Thursday, September 27, 2012

โรคแพนิค: Panic Disorder


โรคแพนิค : Panic disorder


นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ

     โรคแพนิค หรือ panic disorder จัดเป็นภาวะทางจิตเวชที่พบได้บ่อยเป็นลำดับต้นๆ ในคลินิกจิตเวชเกือบทุกโรงพยาบาลทีเดียว !!!

     แต่ปัญหาโลกแตกอย่างหนึ่งสำหรับโรคแพนิคก็คือ มันไม่มีชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการ :( จึงมีการเรียกชื่อไปหลายๆ แบบ เช่น “โรคตื่นตระหนก” “โรคหัวใจอ่อน” “โรคประสาท(ลง)หัวใจ” “โรคใจบ่ดี (ภาษาเหนือ)” เป็นต้น ทำให้เวลาที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยหรือคนทั่วไปฟังจึงไม่รู้ว่าจะใช้ชื่อว่าโรคอะไร ในที่นี้ผมจึงขอเรียกแบบทับศัพท์ไปว่า “โรคแพนิค” ล่ะกันนะครับ

พบได้บ่อยแค่ไหน
     * พบได้ร้อยละ 2-5 ในประชากรทั่วไป โดยส่วนใหญ่มักจะพบในช่วงวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น
     * พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2.3 เท่า
ยิ่งกังวลยิ่งเป็น
     สิ่งสำคัญที่ควรเข้าใจสำหรับโรคแพนิคคือ โรคแพนิคไม่ใช่โรคหัวใจ ไม่อันตรายถึงตายหรือพิการ อาการที่เป็นก็จะมีเพียงเท่าที่กล่าวมาเท่านั้น ที่ต้องเน้นย้ำตรงนี้เพราะโรคแพนิคนี้ยิ่งผู้ป่วยกังวลว่าจะเป็น (หรือกังวลว่าจะตาย จะเป็นโรคหัวใจ จะช็อคหรือเปล่า ฯลฯ) ก็จะยิ่งเป็นบ่อยขึ้น พูดง่ายๆ คือยิ่งกังวล (เกี่ยวกับโรค) มากเท่าไรก็ยิ่งเป็นบ่อยขึ้นเท่านั้น


สาเหตุ

     โรคแพนิคเป็นผลจากทั้งปัจจัยทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยปัจจัยทางด้านร่างกายพบว่า เกิดจากความผิดปกติของระดับสารสื่อประสาท ได้แก่ norepinephrine และ serotonin ในระบบประสาท รวมทั้งพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของพันธุกรรม ส่วนสาเหตุทางด้านจิตใจมักพบว่า สัมพันธ์กับเรื่องของความวิตกกังวล (anxiety) โดยเฉพาะความวิตกกังวลจากการแยกจากคนสำคัญ (separation anxiety) โดยผู้ป่วยแต่ละรายก็จะให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละปัจจัยแตกต่างกันไป เช่น บางรายอาจจะไม่มีความกังวลใดๆ เลย แต่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นหลายคน ก็อาจจะมีอาการได้ เป็นต้น


ลักษณะอาการ
     ลักษณะอาการของโรคแพนิคคือ ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก รู้สึกหายใจขัด เวียนหัว (หรือรู้สึกว่าหัวเบาๆ) ถ้าอาการมากๆ จะมีเหงื่อแตก มือเย็นเท้าเย็น (หรือชา) ด้วย โดยอาการจะเป็นขึ้นมาแบบทันทีทันใด ชนิดอยู่ดีๆ ก็เป็นขึ้นมา และจะเป็นมากอยู่ประมาณ 10-15 นาที จากนั้นก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และมักจะหายไปในเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ด้วยอาการที่จะเป็นแบบทันทีและรุนแรงนี่เอง ทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนตกใจกลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจ หรือเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ หรือกลัวว่าจะตายได้

      โดยผู้ป่วยจะมีอาการแบบนี้ซ้ำๆ กันหลายครั้ง บางคนอาจเป็น 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนบางคนที่เป็นมากอาจจะเป็นวันละหลายๆ ครั้ง ซึ่งผลจากการที่มีอาการแบบนี้บ่อยๆ จึงทำให้มีผู้ป่วยหลายคนเกิดความกังวลตามมา เช่น กังวลว่าจะมีอาการขึ้นมาอีก หรือกังวลว่าตัวเองเป็นโรคอะไรบางอย่าง

      ปกติ อาการของโรคแพนิคจะสามารถเกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อไรก็ได้ ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจจะเชื่อมโยงอาการกับสถานที่หรือกิจกรรมบางอย่าง ทำให้ไม่กล้าทำกิจกรรมนั้น หรือไปในสถานที่ที่เคยเกิดอาการ ยกตัวอย่างเช่น บางคนไม่กล้าออกไปไหนข้างนอกคนเดียว เพราะเคยมีอาการตอนออกไปนอกบ้าน จึงกลัวว่าหากเป็นอีกจะไม่มีใครช่วย หรือบางคนไม่กล้านั่ง(ขับ)รถ เพราะครั้งแรกที่มีอาการแพนิคเป็นตอนนั่งรถ เป็นต้น

      ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เวลาที่เกิดอาการแพนิคครั้งแรกๆ มักจะไปโรงพยาบาล โดยมากแล้วมักเป็นห้องฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์ก็จะตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ (ซึ่งถูกต้องแล้ว เพราะโรคแพนิคไม่ใช่โรคหัวใจ) แพทย์จึงอาจจะสรุปไปว่าเกิดจากความเครียด กังวล หรือบางทีก็บอกว่าเป็นโรคประสาทหัวใจ หัวใจอ่อน (ซึ่งฟังแล้วงงกว่าเดิมว่าคืออะไร?) ทำให้พบว่ากว่าจะได้มาพบจิตแพทย์ ผู้ป่วยหลายคนเคยไปรักษาที่ห้องฉุกเฉินมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง และไปตรวจทางด้านโรคหัวใจอีกหลายครั้ง จึงไม่แปลกที่ที่โรงพยาบาลของผู้เขียน เกือบร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคแพนิคจะถูกส่งต่อมาจากแผนกโรคหัวใจอีกที ใกล้เคียงกับผลการศึกษาวิจัยหลายๆ ชิ้นที่พบว่า ร้อยละ 40-50 ของผู้ป่วยโรคแพนิคจะเคยไปรับการตรวจรักษาที่แผนกอื่นมาแล้วหลายครั้งทั้งสิ้น (กว่าจะได้มารักษาถูกแผนก)

การตรวจเพิ่มเติม
     โดยทั่วไปแล้วหากมีอาการแบบโรคแพนิคนี้ แพทย์อาจจะให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูว่ามีเรื่องหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ เพราะอาจจะมีอาการคล้ายภาวะแพนิคได้ กับตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid hormone) เนื่องจากโรคไทรอยด์เป็นพิษก็อาจจะแสดงอาการคล้าย ๆ กับโรคแพนิคได้เช่นกัน 


การรักษา
เวลาที่มีอาการ
     เวลาที่มีอาการแพนิค (อาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจขัด และอื่นๆ นั่นแหละครับ) สิ่งแรกที่ควรทำคือนั่งพัก จากนั้นให้หายใจเข้าออกช้าๆ เหมือนเวลานั่งสมาธิ เพราะว่าหากยิ่งหายใจเร็ว (หายใจสั้น แต่ถี่) จะยิ่งทำให้อาการที่เป็นรุนแรงมากขึ้น โดยทั่วไปถ้าสามารถควบคุมการหายใจได้ (หายใจเข้าออกช้าๆ ยาวๆ) ไม่เกิน 15-20 นาที อาการก็มักจะดีขึ้นเอง ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจะให้ยาสำหรับรับประทานเวลาที่มีอาการมาด้วย ก็สามารถกินยาไปด้วยได้
การรักษาโดยการใช้ยา
โดยทั่วไปแล้วยาที่แพทย์ให้จะมี 2 กลุ่มหลักๆ คือ

     * ยาเพื่อลดอาการ
     ยากลุ่มนี้จะรับประทานเพื่อลดอาการขณะที่เป็น โดยมากแพทย์มักจะให้มารับประทานในช่วงระยะแรกๆ ที่มารับการรักษา เนื่องจากยาที่ป้องกันไม่ให้เป็น (ยาข้อถัดไป) ยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ แต่ยาเพื่อลดอาการจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว จึงให้รับประทานในเวลาที่มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจขัด เพื่อช่วยลดอาการเหล่านี้ และทำให้อาการหายไป (หรือพูดง่ายๆ คือยาในกลุ่มนี้ให้รับประทานเฉพาะเวลามีอาการ ถ้าไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องรับประทาน) ยาที่นิยมใช้ในกลุ่มนี้ได้แก่ Alprazolam และ Clonazepam
     * ยาเพื่อป้องกันและรักษา
     ยาในกลุ่มนี้ถือเป็นยาตัวหลักที่ใช้ในการรักษา ยาจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็น ทำให้ความถี่ในการเกิดอาการแพนิคเป็นน้อยลง และอาการไม่รุนแรงมาก จนค่อยๆ หายไป รวมทั้งช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แต่ยาในกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ถึงจะเริ่มเห็นผล ดังนั้นในอาทิตย์แรกๆ จะยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก แพทย์จึงมักให้รับประทานยาเพื่อลดอาการไปด้วย

      ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยารักษาซึมเศร้า (antidepressant) ซึ่งมีหลายตัว เช่น fluoxetine หรือ sertraline เป็นต้น

      โดยทั่วไปแล้ว ยาเพื่อป้องกันนี้แนะนำให้รับประทานอย่างน้อย 8 เดือน แม้ว่าเมื่อรักษาไปสักเดือนสองเดือนผู้ป่วยอาจจะไม่ค่อยมีอาการแล้วก็ตาม แต่ควรรับประทานยาต่อให้ครบ เพราะจากการศึกษาพบว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดยาเร็ว มักมีอาการกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อย

No comments:

Post a Comment