Saturday, May 18, 2013

Post Traumatic Stress Disorder (PTSD)


ระวังป่วยทางใจ หลังเกิดภัยร้าย 


นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

     ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า ในปี พ.ศ.2554 มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกมากถึง 9,060 คน บาดเจ็บสาหัส 4,047 คน และบาดเจ็บเล็กน้อยอีกกว่า 17,123 คน ส่วนศูนย์พึ่งได้ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี พ.ศ. 2553 มีผู้หญิงถูกทำร้ายและเข้ารักษาตัวทั้งสิ้น 12,554 คน (หรือเฉลี่ยวันละ 35 คน) ข้อมูลจากแค่สองหน่วยงานก็ชี้ให้เห็นว่า อุบัติเหตุและเหตุการณ์รุนแรงเป็นเรื่องใกล้ตัวเราอย่างมาก ที่สำคัญนอกจากอาการบาดเจ็บทางร่างกายแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังได้รับบาดเจ็บทางด้านจิตใจที่เรียกว่า post traumatic stress disorder (PTSD) ที่ควรได้รับการเยียวยาด้วย

     PTSD เป็นความผิดปกติทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบเหตุการณ์รุนแรง เช่น รถชน ถูกทำร้ายร่างกาย ข่มขืน สงคราม จลาจล หรือภัยธรรมชาติต่างๆ (ลองนึกดูเล่นๆ ครับว่า ถ้าเอาสถิติของทุกอย่างที่กล่าวมารวมกันจะมีผู้ประสบเหตุมากแค่ไหน) ทั้งนี้อาการ PTSD สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการบาดเจ็บทางร่างกายก็ได้ เช่น เดินไปกับเพื่อนสองคน แล้วเพื่อนถูกคู่อริยิงตายต่อหน้าต่อตา ก็สามารถเกิดอาการได้แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ถูกทำร้ายแต่อย่างใด

      ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับภาวะนี้เป็นอย่างมาก โดยผู้ที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงเกือบทุกรายจะถูกส่งไปให้จิตแพทย์ตรวจประเมินร่วมด้วยเสมอ สำหรับในประเทศไทย คงต้องบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักภาวะ PTSD เลย แม้ว่าจะมีการพูดถึงภาวะนี้มากขึ้นอยู่ช่วงหนึ่งภายหลังจากเหตุการณ์สึนามิก็ตาม ทำให้ผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่มักไม่ได้มาพบแพทย์ และต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการนี้แบบตามมีตามเกิด

พบได้บ่อยแค่ไหน 
     โดยเฉลี่ยพบคนที่มีภาวะนี้ได้ 1-3% แต่ความชุกจะค่อนข้างแตกต่างกันไปตามสถานการณ์และประเทศ เช่น ช่วงสงครามจะพบได้เยอะมาก หรือในประเทศที่มีอุบัติเหตุสูง ความปลอดภัยในชีวิตต่ำ ก็จะพบสูงกว่าประเทศที่ค่อนข้างปลอดภัย

      สำหรับในกลุ่มคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงจะพบความชุกของภาวะ PTSD ได้ดังนี้

      - ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรง (เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์) พบในผู้ชาย 25% ผู้หญิง 14%
     - ผู้ที่ถูกทำร้ายด้วยอาวุธ (เช่น ถูกแทง ถูกยิง) พบในผู้ชาย 19%
     - ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง (เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว) พบได้ 19%
     - ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน พบได้ 9%

      โดยภาวะ PTSD สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบเยอะที่สุดในช่วงวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ เหตุผลก็เพราะเป็นวัยที่เสี่ยงที่สุดต่อการเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรม
อาการเป็นอย่างไร 
     อาการของภาวะ PTSD จะแสดงออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

      1. การนึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ (reexperienced) หรือเรียกแบบง่ายๆ ว่า เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกหลอน โดยการตามมาหลอกหลอนนี้จะแสดงออกได้ในสองรูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่

      - ฝันร้าย (nightmares) โดยฝันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น ในผู้ป่วยที่ถูกรถชน ก็อาจจะฝันว่าตัวเองถูกรถชนซ้ำแล้วซ้ำอีก

      - เห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนภาพติดตา (flashbacks) อันนี้ใครดูละครหรือภาพยนตร์บ่อยๆ คงนึกออกว่า เวลาที่ตัวละครนึกถึงอะไรสักอย่างแล้วก็มีภาพเหตุการณ์นั้นโผล่ขึ้นมา อาการนี้ก็จะคล้ายๆ แบบนั้น เช่น ผู้ป่วยคนหนึ่งที่รอดจากเหตุการณ์สึนามิบรรยายว่า บางครั้งจะเห็นภาพคลื่นที่ซัดเข้าหาตัวเอง รวมทั้งภาพที่เพื่อนถูกน้ำพัดหายไปต่อหน้า โผล่ขึ้นมาซ้ำๆ

      2. มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้นหรือสิ่งที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นั้น (avoidance) เป็นพฤติกรรมที่สืบต่อมาจากอาการ reexperienced เพราะการเห็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์จะทำให้นึกถึง หรือเกิด flashbacks มากขึ้นได้ ทำให้ผู้ป่วยจะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งของ สถานการณ์ บุคคลหรือสถานที่ที่ทำให้รู้สึกกลัว เช่น ผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุรถชนจำนวนมากจะไม่สามารถขับรถได้อีก หรือในรายที่เป็นมากๆ บางคนถึงกับไม่สามารถเดินข้ามถนนได้เลย หรือบางกรณี อาการอาจแสดงออกด้วยการจำบางส่วนของเหตุการณ์นั้นไม่ได้ (โดยไม่ได้เกี่ยวกับการบาดเจ็บที่สมอง) ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่ถูกข่มขืน เมื่อรอดมาได้เธอจำเหตุการณ์ขณะที่ถูกข่มขืนไม่ได้เลย เป็นต้น การที่ผู้ป่วยจำเหตุการณ์ไม่ได้นี้เป็นกลไกทางจิตอย่างหนึ่ง เพื่อปกป้องไม่ให้ต้องเผชิญกับความรู้สึกที่รุนแรงและน่ากลัวนั้น

      3. อาการตื่นกลัว (hyperarousal) ผู้ป่วยจะมีอาการนอนไม่หลับ ใจสั่น หงุดหงิด โมโหง่าย ไม่มีสมาธิ ตกใจง่าย สมาธิไม่ดี กลัวอะไรต่างๆ ได้ง่ายกว่าปกติ เช่น บางคนได้ยินเสียงดังก็จะสะดุ้งตกใจทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือแม้แต่ดูภาพยนตร์ที่มีฉากรุนแรงหรือเสียงดังก็ไม่ได้ เป็นต้น


      โดยอาการของโรคมักจะเกิดภายในอาทิตย์แรกหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง แต่บางคนอาจเริ่มมีอาการหลังจากเหตุการณ์รุนแรงผ่านไปแล้วหลายเดือนก็ได้ ส่วนใหญ่จะมีอาการเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษามักจะไม่หาย และอาการมักจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่มีความเครียด

      ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่ประสบเหตุสึนามิคนหนึ่ง เธอเป็นนักศึกษา ไปเที่ยวกับเพื่อนหลายคน ในวันที่เกิดเหตุ ตอนนั้นเธอยืนอยู่ที่ชายหาดกับเพื่อนสองคน เธอเล่าว่า จู่ๆ คลื่นก็ซัดเข้ามาแล้วพัดเอาเพื่อนหายไปต่อหน้าต่อตา เธอเองก็ถูกคลื่นซัดไปด้วย แต่รอดมาได้โดยไม่เป็นอะไร ส่วนเพื่อนที่ไปด้วยเสียชีวิตทั้งหมด

      หลังจากกลับมาบ้าน เธอมีอาการนอนไม่หลับ และฝันว่าจมน้ำบ้าง ถูกคลื่นซัดเข้าใส่บ้าง จนสะดุ้งตื่นเกือบทุกคืน ส่วนเวลากลางวัน แม้แต่เวลานั่งเรียน เธอจะเห็นภาพที่คลื่นกำลังโถมเข้าใส่เธอกับเพื่อนซ้ำๆ วันละหลายๆ รอบ จนกลายเป็นคนกลัวน้ำ แค่เห็นสระว่ายน้ำหรือแม่น้ำก็จะกลัวมากจนใจสั่น ตัวสั่น มือเท้าเย็นไปหมด จนไม่สามารถเข้าใกล้ได้ นอกจากนี้เธอยังมีอาการตกใจง่าย ได้ยินเสียงดังก็จะสะดุ้งตกใจทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็น เรียนหนังสือแย่ลงเพราะไม่มีสมาธิ อ่านหนังสือไม่รู้เรื่องจนเกรดตก แรกๆ เธอก็ไม่ได้รับการรักษา จนเริ่มมีอาการซึมเศร้าเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน และเมื่ออาการโรคซึมเศร้ามีความรุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย จึงมาพบแพทย์

      ภายหลังได้รับการรักษาต่อเนื่องกับจิตแพทย์ เธอก็มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถกลับไปเรียนได้ นอนหลับ ไม่ฝันหรือเห็นภาพซ้ำๆ อีก อาการซึมเศร้าก็หายไป แม้จะไม่กล้าเล่นน้ำทะเลอีก แต่ก็สามารถเดินอยู่ริมหาด หรือนั่งข้างสระว่ายน้ำได้โดยไม่มีอาการใดๆ

ความผิดปกติที่พบร่วม
     ผู้ที่มีอาการ PTSD ควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น เรียนหนังสือไม่ได้ ทำงานแย่ลง ไม่กล้าขับรถ ไม่กล้าออกจากบ้านแล้ว หากไม่รักษาผู้ป่วยมักมีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลตามมาด้วย โดยพบสูงถึง 50% ทีเดียว และจากการศึกษายังพบว่า ผู้ที่มีอาการ PTSD พยายามฆ่าตัวตายมากกว่าคนปกติถึง 14 เท่า


การรักษา
     - สำหรับผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งรักษาเร็วยิ่งมีโอกาสหายเร็ว และได้รับผลการรักษาดี
     - สำหรับบุคคลใกล้ชิด การรับฟัง ปลอบใจและให้กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน
     - การรักษาด้วยยา ยาหลักที่ใช้รักษาคือ ยาต้านเศร้า (antidepressant) ซึ่งจะช่วยลดอาการต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มอาการตื่นกลัว แต่บางครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการกลัวมากหรือนอนไม่หลับ แพทย์อาจให้ยาคลายกังวลร่วมด้วย (anxiolytic)
     - การรักษาโดยการทำจิตบำบัด ในบัจจุบันพบว่าการรักษาด้วยวิธีปรับความนึกคิด (cognitive behavior therapy หรือ CBT) เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีมาก


อ้างอิงและหนังสือสำหรับอ่านประกอบ
     - ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจร จาก: “อุบัติเหตุจราจรทางบกและมูลค่าความเสียหาย ทั่วราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2541 – 2554.” http://social.nesdb.go.th/SocialStat/
     - ข้อมูลสถิติจำนวนผู้หญิงถูกทำร้าย จาก: “ปี 2554 ทุก 1 ชั่วโมง มีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกาย 3 คน”.http://news.voicetv.co.th/infographic/33965.html
     - มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์. จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2540.
     - บุรณี กาญจนถวัลย์, พีรพนธ์ ลือบุญธวัชชัย. พฤติกรรมมนุษย์และความผิดปกติทางจิต, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย, 2547
     - Sadock BJ, Sadock VA. Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry. 10th ed. Philadelphia: Wolter Kluwer/Lippincott Williams & Wilkins; 2007

Friday, January 25, 2013

Psychotherapy Practices and Training Experiences: A National Survey of Young Thai Psychiatrists



Psychotherapy Practices and Training Experiences:
A National Survey of Young Thai Psychiatrists

Thammanard Charernboon MD*,
Muthita Phanasathit MD*

* Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Thammasat University, Pathumthani, Thailand

Objective: To survey the psychotherapy practices among young Thai psychiatrists, including perceptions pertaining to training experience and satisfaction of psychotherapy supervision.

Material and Method: The present study employed a cross-sectional descriptive survey. The sample consisted of all psychiatrists aged 40 years old or under. A questionnaire was developed by the research team and mailed to 142 young psychiatrists.

Results: There were 82 responders (57.7% response rate). The majority of the responding psychiatrists (80.5%) expressed their willingness to perform psychotherapy, however 57 of them (69.6%) were actually practicing it for 4 hours or less per month. Additionally, 41.5% had no self-confidence in using psychological interventions. The common barriers to practicing psychotherapy reported were lack of time to practice (85.4%), and no psychotherapy advisor (54.9%). Regarding psychotherapy training experience, 67.1% indicated that the training was sufficient. Types of psychotherapy training that young psychiatrists had received the most were supportive psychotherapy, Satir’s systemic psychotherapy and cognitive behavioral therapy, respectively. The main factor affecting specific psychotherapy training experiences was the difference in the availability of training courses offered between the institutes. In regards to perceptions of psychotherapy supervision, 72.0% of the sample satisfied with psychotherapy supervision, although they had received an average of 4.8 hours per month only.

Conclusion: Most of young Thai psychiatrists showed positive attitude to psychotherapy, and also preferred further training. However, they performed psychotherapy in their work only a few hours per month due to heavy workloads, no supervisor andlack of confidence. The findings may have implications for individuals who are interested in the improvement of the quality and standard of the residency training program.

Keywords: Psychotherapy practice, Psychotherapy training, Thai, Psychiatrist

J Med Assoc Thai 2011; 94 (Suppl. 7): S95-S101
Full text. e-Journal: http://jmat.mat.or.th/index.php/jmat/article/view/1857

Sunday, January 20, 2013

หมดไฟ ... "Burnout"


Burnout…หมดไฟ ทำไงจะได้ไปต่อ


นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์
http://www.healthtoday.net/thailand/mental/mental_136.html

    
เคยไหมที่ “รู้สึกเบื่อกับงานถึงขั้นทำไปวันๆ แบบซังกะตาย ไม่อยากพูดจากับใคร หงุดหงิดใส่ทุกคนรอบตัว เจ็บป่วยบ่อยๆ ไม่มีสาเหตุ ไม่อยากไปทำงาน อยากจะเดินออกไปจากที่ทำงานและไม่ต้องกลับมาอีก” ถ้าคุณกำลังประสบกับภาวะเช่นนี้ ก็ควรจะอ่านบทความนี้ครับ เพราะคุณกำลังมีอาการ burnout !!!
     “Burnout” เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ เวลาที่เราคุยหรือบ่นกันเรื่องงาน แต่ในภาษาไทยยังไม่มีคำที่ใช้เรียกอย่างเป็นทางการ บางคนก็เรียกกันว่า “หมดไฟ” ในบทความทางวิชาการบางเล่มใช้คำว่า “ความเหนื่อยล้า” “ความเหนื่อยหน่าย” หรือบางครั้งก็เรียกกันยาวเหยียดว่า “ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน” แต่เพื่อไม่ให้สับสน ในที่นี้ผมจะขอใช้ทับศัพท์ว่า burnout ละกันนะครับ

อาการ burnout
     นิยามของคำว่า Burnout หมายถึง “ความรู้สึกอ่อนล้าทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ อันเกิดจากการที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดเป็นเวลานานๆ”
Maslach นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ให้คำจำกัดความของ burnout ไว้ว่า เป็นกลุ่มอาการที่ประกอบไปด้วยอาการ 3 ด้าน ดังนี้

      1. ความอ่อนล้าทางอารมณ์ (emotional exhaustion) หมายถึง ความรู้สึกเหนื่อยหน่าย หมดกำลังใจ ไม่มีแรงใจในการทำงาน หมดความกระตือรือร้น ซึ่งเป็นอาการเด่นและสังเกตได้ง่ายที่สุดของ burnout

      2. การลดความเป็นบุคคล (depersonalization) หมายถึง มีความรู้สึกในแง่ลบต่อเพื่อนร่วมงานและลูกค้า จนมักทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ดูไม่เต็มใจที่จะบริการลูกค้า (หรือผู้มาติดต่อ) และดูแลลูกค้าแบบแห้งแล้งเหมือนคนไม่มีชีวิตจิตใจ

      3. การลดความสำเร็จส่วนบุคคล (decreased occupational accomplishment) หมายถึง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ และมองตัวเองในแง่ลบ
พบบ่อยแค่ไหน
     จากการศึกษาส่วนใหญ่มักพบได้ประมาณ 15-50% ของคนทำงาน
ผลเสียของการมีภาวะ burnout
     Burnout มีความสำคัญต่อทั้งตัวบุคคลและองค์กร เพราะก่อให้เกิดผลเสียหลายๆ ด้าน โดยในแง่ของร่างกายพบว่า คนที่มีภาวะ burnout จะขาดงานบ่อย มีอัตราการลาป่วยมากกว่าคนทั่วไปถึง 2-7 เท่า โดยโรคที่พบบ่อยได้แก่ ปวดศีรษะ โรคระบบทางเดินอาหาร และไข้หวัด ส่วนในแง่ของอารมณ์ คนที่มีภาวะ burnout มักจะโกรธง่าย ขี้หงุดหงิด มีสีหน้าไม่รับแขก ซึ่งก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งกับผู้ร่วมงานและลูกค้า นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังมักจะแยกตัว ไม่สุงสิงกับผู้ร่วมงาน ไม่มีความกระตืนรือร้นในการทำงาน ขาดความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ๆ จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรแย่ลง และสุดท้ายหากเป็นมากๆ ก็จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ (depressive disorder) หรืออาจจะลาออกหรือเลิกทำงานไปเลย
วงจรของภาวะ burnout
     Freudenberger จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ได้เขียนถึง 12 ขั้นตอนของการเกิด burnout ไว้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้

     1. ระยะพิสูจน์ตนเอง (compulsion to prove oneself) เป็นขั้นตอนแรก โดยคนๆ นั้นจะมีภาพของตัวเองในอุดมคติ มีความทะเยอทะยานต้องการที่จะพิสูจน์ตนเอง จึงเป็นระยะที่ทำงานหนักเพื่อให้เพื่อนร่วมงานตระหนักถึงตนเอง

     2. ระยะทำงานหนัก (working harder) เป็นขั้นที่ทำงานหนัก เพื่อที่จะแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเราเป็นบุคคลที่ไม่สามารถหาคนอื่นมาทดแทนได้ เป็นระยะที่มีความคาดหวังจากการทำงานสูง จึงทำงานหนักและสนใจแต่เรื่องงาน

     3. ระยะไม่ใส่ใจความต้องการของตนเอง (neglecting their needs) การทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างมากเกินไป จนดูเหมือนเป็น “คนบ้างาน” ทำให้คนๆ นั้นเริ่มละเลยความต้องการพื้นฐานของตนเอง เช่น นอนน้อย ทำงานจนดึกดื่น หอบงานไปทำต่อที่บ้าน ไม่ไปเที่ยว ใช้เวลากับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวน้อยลง

     4. ระยะเริ่มเกิดความขัดแย้ง (displacement of conflicts) ในขั้นนี้ คนๆ นั้นจะเริ่มตระหนักแล้วว่าชีวิตของตนเองมันมีบางอย่างที่ “ผิด” ไป แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าคืออะไร คนที่อยู่ในระยะนี้มักจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วยทางกายบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร มีปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

     5. ระยะปรับคุณค่าใหม่ (revision of values) หลังจากเกิดความสับสนในจิตใจ แต่ยังมุ่งหวังที่จะทำงานต่อไป ทำให้คนๆ นั้นพยายามปรับเปลี่ยนมุมมองคุณค่าสำหรับตนเองใหม่ โดยมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ “งาน” เท่านั้น ทำให้ละเลยความต้องการพื้นฐานของร่างกายและความสัมพันธ์อื่นๆ ไปจนหมดสิ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในใจตนเองด้วยการไม่สนใจหรือไม่รับรู้เรื่องอารมณ์

      6. ระยะปฏิเสธไม่รับรู้ปัญหา (denial of emerging problems) ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะเริ่มแสดงอารมณ์บางอย่างออกมาให้เห็น เช่น ขาดความอดทน โกรธง่าย ดูก้าวร้าว มักจะต่อว่าหรือโทษว่าเป็นเพราะงานหรือเพราะคนอื่น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นตัวเองนั่นแหละที่เปลี่ยนแปลงไป ในขั้นนี้จะเริ่มมีอาการทางด้านการลดความเป็นบุคคล (depersonalization) เกิดขึ้น คือ ไม่ค่อยสังคมกับคนอื่น แยกตัวมากขึ้น

      7. ระยะแยกตัว (withdrawal) เป็นขั้นที่คนๆ นั้นจะแยกตัว เข้าสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำงานโดยแทบไม่มีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงานและไม่มีทิศทาง จึงทำงานแบบยึดติดกับกฏหรือคำสั่งอย่างเคร่งครัด เช่น ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือตามกฎเท่านั้น ไม่ทำเกินกว่านั้นแม้ว่าจะทำให้ผลงานดีขึ้นหรือเป็นประโยชน์กับองค์กรก็ตาม

      8. ระยะพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง (obvious behavioral changes) เป็นระยะที่บุคคลภายนอก (เช่น เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว) สามารถสังเกตเห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างชัดเจน จากคนที่เคยแอคทีฟ ร่าเริง มีความสุข กลายเป็นคนเก็บตัว หงุดหงิด ฉุนเฉียว ขี้กลัว ดูทุกข์ และไม่ค่อยดูแลตัวเอง

      9. ระยะขาดความเป็นบุคคล (depersonalization) เป็นระยะที่คนๆ นั้นจะมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองและคนอื่น รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหุ่นยนต์ ทำงานเดิมๆ แบบให้จบไปวันๆ ไม่มองถึงอนาคต และไม่รับรู้ถึงความต้องการของตัวเอง

      10. ระยะว่างเปล่าภายใน (inner emptiness) ในขั้นนี้จะรู้สึกว่าภายในใจตัวเองว่างเปล่า อาจหันเหไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น กินมาก มีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม ดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติด เพื่อช่วยลดความรู้สึกนั้น

      11. ระยะซึมเศร้า (depression) จะมีอาการเหมือนภาวะซึมเศร้าอย่างเต็มที่ เช่น เศร้า ไม่อยากทำอะไร รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไร้ความหวัง ไร้อนาคต ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต และมีอาการทางกายอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย

      12. ระยะ burnout syndrome อย่างเต็มที่ ในระยะนี้คนๆ นั้นมักอยากหนีจากสถานการณ์ที่ประสบอยู่ เช่น คิดจะลาออก หรือบางคนก็หนีไปไม่มาทำงานดื้อๆ ในบางคนที่มีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย โดยที่ในระยะที่ 11-12 เป็นระยะที่ควรไปพบแพทย์และรับการบำบัดรักษา
สาเหตุของการ burnout
     ภาวะ burnout เกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน โดยสามารถแบ่งได้ดังต่อนี้

1. ปัจจัยส่วนบุคคล (individual aspect)
     - ไม่รู้หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญ/คุณค่าของงานที่ทำ
     - มีความคาดหวังที่มากเกินกว่าความเป็นจริง เช่น หวังว่ารายได้จะเยอะกว่านี้ น่าจะประสบความสำเร็จหรือเป็นที่ชื่นชมมากกว่านี้ เป็นต้น การคาดหวังสูงๆ แล้วไม่ได้อย่างที่หวังซ้ำๆ จะเกิดภาวะ burnout ได้ง่าย
     - มีบุคลิกภาพแบบไม่ยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ยาก
     - มีลักษณะนิยมความสมบูรณ์แบบ (perfectionism) เช่น กังวลหมกมุ่นกับความผิดพลาดอย่างมาก และมีมาตรฐานสูงจนเกินไป
     - สถานภาพโสด อันนี้เป็นผลจากการศึกษาที่พบว่าคนโสดจะ burnout มากกว่าผู้ที่มีคู่หรือแต่งงาน

2. ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal aspect)
- ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในหมู่เพื่อนร่วมงาน พูดง่ายๆ คือหากบุคลากรไม่สนิทกันจะเกิด burnout ได้ง่าย
- มีความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน หรือระหว่างลูกน้องกับเจ้านาย

3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (environmental aspect)

     - มีเพื่อนร่วมงานที่ burnout พบว่าหากที่ทำงานเดียวกันมีคน burnout หลายคน คนที่เหลือมีโอกาส burnout ได้ง่าย
     - ค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับงานที่ทำ เช่น ค่าตอบแทนน้อยเกินไป
     - งานที่เคร่งเครียด กดดัน และมีความต้องการสูงในระยะเวลาอันสั้น เช่น แพทย์ที่ต้องตรวจผู้ป่วนมาก ๆ ในเวลาอันสั้น และห้ามตรวจพลาด เป็นต้น
     - งานที่ขาดความมั่นคง และไม่มีความเจริญก้าวหน้า เช่น งานประเภทที่จะถูกเลิกจ้างเมื่อไรก็ไม่รู้ หรือไม่มีโอกาสเติบโตในชีวิตการทำงานเลย
     - ไม่มีคนให้ปรึกษาหรือให้กำลังใจ อันนี้อาจเป็นสาเหตุให้คนโสด ประสบภาวะ burnout มากกว่าคนที่แต่งงานแล้วก็เป็นได้

4. ปัจจัยด้านการบริหารองค์กร (organizational management aspect)
     - ปริมาณงานมากเกินไปแต่ทรัพยากรในการทำงานน้อย เช่น สถานที่ราชการบางแห่ง มีคนมาติดต่อวันหนึ่งจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่มีน้อย แถมอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ก็มีจำกัดหรือสภาพไม่ดี ก็ทำให้เกิด burnout ได้ง่าย
     - ไม่มีเวลาว่าง/ไม่มีวันหยุดพักร้อน ซึ่งทำให้คนเหนื่อยล้าได้ง่าย
     - ไม่สามารถตัดสินใจหรือไม่มีอำนาจในการสั่งการ แต่มีความรับผิดชอบมาก เช่น พนักงานต้อนรับที่แต่ละวันต้องแก้ปัญหาให้กับลูกค้าจำนวนมาก แต่กลับไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ จะทำอะไรก็ต้องขอผู้จัดการก่อนทุกครั้ง
     - ขาดสิ่งจูงใจในการทำงาน หรือมีแต่การตำหนิอย่างเดียว ทำดีไม่ได้ดี หรือทำมากทำน้อยก็ได้ผลตอบแทนเท่ากัน หรือทำดีไม่เคยชมแต่ทำพลาดด่าอย่างเดียว
     - ไม่มีความยุติธรรมในองค์กร เช่น มีการเล่นเส้นเล่นสาย เลือกที่รักมักที่ชัง ประเมินผลงานแบบไม่ยุติธรรม ทำงานดีแต่สู้คนที่ประจบเจ้านายไม่ได้ เป็นต้น
     - มีการบริหารงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เป็นพิธีรีตองมากจนเกินไป ในข้อนี้ใครทำงานหน่วยงานราชการน่าจะเข้าใจง่ายขึ้น เช่น การจะขอหนังสือสักฉบับอาจจะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ใช้เวลาหลายสัปดาห์ ต้องการติดต่อขอพบผู้บริหารระดับสูง อาจจะต้องใช้เวลานัดเป็นเดือน เป็นต้น
     - ค่านิยมองค์กรขัดแย้งกับค่านิยมในใจของบุคคล เช่น ที่ทำงานต้องการเวลามากและอยากให้ทุ่มสุดตัว แต่เจ้าตัวต้องการเวลาว่างให้ครอบครัว เป็นต้น
การแก้ไข
     สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้ก็คือ เรื่อง burnout ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับบุคคลอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องแก้ไขในระดับขององค์กรด้วย เนื่องจาก burnout เป็นภาวะที่เกิดจากความเครียดในที่ทำงาน หากที่ทำงานยังเหมือนเดิมก็คงยากที่ปัญหาจะหายไป ต่อให้คนเก่าลาออกไป คนใหม่ที่เข้ามาก็มีโอกาส burnout ได้สูงอยู่ดี จนบางครั้งกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ต้องเปลี่ยนคนทำงานทุก 1-2 ปี

การแก้ไขในระดับบุคคล
     - สอนให้รู้จักวิธีการปรับตัวที่ดีขึ้น และลดความเครียดจากการทำงาน เช่น รู้จักวิธีแก้ไขเมื่อเกิดความเครียดหรือเบื่อหน่าย รู้จักปรึกษาผู้อื่นเมื่อมีปัญหา
     - ปรับชีวิตให้สมดุล จัดเวลาเพื่อการพักผ่อนอย่างเหมาะสม เช่น มีเวลาออกกำลังกายเป็นประจำ นั่งสมาธิ มีเวลาว่างเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ต้องทำงาน ปีหนึ่งควรมีโอกาสลาพักผ่อนไปเที่ยวบ้าง
     - หากพบว่าเป็นมากจนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
การแก้ไขในระดับองค์กร
     การแก้ไขในระดับองค์กร ก็คือให้แก้ตามสาเหตุของการเกิด burnout (ที่เขียนไว้ด้านบน) อาทิ
     - สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี เช่น ส่งเสริมให้คนในที่ทำงานสนิทสนมกัน เรียนรู้วิธีทำงานร่วมกันเป็นทีม
     - มีช่วงเวลาและระบบการฝึกงานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาทำงานเข้าใจและทำงานได้ ไม่ใช่ให้มาลองผิดลองถูกกันเอาเอง
     - มีรายได้ที่เหมาะสมกันงาน รวมทั้งมีสิ่งจูงใจอื่นๆ เช่น อาจมีรางวัล โบนัส ให้รางวัลพนักงานดีเด่น เป็นต้น
     - ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และเพิ่มทรัพยากรให้เพียงพอกับงาน
     - มีบุคลากรหรือหน่วยงานที่สามารถให้คำปรึกษาได้
     - มีเวลาให้พักผ่อนบ้าง
     - มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้นหรือมีโอกาสเจริญก้าวหน้าในการทำงาน
     - มีการระบุให้ชัดเจนว่างานที่ทำครอบคลุมส่วนใด และต้องทำอะไรบ้าง
     - ปรับปรุงระบบการบริหารงานให้คล่องตัวและรวดเร็ว ไม่ซับซ้อน
     - และสุดท้ายผู้บริหารและองค์กรควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ burnout ด้วย
...........................................................................................................................................................................

เอกสารอ้างอิง
     1. Maslach C, Jackson SE. The measurement of experienced burnout. J Occup Behav. 1981;2:99-113
     2. Schaufeli W,Enzman D. The burnout companion to study & practice :a critical analysis. London, Taylor & Francis,1998
     3. Maslach C, Schaufeli WB, Leiter MP. Job Burnout. Annual Review of Psychology. 2001;52(1):397–422.

Tuesday, January 8, 2013

กาแฟ ... มีประโยชน์หรือมีโทษ



กาเฟอีน&จิตเวช
นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์


จาก http://www.healthtoday.net/Thailand/mental/mental_140.html


     กาเฟอีน (caffeine) ถือเป็นสารกระตุ้นประสาทที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลกนี้และในเกือบทุกประเทศ แต่ก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่อาจจะไม่ค่อยรู้จักสารตัวนี้ ฉบับนี้จึงขออธิบายถึงกาเฟอีนว่าคืออะไร มีประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร

แหล่งที่มาของกาเฟอีน
     แน่นอนว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่รับรู้และเข้าใจมากที่สุดสำหรับคนทั่วไปว่ามีกาเฟอีน แต่ก็ยังมีเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ รวมถึงขนม และยาสามัญประจำบ้านอีกหลายตัวที่ผู้บริโภคหลายคนไม่ทราบว่ามีกาเฟอีนผสมอยู่ด้วย (ดูรายละเอียดในตาราง) และอาจเป็นสาเหตุให้มีโอกาสเกิดอาการกาเฟอีนเป็นพิษได้จากการกินของเหล่านี้หลายๆ อย่างผสมกัน โดยไม่ได้กินกาแฟสักแก้ว ที่สำคัญคือ อาจเกิดอาการกาเฟอีนเป็นพิษในเด็กได้จากการกินช็อกโกแลต 1-2 แท่ง และดื่มเครื่องดื่มโคล่า 2-3 ขวด เนื่องจากเด็กตัวเล็ก

การออกฤทธิ์
     กาเฟอีนเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท โดยกลไกการออกฤทธิ์หลักจะเป็น adenosine receptor antagonist (ซึ่งจะขอข้ามไปนะครับ) ซึ่งกาเฟอีนจะถูกดูดเข้าสู่ร่างกาย สมอง ได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 30-60 นาทีเท่านั้น และสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 3-10 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยกาเฟอีนมักออกฤทธิ์ในผู้สูงอายุยาวนานกว่าในคนหนุ่มสาว และนี่ก็เป็นเหตุผลที่มีคำแนะนำว่าไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูงๆ ในช่วงบ่าย เพราะอาจจะทำให้นอนไม่หลับได้
นอกจากการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางแล้ว กาเฟอีนยังเพิ่มการขับปัสสาวะ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ และเพิ่มการหลั่งกรดของกระเพาะอาหารอีกด้วย

ข้อดีของกาเฟอีน
     การได้รับสารกาเฟอีนในขนาดปานกลาง (20-200 มิลลิกรัม หรือการดื่มกาแฟสดไม่เกิน 1 แก้ว) สามารถทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ มีความสุข ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย มีเรี่ยวแรง ลดความรู้สึกเหนื่อยล้า และทำให้ตื่นตัวไม่ง่วงนอน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า การได้รับกาเฟอีนในขนาดที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มสมาธิ และความสามารถในการทำงานได้อีกด้วย (แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า กาเฟอีนไปเพิ่มความสามารถในการทำงานของสมองโดยตรง หรือเป็นเพียงเพราะเรามีสมาธิดีขึ้น ตื่นตัว และไม่ง่วงนอนกันแน่)

โทษของกาเฟอีน
     โทษของกาเฟอีนสามารถแบ่งง่ายๆ ได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กาเฟอีนเป็นพิษ และอาการถอนกาเฟอีน โดยแต่ละอาการมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
     กาเฟอีนเป็นพิษ (caffeine intoxication) มักจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับกาเฟอีนมากกว่า 250 มิลลิกรัมในระยะเวลาอันสั้น (คือกินรวดเดียวเลย) ซึ่งจะทำให้มีอาการใจสั่น กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ หน้าแดง กล้ามเนื้อกระตุก ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกกระเพาะลำไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง ท้องเสีย รู้สึกเหมือนเป็นเหน็บชาที่ปลายมือปลายเท้า และนอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการแบบวิตกกังวล (anxiety) ได้ด้วย ดังนั้นผู้ที่เป็นโรควิตกกังวล (anxiety disorder) หรือโรคแพนิค (panic disorder) จึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนโดยเด็ดขาด เพราะมักจะทำให้ดูเหมือนมีอาการมากขึ้นได้ ส่วนนักเรียน นักศึกษา หรือใครก็ตามที่ต้องการดื่มกาแฟเพื่ออ่านหนังสือสอบหรือทำงานละก็ ควรใช้ในขนาดที่พอเหมาะ มิฉะนั้นแทนที่จะได้งานก็อาจจะเสียงานได้ โปรดระวัง!!!

      ส่วนการได้รับกาเฟอีนขนาดที่สูงมาก (มากกว่า 1,000 มิลลิกรัม) จะทำให้เกิดอาการกาเฟอีนเป็นพิษแบบรุนแรงได้ เช่น เริ่มสับสน พูดไม่รู้เรื่อง หัวใจเต้นเร็ว อาจเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเห็นภาพหลอนได้ (มักเห็นเป็นแสงแว่บๆ) แต่ถ้าเป็นคนที่สุขภาพไม่ดี หรือมีโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคหัวใจ ก็อาจจะทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้

      ขณะที่การได้รับกาเฟอีนมากกว่า 10,000 มิลลิกรัมขึ้นไป (ซึ่งพบน้อยมาก มักจะเกิดจากการกินยาที่ผสมกาเฟอีนเกินขนาด เพราะคงไม่มีใครสามารถกินกาแฟได้เยอะขนาดนี้) ถือว่าเป็นระดับที่อันตรายถึงชีวิต โดยจะทำให้เกิดอาการชัก ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

      การรักษา อาการกาเฟอีนเป็นพิษในระดับที่น้อยกว่า 1,000 มิลลิกรัมนั้นไม่มีการรักษาเฉพาะ และการรักษาตามอาการก็เพียงพอแล้ว เช่น หากกระสับกระส่ายนอนไม่หลับ ก็อาจให้กินยานอนหลับ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้อาการค่อยๆ ลดน้อยลงเองตามเวลาที่ผ่านไป ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลก็ได้ โดยส่วนใหญ่อาการจะหายไปภายในเวลาไม่เกิน 3-6 ชั่วโมง ส่วนการได้รับกาเฟอีนขนาดมากกว่า 1,000 มิลลิกรัมขึ้นไปควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยหากอาการรุนแรงมาก อาจจะต้องทำการล้างท้องหรือฟอกเลือดต่อไป
     อาการถอนกาเฟอีน (caffeine withdrawal) หรือที่บางคนเรียกว่าอาการติดกาเฟอีน (หรือติดกาแฟ) จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้กาเฟอีนหยุดใช้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 50-70% ของผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำนั้นเคยเจออาการแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) 


ปุจฉา ... กินมากแค่ไหนถึงจะติด?

      โดยผู้ที่จะเกิดอาการถอนได้นั้น ต้องเป็นคนที่ใช้สารกาเฟอีนในขนาดอย่างน้อย 100 มิลลิกรัมต่อวัน และใช้เป็นประจำทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน (ส่วนใหญ่มักจะต้องมากกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไป) มักจะเกิดอาการถอนขึ้นหลังจากหยุดกาเฟอีนไปประมาณ 24 ชั่วโมง โดยอาการถอนที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ปวดศีรษะและอ่อนเพลีย ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบบ้าง ได้แก่ ง่วงนอนมากกว่าปกติ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ การทำงานของกล้ามเนื้อแย่ลง ในบางรายอาจจะทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าแบบไม่รุนแรงได้ โดยอาการถอนจะเป็นมากที่สุดในช่วง 1-2 วันหลังจากหยุดกิน และจะค่อยๆ ลดลงและหายไปเองในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
การรักษาทำได้โดย รักษาตามอาการ เช่น หากปวดหัวก็รับประทานยาแก้ปวด เป็นต้น เพราะส่วนใหญ่แล้วอาการมักจะไม่รุนแรงและจะค่อยๆ หายไปเอง การรักษาแบบที่สองคือกินกาเฟอีนเข้าไป ซึ่งจะทำให้มีอาการดีขึ้นภายใน 30-60 นาที สิ่งที่สำคัญกว่าการรักษาจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เป็น โดยในผู้ที่ใช้กาเฟอีนเป็นประจำหรือติดกาเฟอีนไปแล้ว เวลาจะหยุด ควรค่อยๆ ลดขนาดลงในเวลา 1-2 สัปดาห์ ไม่หยุดกินทันที เช่น ว่าปกติดื่มกาแฟวันละ 4 แก้ว สามวันแรกอาจลดเหลือวันละ 3 แก้ว สามวันถัดไปเหลือ 2 แล้ว สามวันต่อไปเหลือ 1 แก้ว แล้วจึงค่อยหยุด เป็นต้น ส่วนในผู้ที่ยังไม่ถึงกับติดก็ควรป้องกันโดยไม่ควรกินกาเฟอีนในระดับสูง และ/หรือไม่ควรกินหลายๆ วันติดต่อกัน เช่นเดียวกับผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดไมเกรนชนิดที่มีกาเฟอีนผสมอยู่ ก็ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ติดกันทุกวันเป็นเวลานานๆ เช่นกัน เพราะจะเกิดอาการถอน และทำให้ปวดศีรษะได้เมื่อหยุดกิน

ใครไม่ควรกินกาเฟอีน
     แม้ว่าผลการศึกษาการใช้กาเฟอีนในระยะยาว (ในขนาดปานกลาง) จะไม่พบว่าทำให้เกิดโรคหรือความผิดปกติใดๆ ที่ชัดเจนในคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ก็มีข้อห้ามใช้กาเฟอีนสำหรับผู้ป่วยบางโรคดังต่อไปนี้

      - ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะลำไส้ เช่น โรคกระเพาะ โรคลำไส้แปรปรวน และโรคกรดไหลย้อน เพราะกาเฟอีนจะไปเพิ่มการทำงานของกระเพาะและลำไส้ รวมทั้งเพิ่มการหลั่งกรด ทำให้โรคมีอาการมากขึ้น

      - ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ

      - ผู้ที่เป็นโรคทางด้านจิตเวช ได้แก่ โรควิตกกังวลและโรคแพนิค เพราะจากการศึกษาพบว่าทำให้อาการเป็นมากขึ้นได้ ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับก็ไม่ควรใช้เช่นกัน ส่วนในผู้ที่เป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) และโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) แม้การได้รับกาเฟอีนในขนาดไม่มากจะไม่ได้ทำให้อาการแย่ลงก็จริง แต่บางการศึกษาพบว่าหากได้รับกาเฟอีนในขนาดที่สูงจะทำให้อาการทางจิตกำเริบได้

     กล่าวโดยสรุปก็คือ กาเฟอีนในขนาดที่เหมาะสมมีข้อดีหลายประการ แต่ในขนาดที่มากเกินไปก็ทำให้เกิดโทษได้หลายอย่าง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ เราต้องเรียนรู้ถึงแหล่งที่มา เพื่อที่จะรู้จักควบคุมการบริโภคให้อยู่ในขนาดที่เหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิดอาการเป็นพิษ หรือติดกาเฟอีน หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไรหากเกิดอาการเป็นพิษ หรือจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนได้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเสพอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ต่อไปได้อย่างสบายใจและเป็นสุขครับ