สูงวัย นอนเรื่องใหญ่
การแก้ไขปัญหาการนอนในผู้สูงอายุ
นพ. ธรรมนาถ เจริญบุญ
ตีพิมพ์ใน นิยสาร Health Today, ส่วนหนึ่งดัดแปลงเป็นแผ่นพับใช้เผยแพร่ในคลินิคจิตเวชผู้สูงอายุ (non-commercial)
Keyword: การนอน, นอนไม่หลับ, หลับยาก, ผู้สูงอายุ, sleep hygeine
การนอนนั้นเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งของคนเรา
และเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่ง เป็นที่ยอมรับกันว่าคนเราทุกคนต้องนอน
และในหลาย ๆ คนการนอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียว นอกจากนั้นการนอนยังถือว่ามีความสำคัญกับเรามาก
การนอนที่ไม่พอหรือคุณภาพไม่ดีนั้นจะมีผลทำให้ ง่วง ไม่สดชื่น ไม่มีเรี่ยวแรง หรือแม้กระทั่งสมาธิและความจำจะลดลง
และที่สำคัญ การง่วงมาก ๆ
นั้นอาจจะนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงหรือเกิดอุบัติเหตุได้
ธรรมชาติของการนอนในคนทั่ว
ๆ ไปส่วนใหญ่ต้องการนอนเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง (ติดต่อกัน ไม่ใช่แยกกันเป็นช่วง ๆ )
แต่ในบางคนอาจจะต้องการมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้
สิ่งสำคัญของการดูว่านอนเพียงพอหรือไม่ก็คือการดูว่าตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกสดชื่น
สามารถทำการงานต่าง ๆ ได้ตามปกติหรือเปล่า
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในการนอนของผู้สูงอายุ
เป็นเรื่องปกติที่เมื่ออายุมากขึ้นแล้วย่อมจะมีการเสื่อมลงของทั้งร่างกายและสมอง
ซึ่งก็จะมีผลทำให้การนอนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
คุณภาพการนอนในผู้สูงอายุนั้นมักจะลดลง
โดยทั่วไปแล้วถ้าเทียบกับวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่แล้วสิ่งที่จะเปลี่ยนไปมีดังนี้
¹
ช่วงการหลับลึกจะลดลง
คือจะมีช่วงเวลาที่หลับไม่ลึกเยอะขึ้น
¹
ความต่อเนื่องในการนอนลดลง คือจะมีลักษณะหลับ
ๆ ตื่น ๆ มากขึ้น ตื่นหลายครั้งต่อคืน มีช่วงเวลาที่ตื่นมากขึ้น
¹
ความไวต่อสิ่งเร้าจะมากขึ้น คือจะตื่นง่าย
มีการเปลี่ยนแปลงเช่น ได้ยินเสียงเบา ๆ ก็ตื่นแล้ว หรือเปลี่ยนสถานที่ก็นอนหลับยาก
เป็นต้น
¹
การนอนจะเลื่อนเวลามาเร็วขึ้น
คือผู้สูงอายุมักจะรู้สึกง่วงเร็วกว่าแต่ก่อน ทำให้เข้านอนเร็ว
บางคนกินข้าวเย็นเสร็จก็นอนเลย
¹
ง่วงนอนในช่วงบ่าย คือเมื่ออายุมากขึ้น
คุณภาพการนอนลดลงทำให้หลาย ๆ คนง่วงนอนในช่วงบ่าย ๆ
แต่สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นเช่นนี้ทุกอย่างทุกคน
บางคนก็อาจจะไม่เป็นก็ได้ และที่สำคัญแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกว่านอนพออยู่และสดชื่นพอสมควร
คงมีบางคนเท่านั้นที่รู้สึกนอนไม่พอ
ข้อแนะนำสำหรับผู้สูงอายุที่รู้สึกมีปัญหาเรื่องการนอน
ü
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรือสารกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ชา กาแฟ
หรือยาบางชนิด หรือถ้าอยากจะกินจริง ๆ ก็ไม่ควรกินหลังจากตอนเที่ยง และไม่ควรกินเกิน
1 แก้วต่อวัน
ü ออกกำลังกายให้เหมาะสม การออกกำลังกายนั้นแล้วแต่คน แล้วแต่ความชอบ
และแล้วแต่สภาพร่างกาย การออกกำลังกายนั้นออกตอนเช้าหรือตอนเย็นก็ได้
ยกเว้นแต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนเวลาที่จะนอน เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัวและไม่ง่วง
ดังนั้นควรออกกำลังกายก่อนเวลาที่จะนอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
ü หลีกเลี่ยงการนอนในช่วงกลางวัน
อย่างที่กล่าวมาคือผู้สูงอายุมักง่วงตอนบ่าย ๆ ยิ่งหลายคนไม่มีอะไรทำ อยู่บ้านเฉย
ๆ ทำให้นอนตอนกลางวันเยอะ บางคนกลางวันนอนหลายชั่วโมง
ทำให้กลางคืนไม่ง่วงแล้วนอนไม่หลับ ดังนั้นจึงควรงดนอนกลางวัน ให้หากิจกรรมทำแทน
หรือถ้าง่วงมากจริง ๆ ก็ไม่ควรนอนเกิน 1 ชั่วโมง และไม่ให้นอนหลังบ่าย 3 ไปแล้ว
ü
จัดสภาพห้องนอนให้เหมาะสม เพราะผู้สูงอายุมักจะไวต่อสิ่งเร้า
ดังนั้นควรจัดสภาพห้องนอนให้เงียบ มืดเพียงพอ อุณหภูมิเหมาะสม
ü หากเข้านอนแล้วนอนไม่หลับ
ไม่ควรฝืนอยู่บนเตียงนาน ๆ โดยไม่หลับ
เมื่อรู้สึกว่านอนไม่หลับควรลุกไปทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น อ่านหนังสือธรรมะ สวดมนต์
ฟังเพลงเบา ๆ สักพักเมื่อรู้สึกง่วงแล้วควรกลับมานอนใหม่
ü งดกินอาหารหนักหรือกินน้ำเยอะ
ๆ ก่อนนอน 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้นอนหลับยาก
และอาจตื่นมาเข้าห้องน้ำหลายครั้งได้
è
การแก้ปัญหาเรื่องการเข้านอนเร็ว จากประสบการณ์ผู้เขียนพบว่า
ปัญหานี้เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ คือหลาย ๆ คนจะเข้านอนเร็วมาก
คือเข้านอน 6 โมงเย็น หรือทุ่มนึง ซึ่งถ้านอนเวลานี้แล้วจะให้ตื่น 6
โมงเช้านั้นจะเรื่องที่ยากมาก เพราะนั่นจะเท่ากับว่านอนต่อกันถึง 12 ชั่วโมง
ซึ่งเป็นไปไม่ค่อยได้ในวัยขนาดนี้ ทำให้ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุเหล่านี้มักจะมาตื่นตอนตี
2 ตี 3 ซึ่งพอตื่นมาเวลานี้ก็ไม่มีอะไรทำ ลุกไปไหนก็ไม่ได้เพราะมืดอยู่ ทำให้ต้องฝืนทนนอนต่อ
พอฝืนนอนต่อก็หลับ ๆ ตื่น ๆ
วิธีแก้คือพยายามเลื่อนเวลานอนออกไปเป็นสัก
3 – 4 ทุ่ม โดยให้หากิจกรรมทำ เช่นกินข้าวเย็นเสร็จ ให้ดูละครก่อน หรือชวนท่านออกไปเดินแถว
ๆ บ้าน หรือออกไปนั่งหน้าบ้านรับแสงยามเย็น เป็นต้น ถ้าอยู่ในบ้าน ก็ให้ใช้แสงช่วย
คือเปิดไฟในห้องที่อยู่ให้สว่างมาก ๆ (ถ้าบ้านมืด ๆ ก็อาจต้องติดไฟเพิ่ม
หรือเอาโคมไฟมาเปิดช่วย) เพราะยิ่งมืด
ฮอร์โมนในสมองก็จะหลั่งสารบางตัวออกมาทำให้ยิ่งง่วง
ดังนั้นให้ทำให้ห้องสว่างเข้าไว้ก็จะช่วยได้
เหล่านี้คือคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอน
แต่ถ้าทำตามที่แนะนำดังกล่าวแล้วยังมีปัญหาเรื่องนอนติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
ก็ควรจะมาพบแพทย์เพื่อจะได้ตรวจดูว่ามีความผิดปกติในเรื่องการนอนอื่น ๆ หรือไม่
ควรระมัดระวังในเรื่องการใช้ยานอนหลับในผู้สูงอายุ
ไม่ควรซื้อยามากินเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางอย่างมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้ความจำแย่ลง
บางตัวใช้นาน ๆ มีผลทำให้ติดได้ หรือบางตัวออกฤทธิ์นานมากทำให้ง่วงทั้งวัน เป็นต้น
ความผิดปกติด้านการนอนที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
ที่จริงความผิดปกติด้านการนอนนั้นมีหลายอย่าง
ในที่นี้จะยกตัวอย่างความผิดปกติบางแบบที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เช่น
·
การหยุดหายใจระหว่างการนอน (sleep apnea) ลักษณะสำคัญคือผู้ป่วยจะมีการหยุดหายใจเป็นช่วง
ๆ ระหว่างที่นอน มักพบร่วมกับมีอาการนอนกรนเยอะ
ทำให้ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น รู้สึกง่วงนอน
บางรายหากการหยุดหายใจนานผู้ป่วยอาจจะสะดุ้งตื่นเพราะเหมือนขาดอากาศ
·
อาการกระสับกระส่ายที่ขา (Restless leg
syndrome)
ลักษณะสำคัญคือผู้ป่วยจะรู้สึก ขาอยู่ไม่นิ่ง หรือรู้สึกยุบยิบ ๆ คล้ายมีตัวอะไรมาไต่
อยากขยับขา หรือบางรายอาจจะรู้สึกเหมือนชา ๆ แบบเหน็บที่ขา อาการมักจะเป็นในช่วงเวลาเข้านอน
มีผลทำให้ให้นอนหลับยาก
·
อาการขากระตุกเป็นช่วง ๆ (Periodic limb
movement) ลักษณะสำคัญคือ
ผู้ป่วยจะมีอาการกระตุกที่แขนหรือขาในช่วงที่หลับไปแล้ว บ่อย ๆ หลายครั้งต่อคืน บางครั้งหากการกระตุกเป็นมาก
ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยตื่นได้ทำให้ผู้ป่วยตื่นหลายครั้งต่อคืน
·
ความผิดปกติของพฤติกรรมในช่วงการนอนแบบ REM (REM
sleep behavior disorder) ในคนปกตินั้นในช่วงของ REM
นั้นอาจมีการฝัน แต่ร่างกายจะไม่เคลื่อนไหวไม่มีแรง แต่ในผู้ป่วยภาวะนี้
แขนขาจะยังเคลื่อนไหวได้ ทำให้มีอาการนอนดิ้นหรือละเมออย่างรุนแรง
สะบัดแขนหรือขาอย่างมาก ซึ่งจะเป็นผลเนื่องจากการฝัน
การดิ้นอย่างรุนแรงทำให้รู้สึกเมื่อย ไม่สดชื่น
บางคนดิ้นรุนแรงจะกระแทกกับขอบเตียง ผนัง หรือตกเตียงทำให้บาดเจ็บและตื่นนอนได้
·
นอนไม่หลับจากโรคทางจิตเวช เช่น
โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล เพราะในโรคทางจิตเวชหลาย ๆ อย่าง ก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับได้
ปัญหาการนอนในผู้สูงอายุนั้นพบได้บ่อย
แต่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้เพราะจะมีผลเสียต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ
ดังนั้นควรที่จะทำการปรับเปลี่ยน แก้ไขให้ดีขึ้น และถ้าหากไม่ดีขึ้นก็ควรจะไปพบแพทย์ต่อไป
เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุนะครับ
No comments:
Post a Comment