Sunday, January 20, 2013

หมดไฟ ... "Burnout"


Burnout…หมดไฟ ทำไงจะได้ไปต่อ


นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์
http://www.healthtoday.net/thailand/mental/mental_136.html

    
เคยไหมที่ “รู้สึกเบื่อกับงานถึงขั้นทำไปวันๆ แบบซังกะตาย ไม่อยากพูดจากับใคร หงุดหงิดใส่ทุกคนรอบตัว เจ็บป่วยบ่อยๆ ไม่มีสาเหตุ ไม่อยากไปทำงาน อยากจะเดินออกไปจากที่ทำงานและไม่ต้องกลับมาอีก” ถ้าคุณกำลังประสบกับภาวะเช่นนี้ ก็ควรจะอ่านบทความนี้ครับ เพราะคุณกำลังมีอาการ burnout !!!
     “Burnout” เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ เวลาที่เราคุยหรือบ่นกันเรื่องงาน แต่ในภาษาไทยยังไม่มีคำที่ใช้เรียกอย่างเป็นทางการ บางคนก็เรียกกันว่า “หมดไฟ” ในบทความทางวิชาการบางเล่มใช้คำว่า “ความเหนื่อยล้า” “ความเหนื่อยหน่าย” หรือบางครั้งก็เรียกกันยาวเหยียดว่า “ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน” แต่เพื่อไม่ให้สับสน ในที่นี้ผมจะขอใช้ทับศัพท์ว่า burnout ละกันนะครับ

อาการ burnout
     นิยามของคำว่า Burnout หมายถึง “ความรู้สึกอ่อนล้าทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ อันเกิดจากการที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดเป็นเวลานานๆ”
Maslach นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ให้คำจำกัดความของ burnout ไว้ว่า เป็นกลุ่มอาการที่ประกอบไปด้วยอาการ 3 ด้าน ดังนี้

      1. ความอ่อนล้าทางอารมณ์ (emotional exhaustion) หมายถึง ความรู้สึกเหนื่อยหน่าย หมดกำลังใจ ไม่มีแรงใจในการทำงาน หมดความกระตือรือร้น ซึ่งเป็นอาการเด่นและสังเกตได้ง่ายที่สุดของ burnout

      2. การลดความเป็นบุคคล (depersonalization) หมายถึง มีความรู้สึกในแง่ลบต่อเพื่อนร่วมงานและลูกค้า จนมักทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ดูไม่เต็มใจที่จะบริการลูกค้า (หรือผู้มาติดต่อ) และดูแลลูกค้าแบบแห้งแล้งเหมือนคนไม่มีชีวิตจิตใจ

      3. การลดความสำเร็จส่วนบุคคล (decreased occupational accomplishment) หมายถึง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ และมองตัวเองในแง่ลบ
พบบ่อยแค่ไหน
     จากการศึกษาส่วนใหญ่มักพบได้ประมาณ 15-50% ของคนทำงาน
ผลเสียของการมีภาวะ burnout
     Burnout มีความสำคัญต่อทั้งตัวบุคคลและองค์กร เพราะก่อให้เกิดผลเสียหลายๆ ด้าน โดยในแง่ของร่างกายพบว่า คนที่มีภาวะ burnout จะขาดงานบ่อย มีอัตราการลาป่วยมากกว่าคนทั่วไปถึง 2-7 เท่า โดยโรคที่พบบ่อยได้แก่ ปวดศีรษะ โรคระบบทางเดินอาหาร และไข้หวัด ส่วนในแง่ของอารมณ์ คนที่มีภาวะ burnout มักจะโกรธง่าย ขี้หงุดหงิด มีสีหน้าไม่รับแขก ซึ่งก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งกับผู้ร่วมงานและลูกค้า นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังมักจะแยกตัว ไม่สุงสิงกับผู้ร่วมงาน ไม่มีความกระตืนรือร้นในการทำงาน ขาดความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ๆ จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรแย่ลง และสุดท้ายหากเป็นมากๆ ก็จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ (depressive disorder) หรืออาจจะลาออกหรือเลิกทำงานไปเลย
วงจรของภาวะ burnout
     Freudenberger จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ได้เขียนถึง 12 ขั้นตอนของการเกิด burnout ไว้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้

     1. ระยะพิสูจน์ตนเอง (compulsion to prove oneself) เป็นขั้นตอนแรก โดยคนๆ นั้นจะมีภาพของตัวเองในอุดมคติ มีความทะเยอทะยานต้องการที่จะพิสูจน์ตนเอง จึงเป็นระยะที่ทำงานหนักเพื่อให้เพื่อนร่วมงานตระหนักถึงตนเอง

     2. ระยะทำงานหนัก (working harder) เป็นขั้นที่ทำงานหนัก เพื่อที่จะแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเราเป็นบุคคลที่ไม่สามารถหาคนอื่นมาทดแทนได้ เป็นระยะที่มีความคาดหวังจากการทำงานสูง จึงทำงานหนักและสนใจแต่เรื่องงาน

     3. ระยะไม่ใส่ใจความต้องการของตนเอง (neglecting their needs) การทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างมากเกินไป จนดูเหมือนเป็น “คนบ้างาน” ทำให้คนๆ นั้นเริ่มละเลยความต้องการพื้นฐานของตนเอง เช่น นอนน้อย ทำงานจนดึกดื่น หอบงานไปทำต่อที่บ้าน ไม่ไปเที่ยว ใช้เวลากับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวน้อยลง

     4. ระยะเริ่มเกิดความขัดแย้ง (displacement of conflicts) ในขั้นนี้ คนๆ นั้นจะเริ่มตระหนักแล้วว่าชีวิตของตนเองมันมีบางอย่างที่ “ผิด” ไป แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าคืออะไร คนที่อยู่ในระยะนี้มักจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วยทางกายบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร มีปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

     5. ระยะปรับคุณค่าใหม่ (revision of values) หลังจากเกิดความสับสนในจิตใจ แต่ยังมุ่งหวังที่จะทำงานต่อไป ทำให้คนๆ นั้นพยายามปรับเปลี่ยนมุมมองคุณค่าสำหรับตนเองใหม่ โดยมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ “งาน” เท่านั้น ทำให้ละเลยความต้องการพื้นฐานของร่างกายและความสัมพันธ์อื่นๆ ไปจนหมดสิ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในใจตนเองด้วยการไม่สนใจหรือไม่รับรู้เรื่องอารมณ์

      6. ระยะปฏิเสธไม่รับรู้ปัญหา (denial of emerging problems) ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะเริ่มแสดงอารมณ์บางอย่างออกมาให้เห็น เช่น ขาดความอดทน โกรธง่าย ดูก้าวร้าว มักจะต่อว่าหรือโทษว่าเป็นเพราะงานหรือเพราะคนอื่น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นตัวเองนั่นแหละที่เปลี่ยนแปลงไป ในขั้นนี้จะเริ่มมีอาการทางด้านการลดความเป็นบุคคล (depersonalization) เกิดขึ้น คือ ไม่ค่อยสังคมกับคนอื่น แยกตัวมากขึ้น

      7. ระยะแยกตัว (withdrawal) เป็นขั้นที่คนๆ นั้นจะแยกตัว เข้าสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำงานโดยแทบไม่มีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงานและไม่มีทิศทาง จึงทำงานแบบยึดติดกับกฏหรือคำสั่งอย่างเคร่งครัด เช่น ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือตามกฎเท่านั้น ไม่ทำเกินกว่านั้นแม้ว่าจะทำให้ผลงานดีขึ้นหรือเป็นประโยชน์กับองค์กรก็ตาม

      8. ระยะพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง (obvious behavioral changes) เป็นระยะที่บุคคลภายนอก (เช่น เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว) สามารถสังเกตเห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างชัดเจน จากคนที่เคยแอคทีฟ ร่าเริง มีความสุข กลายเป็นคนเก็บตัว หงุดหงิด ฉุนเฉียว ขี้กลัว ดูทุกข์ และไม่ค่อยดูแลตัวเอง

      9. ระยะขาดความเป็นบุคคล (depersonalization) เป็นระยะที่คนๆ นั้นจะมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองและคนอื่น รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหุ่นยนต์ ทำงานเดิมๆ แบบให้จบไปวันๆ ไม่มองถึงอนาคต และไม่รับรู้ถึงความต้องการของตัวเอง

      10. ระยะว่างเปล่าภายใน (inner emptiness) ในขั้นนี้จะรู้สึกว่าภายในใจตัวเองว่างเปล่า อาจหันเหไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น กินมาก มีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม ดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติด เพื่อช่วยลดความรู้สึกนั้น

      11. ระยะซึมเศร้า (depression) จะมีอาการเหมือนภาวะซึมเศร้าอย่างเต็มที่ เช่น เศร้า ไม่อยากทำอะไร รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไร้ความหวัง ไร้อนาคต ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต และมีอาการทางกายอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย

      12. ระยะ burnout syndrome อย่างเต็มที่ ในระยะนี้คนๆ นั้นมักอยากหนีจากสถานการณ์ที่ประสบอยู่ เช่น คิดจะลาออก หรือบางคนก็หนีไปไม่มาทำงานดื้อๆ ในบางคนที่มีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย โดยที่ในระยะที่ 11-12 เป็นระยะที่ควรไปพบแพทย์และรับการบำบัดรักษา
สาเหตุของการ burnout
     ภาวะ burnout เกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน โดยสามารถแบ่งได้ดังต่อนี้

1. ปัจจัยส่วนบุคคล (individual aspect)
     - ไม่รู้หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญ/คุณค่าของงานที่ทำ
     - มีความคาดหวังที่มากเกินกว่าความเป็นจริง เช่น หวังว่ารายได้จะเยอะกว่านี้ น่าจะประสบความสำเร็จหรือเป็นที่ชื่นชมมากกว่านี้ เป็นต้น การคาดหวังสูงๆ แล้วไม่ได้อย่างที่หวังซ้ำๆ จะเกิดภาวะ burnout ได้ง่าย
     - มีบุคลิกภาพแบบไม่ยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ยาก
     - มีลักษณะนิยมความสมบูรณ์แบบ (perfectionism) เช่น กังวลหมกมุ่นกับความผิดพลาดอย่างมาก และมีมาตรฐานสูงจนเกินไป
     - สถานภาพโสด อันนี้เป็นผลจากการศึกษาที่พบว่าคนโสดจะ burnout มากกว่าผู้ที่มีคู่หรือแต่งงาน

2. ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal aspect)
- ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในหมู่เพื่อนร่วมงาน พูดง่ายๆ คือหากบุคลากรไม่สนิทกันจะเกิด burnout ได้ง่าย
- มีความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน หรือระหว่างลูกน้องกับเจ้านาย

3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (environmental aspect)

     - มีเพื่อนร่วมงานที่ burnout พบว่าหากที่ทำงานเดียวกันมีคน burnout หลายคน คนที่เหลือมีโอกาส burnout ได้ง่าย
     - ค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับงานที่ทำ เช่น ค่าตอบแทนน้อยเกินไป
     - งานที่เคร่งเครียด กดดัน และมีความต้องการสูงในระยะเวลาอันสั้น เช่น แพทย์ที่ต้องตรวจผู้ป่วนมาก ๆ ในเวลาอันสั้น และห้ามตรวจพลาด เป็นต้น
     - งานที่ขาดความมั่นคง และไม่มีความเจริญก้าวหน้า เช่น งานประเภทที่จะถูกเลิกจ้างเมื่อไรก็ไม่รู้ หรือไม่มีโอกาสเติบโตในชีวิตการทำงานเลย
     - ไม่มีคนให้ปรึกษาหรือให้กำลังใจ อันนี้อาจเป็นสาเหตุให้คนโสด ประสบภาวะ burnout มากกว่าคนที่แต่งงานแล้วก็เป็นได้

4. ปัจจัยด้านการบริหารองค์กร (organizational management aspect)
     - ปริมาณงานมากเกินไปแต่ทรัพยากรในการทำงานน้อย เช่น สถานที่ราชการบางแห่ง มีคนมาติดต่อวันหนึ่งจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่มีน้อย แถมอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ก็มีจำกัดหรือสภาพไม่ดี ก็ทำให้เกิด burnout ได้ง่าย
     - ไม่มีเวลาว่าง/ไม่มีวันหยุดพักร้อน ซึ่งทำให้คนเหนื่อยล้าได้ง่าย
     - ไม่สามารถตัดสินใจหรือไม่มีอำนาจในการสั่งการ แต่มีความรับผิดชอบมาก เช่น พนักงานต้อนรับที่แต่ละวันต้องแก้ปัญหาให้กับลูกค้าจำนวนมาก แต่กลับไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ จะทำอะไรก็ต้องขอผู้จัดการก่อนทุกครั้ง
     - ขาดสิ่งจูงใจในการทำงาน หรือมีแต่การตำหนิอย่างเดียว ทำดีไม่ได้ดี หรือทำมากทำน้อยก็ได้ผลตอบแทนเท่ากัน หรือทำดีไม่เคยชมแต่ทำพลาดด่าอย่างเดียว
     - ไม่มีความยุติธรรมในองค์กร เช่น มีการเล่นเส้นเล่นสาย เลือกที่รักมักที่ชัง ประเมินผลงานแบบไม่ยุติธรรม ทำงานดีแต่สู้คนที่ประจบเจ้านายไม่ได้ เป็นต้น
     - มีการบริหารงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เป็นพิธีรีตองมากจนเกินไป ในข้อนี้ใครทำงานหน่วยงานราชการน่าจะเข้าใจง่ายขึ้น เช่น การจะขอหนังสือสักฉบับอาจจะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ใช้เวลาหลายสัปดาห์ ต้องการติดต่อขอพบผู้บริหารระดับสูง อาจจะต้องใช้เวลานัดเป็นเดือน เป็นต้น
     - ค่านิยมองค์กรขัดแย้งกับค่านิยมในใจของบุคคล เช่น ที่ทำงานต้องการเวลามากและอยากให้ทุ่มสุดตัว แต่เจ้าตัวต้องการเวลาว่างให้ครอบครัว เป็นต้น
การแก้ไข
     สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้ก็คือ เรื่อง burnout ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับบุคคลอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องแก้ไขในระดับขององค์กรด้วย เนื่องจาก burnout เป็นภาวะที่เกิดจากความเครียดในที่ทำงาน หากที่ทำงานยังเหมือนเดิมก็คงยากที่ปัญหาจะหายไป ต่อให้คนเก่าลาออกไป คนใหม่ที่เข้ามาก็มีโอกาส burnout ได้สูงอยู่ดี จนบางครั้งกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ต้องเปลี่ยนคนทำงานทุก 1-2 ปี

การแก้ไขในระดับบุคคล
     - สอนให้รู้จักวิธีการปรับตัวที่ดีขึ้น และลดความเครียดจากการทำงาน เช่น รู้จักวิธีแก้ไขเมื่อเกิดความเครียดหรือเบื่อหน่าย รู้จักปรึกษาผู้อื่นเมื่อมีปัญหา
     - ปรับชีวิตให้สมดุล จัดเวลาเพื่อการพักผ่อนอย่างเหมาะสม เช่น มีเวลาออกกำลังกายเป็นประจำ นั่งสมาธิ มีเวลาว่างเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ต้องทำงาน ปีหนึ่งควรมีโอกาสลาพักผ่อนไปเที่ยวบ้าง
     - หากพบว่าเป็นมากจนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
การแก้ไขในระดับองค์กร
     การแก้ไขในระดับองค์กร ก็คือให้แก้ตามสาเหตุของการเกิด burnout (ที่เขียนไว้ด้านบน) อาทิ
     - สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี เช่น ส่งเสริมให้คนในที่ทำงานสนิทสนมกัน เรียนรู้วิธีทำงานร่วมกันเป็นทีม
     - มีช่วงเวลาและระบบการฝึกงานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาทำงานเข้าใจและทำงานได้ ไม่ใช่ให้มาลองผิดลองถูกกันเอาเอง
     - มีรายได้ที่เหมาะสมกันงาน รวมทั้งมีสิ่งจูงใจอื่นๆ เช่น อาจมีรางวัล โบนัส ให้รางวัลพนักงานดีเด่น เป็นต้น
     - ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และเพิ่มทรัพยากรให้เพียงพอกับงาน
     - มีบุคลากรหรือหน่วยงานที่สามารถให้คำปรึกษาได้
     - มีเวลาให้พักผ่อนบ้าง
     - มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้นหรือมีโอกาสเจริญก้าวหน้าในการทำงาน
     - มีการระบุให้ชัดเจนว่างานที่ทำครอบคลุมส่วนใด และต้องทำอะไรบ้าง
     - ปรับปรุงระบบการบริหารงานให้คล่องตัวและรวดเร็ว ไม่ซับซ้อน
     - และสุดท้ายผู้บริหารและองค์กรควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ burnout ด้วย
...........................................................................................................................................................................

เอกสารอ้างอิง
     1. Maslach C, Jackson SE. The measurement of experienced burnout. J Occup Behav. 1981;2:99-113
     2. Schaufeli W,Enzman D. The burnout companion to study & practice :a critical analysis. London, Taylor & Francis,1998
     3. Maslach C, Schaufeli WB, Leiter MP. Job Burnout. Annual Review of Psychology. 2001;52(1):397–422.

No comments:

Post a Comment