิง
ไอคิว(IQ) จากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าระดับของไอคิว (IQ) ไม่มีความสัมพันธ์กับเรื่องผลของความรุนแรงจากสื่ออย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่าถึงแม้เด็กจะฉลาดก็ยังอาจได้รับผลกระทบจากสื่อที่รุนแรงเช่นกัน
ลักษณะของสื่อ     1.พบว่าสื่อที่มีลักษณะให้ความยุติธรรม (Justification) คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เช่น คนร้ายเมื่อก่อคดีสุดท้ายก็ถูกจับ สื่อลักษณะนี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงน้อยกว่าสื่อที่มีลักษณะคนที่ทำชั่วแต่ได้ดี หรือตัวละครมีความสุขกับการทำพฤติกรรมรุนแรงนั้น
                              2.สื่อที่แสดงให้เห็นผลที่ตามมาของความรุนแรง (Consequences of the aggression) มีผลทำให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงที่น้อยกว่าสื่อที่ไม่แสดงให้เห็นผลที่ตามมา เช่น การศึกษาของ Malamuth พบว่าเมื่อให้กลุ่มตัวอย่างดูวิดีโอที่มีฉากข่มขืน โดยกลุ่มหนึ่งจะได้เห็นว่า ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมีความทุกข์ทรมาน และถูกเหยียดหยามอย่างไร กลุ่มนี้ต่อมาจะไม่ยอมรับพฤติกรรมข่มขืน แต่อีกกลุ่มที่ได้เห็นว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ไม่ได้เจ็บปวดอะไรและเหมือนจะมีความพอใจกับการมีเพศสัมพันธ์ จะยอมรับพฤติกรรมข่มขืนได้มากขึ้น
                              3.สื่อยิ่งมีความเหมือนจริงและบรรยายรายละเอียดของการกระทำมากเท่าไหร่มากเท่าไหร่ ความรุนแรงจะยิ่งถูกซึมซับและยอมรับได้มากขึ้น
4. ยิ่งผู้ชมสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ(interactive) ได้มากเท่าไหร่ ผลของความรุนแรงที่ตามมา
จะยิ่งมากขึ้น  จากการศึกษาเปรียบเด็กที่เล่นวีดีโอเกม(interactive) กับเด็กที่ดูภาพยนตร์(passive)ที่มีความรุนแรงระดับเดียวกัน พบว่าเด็กที่เล่นวีดีโอเกมได้รับผลกระทบมากกว่า
อิทธิพลของผู้ปกครอง        พบว่าหากผู้ปกครองนั่งชมไปด้วยพร้อมกับบุตร และมีการพูดคุยถึงความไม่เหมาะสมของความรุนแรงในสื่อจะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวลงได้ รวมทั้งการจำกัดการเข้าถึงสื่อที่มีความรุนแรงก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
              
แนวทางแก้ไข 2, 3, 4
               แนวทางแก้ไขที่จากการศึกษาทบทวนพบว่า น่าจะได้ผลในการลดความรุนแรงที่เกิดจากสื่อดังนี้
สำหรับผู้ปกครอง
1.เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์ แต่ควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนมากกว่า
2. เด็กโตไม่ควรให้ดูโทรทัศน์ เกินวันละ 2 ชั่วโมง และควรดูเฉพาะรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพเท่านั้น
3. ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมอื่นๆแทน เช่น เล่นกีฬา งานอดิเรก อ่านหนังสืออ่านเล่น
4. ไม่ควรให้มีสื่อต่างๆไว้ในห้องนอน เพราะส่งผลให้เพิ่มเวลาการใช้สื่อมากขึ้น ให้วางไว้เป็นส่วนกลาง และเป็นกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว
5.ไม่เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ทั้งวัน และไม่เปิดโทรทัศน์ขณะทานอาหาร
6.ดูโทรทัศน์และใช้โปรแกรมต่างๆร่วมกับเด็ก ถือเป็นโอกาสในการเข้าถึงความคิดของเด็ก และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สอนว่าพฤติกรรมใดไม่เหมาะสมและพฤติกรรมใดที่ควรทำ
7.ติดโปรแกรมคัดกรองสื่อในคอมพิวเตอร์ เลือกเกมส์ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับอายุเด็ก
8.มีกฏในการใช้สื่อที่ชัดเจน และปฏิบัติตามนั้นอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดการใช้สื่อที่มากเกินไปได้
9.เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกในการใช้สื่อต่างๆ
สำหรับแพทย์
1.ให้ความรู้ผู้ปกครองตามคำแนะนำข้างต้น  เน้นการจำกัดการใช้สื่อในเด็กให้เหมาะสม และการเป็นแบบอย่างที่ดี
2.สนับสนุนการผลิตสื่อที่เหมาะสมกับเด็ก เช่น ไม่สร้างให้ผู้ที่ทำความรุนแรงได้รับการชื่นชม ส่งเสริมการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เหมาะสมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ในเกมไม่ควรมีการทำร้ายสิ่งมีชีวิต เป็นต้น
3. สนับสนุนให้ภาครัฐมีการจัดเรทติ้งสื่อที่สมเหตุสมผล มีการจำกัดการเข้าถึงสื่อให้เหมาะสมกับอายุเด็ก
สำหรับโรงเรียน
1.สอนให้เด็กและผู้ปกครองทราบถึงผลกระทบของสื่อที่มีต่อตัวเอง
2.สอนให้เด็กรู้จักพิจารณาเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม ในแง่เป็นการป้องกันตัวเองด้านสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมรุนแรงในเด็กลงได้
3.เลือกสื่อในการเรียนการสอนที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง
1.         Sartorius N, Gaebel W. Lopez-Ibor JJ, Maj M. Psychiatry in Society. 1st ed. Chichester: John Wiley & Sons Ltd. 2002.
2.        From the American Academy of Pediatrics: Policy statement--Media violence. Pediatrics. 2009 Nov;124(5):1495–503.
3.         Brooks J. THE PROCESS OF PARENTING. 7THed. New York: The McGraw-Hill Companies; 2008
4.         Anderson CA, Berkowitz L, Donnerstein E, Huesmann LR, Johnson JD, Linz D, et.al. The influence of media violence on youth. Psychological science in the public interest. 2003; 4: 81-110.
5.         Josephson WL. Television violence and children’s aggression: Testing the priming, social script, and disinhibition predictions. Journal of Personality and Social Psychology. 1987; 53: 882–890.
6.         Malamuth NM and Check JVP. The effects of mass media exposure on acceptance of violence against women: A field experiment. Journal of Research in Personality. 1981; 15: 436-446.
7.         McLeod JM, Atkin CK, Chaffee SH. Adolescents, parents, and television use: Adolescent self-report measures from Maryland and Wisconsin samples. In G.A. Comstock & E.A. Rubinstein (Eds.), Television and social behavior: A technical report to the Surgeon General’s Scientific
Advisory Committee on Television and Social Behavior: Vol. 3. Television and adolescent aggressiveness (DHEW Publication No. HSM 72-9058, pp. 173–238). Washington, DC, 1972: U.S. Government Printing Office
8.         Eron LD, Huesmann LR, Lefkowitz MM, Walder LO. Does television violence cause aggression? American Psychologist. 1972; 27: 253–263.
9.          Sadock BJ, Sadock VA. Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry. 10th ed. Philadelphia: Wolter Kluwer/Lippincott Williams & Wilkins; 2007

Thursday, September 27, 2012

โรคแพนิค: Panic Disorder


โรคแพนิค : Panic disorder


นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ

     โรคแพนิค หรือ panic disorder จัดเป็นภาวะทางจิตเวชที่พบได้บ่อยเป็นลำดับต้นๆ ในคลินิกจิตเวชเกือบทุกโรงพยาบาลทีเดียว !!!

     แต่ปัญหาโลกแตกอย่างหนึ่งสำหรับโรคแพนิคก็คือ มันไม่มีชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการ :( จึงมีการเรียกชื่อไปหลายๆ แบบ เช่น “โรคตื่นตระหนก” “โรคหัวใจอ่อน” “โรคประสาท(ลง)หัวใจ” “โรคใจบ่ดี (ภาษาเหนือ)” เป็นต้น ทำให้เวลาที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยหรือคนทั่วไปฟังจึงไม่รู้ว่าจะใช้ชื่อว่าโรคอะไร ในที่นี้ผมจึงขอเรียกแบบทับศัพท์ไปว่า “โรคแพนิค” ล่ะกันนะครับ

พบได้บ่อยแค่ไหน
     * พบได้ร้อยละ 2-5 ในประชากรทั่วไป โดยส่วนใหญ่มักจะพบในช่วงวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น
     * พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2.3 เท่า
ยิ่งกังวลยิ่งเป็น
     สิ่งสำคัญที่ควรเข้าใจสำหรับโรคแพนิคคือ โรคแพนิคไม่ใช่โรคหัวใจ ไม่อันตรายถึงตายหรือพิการ อาการที่เป็นก็จะมีเพียงเท่าที่กล่าวมาเท่านั้น ที่ต้องเน้นย้ำตรงนี้เพราะโรคแพนิคนี้ยิ่งผู้ป่วยกังวลว่าจะเป็น (หรือกังวลว่าจะตาย จะเป็นโรคหัวใจ จะช็อคหรือเปล่า ฯลฯ) ก็จะยิ่งเป็นบ่อยขึ้น พูดง่ายๆ คือยิ่งกังวล (เกี่ยวกับโรค) มากเท่าไรก็ยิ่งเป็นบ่อยขึ้นเท่านั้น


สาเหตุ

     โรคแพนิคเป็นผลจากทั้งปัจจัยทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยปัจจัยทางด้านร่างกายพบว่า เกิดจากความผิดปกติของระดับสารสื่อประสาท ได้แก่ norepinephrine และ serotonin ในระบบประสาท รวมทั้งพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของพันธุกรรม ส่วนสาเหตุทางด้านจิตใจมักพบว่า สัมพันธ์กับเรื่องของความวิตกกังวล (anxiety) โดยเฉพาะความวิตกกังวลจากการแยกจากคนสำคัญ (separation anxiety) โดยผู้ป่วยแต่ละรายก็จะให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละปัจจัยแตกต่างกันไป เช่น บางรายอาจจะไม่มีความกังวลใดๆ เลย แต่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นหลายคน ก็อาจจะมีอาการได้ เป็นต้น


ลักษณะอาการ
     ลักษณะอาการของโรคแพนิคคือ ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก รู้สึกหายใจขัด เวียนหัว (หรือรู้สึกว่าหัวเบาๆ) ถ้าอาการมากๆ จะมีเหงื่อแตก มือเย็นเท้าเย็น (หรือชา) ด้วย โดยอาการจะเป็นขึ้นมาแบบทันทีทันใด ชนิดอยู่ดีๆ ก็เป็นขึ้นมา และจะเป็นมากอยู่ประมาณ 10-15 นาที จากนั้นก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และมักจะหายไปในเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ด้วยอาการที่จะเป็นแบบทันทีและรุนแรงนี่เอง ทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนตกใจกลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจ หรือเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ หรือกลัวว่าจะตายได้

      โดยผู้ป่วยจะมีอาการแบบนี้ซ้ำๆ กันหลายครั้ง บางคนอาจเป็น 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนบางคนที่เป็นมากอาจจะเป็นวันละหลายๆ ครั้ง ซึ่งผลจากการที่มีอาการแบบนี้บ่อยๆ จึงทำให้มีผู้ป่วยหลายคนเกิดความกังวลตามมา เช่น กังวลว่าจะมีอาการขึ้นมาอีก หรือกังวลว่าตัวเองเป็นโรคอะไรบางอย่าง

      ปกติ อาการของโรคแพนิคจะสามารถเกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อไรก็ได้ ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจจะเชื่อมโยงอาการกับสถานที่หรือกิจกรรมบางอย่าง ทำให้ไม่กล้าทำกิจกรรมนั้น หรือไปในสถานที่ที่เคยเกิดอาการ ยกตัวอย่างเช่น บางคนไม่กล้าออกไปไหนข้างนอกคนเดียว เพราะเคยมีอาการตอนออกไปนอกบ้าน จึงกลัวว่าหากเป็นอีกจะไม่มีใครช่วย หรือบางคนไม่กล้านั่ง(ขับ)รถ เพราะครั้งแรกที่มีอาการแพนิคเป็นตอนนั่งรถ เป็นต้น

      ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เวลาที่เกิดอาการแพนิคครั้งแรกๆ มักจะไปโรงพยาบาล โดยมากแล้วมักเป็นห้องฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์ก็จะตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ (ซึ่งถูกต้องแล้ว เพราะโรคแพนิคไม่ใช่โรคหัวใจ) แพทย์จึงอาจจะสรุปไปว่าเกิดจากความเครียด กังวล หรือบางทีก็บอกว่าเป็นโรคประสาทหัวใจ หัวใจอ่อน (ซึ่งฟังแล้วงงกว่าเดิมว่าคืออะไร?) ทำให้พบว่ากว่าจะได้มาพบจิตแพทย์ ผู้ป่วยหลายคนเคยไปรักษาที่ห้องฉุกเฉินมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง และไปตรวจทางด้านโรคหัวใจอีกหลายครั้ง จึงไม่แปลกที่ที่โรงพยาบาลของผู้เขียน เกือบร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคแพนิคจะถูกส่งต่อมาจากแผนกโรคหัวใจอีกที ใกล้เคียงกับผลการศึกษาวิจัยหลายๆ ชิ้นที่พบว่า ร้อยละ 40-50 ของผู้ป่วยโรคแพนิคจะเคยไปรับการตรวจรักษาที่แผนกอื่นมาแล้วหลายครั้งทั้งสิ้น (กว่าจะได้มารักษาถูกแผนก)

การตรวจเพิ่มเติม
     โดยทั่วไปแล้วหากมีอาการแบบโรคแพนิคนี้ แพทย์อาจจะให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูว่ามีเรื่องหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ เพราะอาจจะมีอาการคล้ายภาวะแพนิคได้ กับตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid hormone) เนื่องจากโรคไทรอยด์เป็นพิษก็อาจจะแสดงอาการคล้าย ๆ กับโรคแพนิคได้เช่นกัน 


การรักษา
เวลาที่มีอาการ
     เวลาที่มีอาการแพนิค (อาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจขัด และอื่นๆ นั่นแหละครับ) สิ่งแรกที่ควรทำคือนั่งพัก จากนั้นให้หายใจเข้าออกช้าๆ เหมือนเวลานั่งสมาธิ เพราะว่าหากยิ่งหายใจเร็ว (หายใจสั้น แต่ถี่) จะยิ่งทำให้อาการที่เป็นรุนแรงมากขึ้น โดยทั่วไปถ้าสามารถควบคุมการหายใจได้ (หายใจเข้าออกช้าๆ ยาวๆ) ไม่เกิน 15-20 นาที อาการก็มักจะดีขึ้นเอง ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจะให้ยาสำหรับรับประทานเวลาที่มีอาการมาด้วย ก็สามารถกินยาไปด้วยได้
การรักษาโดยการใช้ยา
โดยทั่วไปแล้วยาที่แพทย์ให้จะมี 2 กลุ่มหลักๆ คือ

     * ยาเพื่อลดอาการ
     ยากลุ่มนี้จะรับประทานเพื่อลดอาการขณะที่เป็น โดยมากแพทย์มักจะให้มารับประทานในช่วงระยะแรกๆ ที่มารับการรักษา เนื่องจากยาที่ป้องกันไม่ให้เป็น (ยาข้อถัดไป) ยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ แต่ยาเพื่อลดอาการจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว จึงให้รับประทานในเวลาที่มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจขัด เพื่อช่วยลดอาการเหล่านี้ และทำให้อาการหายไป (หรือพูดง่ายๆ คือยาในกลุ่มนี้ให้รับประทานเฉพาะเวลามีอาการ ถ้าไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องรับประทาน) ยาที่นิยมใช้ในกลุ่มนี้ได้แก่ Alprazolam และ Clonazepam
     * ยาเพื่อป้องกันและรักษา
     ยาในกลุ่มนี้ถือเป็นยาตัวหลักที่ใช้ในการรักษา ยาจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็น ทำให้ความถี่ในการเกิดอาการแพนิคเป็นน้อยลง และอาการไม่รุนแรงมาก จนค่อยๆ หายไป รวมทั้งช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แต่ยาในกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ถึงจะเริ่มเห็นผล ดังนั้นในอาทิตย์แรกๆ จะยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก แพทย์จึงมักให้รับประทานยาเพื่อลดอาการไปด้วย

      ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยารักษาซึมเศร้า (antidepressant) ซึ่งมีหลายตัว เช่น fluoxetine หรือ sertraline เป็นต้น

      โดยทั่วไปแล้ว ยาเพื่อป้องกันนี้แนะนำให้รับประทานอย่างน้อย 8 เดือน แม้ว่าเมื่อรักษาไปสักเดือนสองเดือนผู้ป่วยอาจจะไม่ค่อยมีอาการแล้วก็ตาม แต่ควรรับประทานยาต่อให้ครบ เพราะจากการศึกษาพบว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดยาเร็ว มักมีอาการกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อย

Monday, April 2, 2012

Measures and screening tests for depression in Thailand: A user’s guide


Measures and screening tests for depression in Thailand:
A user’s guide

 
Thammanard Charernboon M.D.

 Charernboon T. Measures and screening tests for depression in Thailand: A user’s guide. Thammasat Med J 2011; 11(4): 667-676

for full text (PDF)/บทความฉบับเต็ม download ได้ที่: http://203.131.209.236/tumedicaljournal/attachments/article/3/667-676.pdf
 
Abstract
Objective: To review the relevant literatures in measures and screening tests for depression in Thailand.
Method: The Ovid, Medline, the Thai research database, the Thai reference database for research and www.google.com were searched for literatures concerning measures and screening tests for depression by using the following keywords: assessment, screening, measurement, inventory, scale, questionnaire, depressive disorder, depression and Thai (in both Thai and English language).
Results: There are at least 17 measures for depression in Thailand. Most of them were translated from English version (12 measures), and five of them were created only in Thai language. There are 14 measures for screening depression, and 4 measures for symptom-severity. Regarding guide for selection a measure, the author presents important issues for consideration which are the goal of the assessment, target group, assessment method and properties of measures (validity and reliability).
Conclusion: At present, there are varieties of depression measures in Thailand, therefore the users should be rigorous in consideration about characteristic of their work and the properties of measures before choosing a measures. After that, the user will be able to choose an appropriate measure.

Keywords: measure, screening test, depression



 ======================================================================
     
    *** เป็นบทความพิเศษ ที่เล่าว่าแบบประเมิน/คัดกรองภาวะซึมเศร้าในประเทศมีทั้งหมดที่ชนิด การจะเลือกใช้แบบประเมินอะไร ควรพิจารณาจากอะไร ? เพื่อที่จะได้เลือกใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมต่อไป ***

 
แบบประเมินและแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าในประเทศไทย:
ข้อควรพิจารณาในการเลือกใช้
ธรรมนาถ เจริญบุญ พบ.

 บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนบทความเกี่ยวกับแบบประเมินภาวะซึมเศร้าในประเทศไทย
วิธีการศึกษา บทความเกี่ยวกับแบบประเมินภาวะซึมเศร้าในประเทศไทยถูกสืบค้นผ่าน Ovid, MEDLINE, ฐานข้อมูลงานวิจัยของประเทศไทย ฐานข้อมูลบรรณานุกรม และ www.google.com ใช้คำสำคัญว่า assessment, screening, measurement, inventory, scale, questionnaire, depressive disorder, depression, Thai และภาษาไทยได้แก่ แบบวัด, แบบประเมิน, แบบคัดกรอง, แบบสอบถาม, ซึมเศร้า
ผลการศึกษา มีเครื่องมือที่ใช้ประเมินภาวะซึมเศร้าในประเทศไทยอย่างน้อย 17 แบบทดสอบ พบว่าส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษจำนวน 12 ฉบับ และเป็นเครื่องที่พัฒนาขึ้นมาเองในประเทศไทยจำนวน 5 ฉบับ โดยเป็นเครื่องมือสำหรับการคัดกรอง 14 ฉบับและสำหรับประเมินความรุนแรงหรือติดตามอาการ 4 ฉบับ ข้อควรพิจารณาในการเลือกใช้แบบทดสอบ ผู้นิพนธ์ได้เสนอประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาได้แก่ เป้าหมายของการประเมิน กลุ่มเป้าหมาย วิธีการประเมิน และคุณสมบัติของเครื่องมือ (validity and reliability)
สรุป ในปัจจุบันแบบประเมินภาวะซึมเศร้าในประเทศไทยมีจำนวนมาก ดังนั้นก่อนจะนำเครื่องวัดเหล่านี้ไปใช้ ผู้ใช้ควรเข้าใจอย่างดีถึงลักษณะของงานที่จะนำไปใช้ และคุณสมบัติของเครื่องมือ เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ผู้ใช้จะสามารถเลือกใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสมได้

คำสำคัญ แบบประเมิน, แบบคัดกรอง, ภาวะซึมเศร้า

 
ตาราง (แบบย่อ) เปรียบเทียบคุณสมบัติเครื่องมือประเมินและคัดกรองภาวะซึมเศร้าฉบับภาษาไทย

 

Measurement
No. of item
Application
Administer
Sensitivity
Specificity
Remark
แบบวัดความเศร้าในผู้สูงอายุ (TGDS) 25374
30
Screening
Self-rating
-
-
ใช้ในผู้สูงอายุ (60-70 ปี)
Thai hospital anxiety and depression (Thai-HADS) 25395
Total =14 (depression subscale = 7)
Screening
Self-rating
85.7%*
91.3%*
*เฉพาะ Depression subscale
Hamilton rating scale for depression (HRSD-17) 25396
17
Symptom-severity
Interview
-
-
*r = -.8239
แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าในเด็ก Children’s Depression Inventory (CDI) 25397
27
Screening
Self-rating
78.7%
91.3%
ใช้ในเด็ก
Thai version of the Beck depression inventory (BDI) 25408
21
Screening,
Symptom-severity
Interview
-
-
-
แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น (Center for Epidemiologic Studies-Depression Scale
CES-D) 2540 อุมาพร ตรังคสมบัติ9
20
Screening
Self-rating
72.0%
85.0%
ใช้ในวัยรุ่น (15-18 ปี)
The Center for Epidemiologic Studies-Depression scale (CES-D) 2540 วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล10
20
Screening
Self-rating
93.3%
94.2%
ใช้ในผู้ใหญ่
Health-Related Self-Reported Scale (HRSR) 254011
20
Screening
Self-rating
90.2%
85.3%
ภาษาไทยเท่านั้น
แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า 254612
15
Screening
Interview
86.8%
79.8%
ภาษาไทยเท่านั้น
Montgomery-Asberg depression rating scale (MADRS) 254613
10
Symptom-severity
Interview
-
-
-
 แบบวัดหาโรคซึมเศร้า (Thai Depression Inventory:
TDI) 254714
20
Symptom-severity
Self-rating
-
-
*r =  0.72
ภาษาไทยเท่านั้น

Thai Edinburgh Postnatal Depression Scale (EPDS) 254815
10
Screening
Self-rating
74.0%
74.0%,
screen for postpartum depression
Postpartum Depression Screening Scale (PDSS)
254916
35
Screening
Self-rating
72.0%*

75.0%**

79.0%*

99.0%**

*For major and minor depressive disorder
**For major depressive disorder only
screen for postpartum depression
Khon Kaen University depression inventory (KKU-DI) 254217
30
Screening
Self-rating*

88.0%
88.0%
ใช้ในคนไทยอีสาน
*ใช้วิธี Interview ในกรณีอ่านไม่ออก
แบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม ภาษาอีสาน 255018
9
Screening
Self-rating
75.7%
93.4%
ใช้ในคนไทยอีสาน
Thai version Patient Health Questionnaire (PHQ-9) 255119

9
Screening

Self-rating
53.0%*

84.0%**

98.0%*

77.0%**

*Categorical algorithm measure
**Continuous measure
***r = 0.56
Thai version of the EURO-D scale 255320
12
Screening
Interview
84.3%
58.6%
ใช้ในผู้สูงอายุ > 60 ปี