Thursday, February 6, 2014

Stalker and Stalking

Stalker and Stalking

(บทความตีพิมพ์ในวารสาร Health Today ประเทศไทย)
           คิดว่าในเดี๋ยวนี้คำว่าสตอร์คเกอร์หรือ stalker (ขอใช้ทับศัพท์น่าจะสะดวกกว่า) นั้นคงเป็นศัพท์ที่ใคร ๆ ก็รู้จักและได้ยิน และคิดว่าหลาย ๆ คนอาจจะเคยมีประสบการณ์ตรงจากการถูกติดตามมาแล้วด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยก็อาจจะได้ยินข่าวที่ว่าดาราบางคนเคยถูกติดตามมาแล้วด้วย

อันดับแรกจะขออธิบายความแตกต่างของคำศัพท์จากพจนานุกรมได้ดังนี้
Stalking เป็นคำนาม แปลได้ว่า การเดินย่องตาม การติดตาม
Stalk เป็นคำกริยา  แปลว่าการติดตาม
Stalker เป็นคำนาม แปลว่า ผู้เดินย่องตาม ผู้ติดตาม



อะไรคือ Stalking
            Stalking คือพฤติกรรมที่มีการรุกรานผู้อื่นซ้ำ ๆ อันทำให้เกิดความกลัวหรือรบกวนต่อผู้อื่น โดยพฤติกรรมที่รุกรานนี้เป็นไปได้ทั้ง การแอบติดตาม ดักรอ แอบดู การพยายามติดต่อด้วยไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์ SMS จดหมาย อีเมล์ การให้ของ การทิ้งโน๊ตให้ หรือกระทั้งการพูดคุยต่อหน้า ในยุคอินเตอร์เน็ตนี้ การรุกรานนั้นเริ่มพัฒนาไปเป็นแนวใหม่ ๆ มากขึ้นเช่น ไปเขียนข้อความให้ใน hi5, face book หรืออื่น ๆ การเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ถูกติดตามไว้ใน blog, web board หรือเขียนส่งไปให้คนอื่น ๆ เป็นต้น

Stalking พบได้บ่อยแค่ไหน
               มีการศึกษาไม่มากเกี่ยวกับเรื่อง stalking แต่ส่วนใหญ่พบว่าพฤติกรรม Stalking นั้นพบได้ไม่น้อย  มีการศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้หญิง 8-22% เคยเจอการ stalking มาแล้ว ในผู้ชายพบน้อยกว่าที่ 2-8% 
โดยส่วนใหญ่นั้นผู้ที่ถูกติดตามจะเป็นผู้หญิง (70-80%) เป็นผู้ชาย 20-30% ในขณะที่ผู้ติดตาม (Stalker) นั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย (80-85%)
            การติดตามนั้นส่วนใหญ่เป็นการติดตามเพศตรงข้ามคือผู้ชายตามผู้หญิง มีแค่ 20-25% เท่านั้นที่ผู้ติดตามและผู้ถูกติดตามเป็นเพศเดียวกันซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชายตามผู้ชาย

ผลกระทบต่อผู้ถูกติดตาม
               โดยพฤติกรรมของการ stalking นั้นเป็นการรุกรานและรบกวนอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ผู้ที่ถูกติดตามมักจะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตไม่มากก็น้อย ทำให้เกิดความกลัว ความระแวง ตื่นตระหนก หงุดหงิด นอนไม่หลับหรือแม้กระทั่งซึมเศร้าได้ ผลกระทบต่อจิตใจนั้นจะมีมากขึ้นเมื่อการติดตามเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน มีการศึกษาหนึ่งพบได้ว่าผู้ที่ถูกติดตาม 44% มีอาการวิตกกังวล 41% มีอาการนอนไม่หลับ 28% มีอาการซึมเศร้า
               นอกจากนี้บางกรณีการรุกรานนั้นยังรุนแรงจนถึงการทำลายข้าวของหรือทำร้ายร่างกายผู้ถูกติดตามได้ได้


การแบ่งประเภทของ Stalker
            มีการแบ่งประเภทของ Stalker หลาย ๆ แบบ เพื่อที่จะสามารถเข้าใจและอธิบายได้ง่าย ในบทความนี้จะแบ่งประเภทของ Stalker ตามแบบของ Mullen ซึ่งแบ่งประเภทของ Stalker เป็น 5 กลุ่มดังนี้

1. ผู้ถูกปฏิเสธ The rejected
            เป็นกลุ่มที่เคยสนิทหรือมีความสัมพันธ์กันมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นอดีตคนรัก บางกรณีก็เป็นเพื่อนสนิทที่แอบรัก พฤติกรรมการติดตามเริ่มจากการถูกปฏิเสธความสัมพันธ์ การบอกเลิก แรงจูงใจของพฤติกรรมติดตามนั้นเกิดจากความต้องการที่จะคืนดีกลับไปเป็นเหมือนเดิม หรือจากความโกรธแค้น หรือทั้งสองอย่างผสมกัน นอกจากนั้นเมื่อติดตามไปได้สักระยะ การติดตามกลายเป็นการชดเชยความสัมพันธ์ที่ขาดหายไป บางครั้งก็กลายเป็นความพึงพอใจที่ได้รุกรานและควบคุมอีกฝ่าย
               โดยส่วนใหญ่กลุ่มนี้ไม่ได้เป็นผู้ที่มีโรคทางจิตเวช แต่อาจมีปัญหาในเรื่องการยึดติดกับคนอื่น self esteem ต่ำ การควบคุมจิตใจตัวเองไม่ดี
               กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการทำร้ายร่างกายผู้ถูกติดตาม และการติดตามมักเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน

2. ผู้แสวงหาความรัก The intimacy seeker
            เป็นกลุ่มที่การติดตามนั้นทำเพื่อความรัก ชักนำด้วยความหวังที่จะสมหวังในความรัก ในกลุ่มนี้ stalker มีได้ตั้งแต่ผู้ถูกติดตามเองไม่รู้จัก stalker เลย จนถึงพอที่จะรู้จักบ้างเช่น ทำงานที่เดียวกัน เคยพบกันบ้าง ในกลุ่มนี้อาจแบ่งได้เป็น
               Private stranger คือ stalker เป็นคนแปลกหน้าที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น เคยเดินเจอกัน ทำงานหรือเรียนที่เดียวกัน
               Public stranger คือ ผู้ถูกติดตามเป็นคนที่พบได้ตามสื่อ ส่วนใหญ่ก็เป็นดารา โดยที่เจ้าตัวเองไม่ได้รู้จักตัว stalker เลยด้วยซ้ำ
               ในกลุ่มนี้นั้น stalker ส่วนหนึ่งเป็นวัยรุ่น ที่เป็นแฟนดาราหรือนักร้องคนนั้นอย่างมาก ๆ ชนิดคลั่งไคล้ จนนำไปสู่พฤติกรรมติดตาม หรือเป็นการตกหลุมรักอย่างมาก ๆ  ในขณะที่อีกส่วนหนึ่ง  เกิดจากโรคทางจิตเวช เช่นโรคจิตเภท (schizophrenia) โรค delusional disorder หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) โดยที่ผู้ติดตามมักมีอาการหลงผิดแบบ erotomanic

3. ผู้ขาดทักษะ The incompetent suitor
               กลุ่มนี้คือผู้ติดตามเพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ โดยความสัมพันธ์ที่ต้องการนี้อาจเป็นได้ทั้งแบบคนรัก หรือแค่แบบเพื่อนธรรมดาก็ได้  โดยผู้ติดตามในกลุ่มนี้จะขาดทักษะในการเข้าสังคมและการสร้างความสัมพันธ์ การติดตามในกลุ่มนี้มักเกิดขึ้นไม่นานก็หายไป มักไม่พบพฤติกรรมรุนแรงหรือการทำร้ายร่างกาย
               โดย stalker ในกลุ่มนี้มักเป็นวัยรุ่นชายที่ดูขี้อาย งก ๆ เงิ่น ๆ  เก้ ๆ กัง ๆ ออกแนวเด็กเนิร์ด ไม่เก่งในการเข้าหาคนเข้าหาสังคม กับอีกพวกหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทางจิตเวชที่ทำให้ทักษะการเข้าสังคมไม่ดี เช่น ไอคิวไม่ดี เป็นกลุ่มโรค autistic โรค Asperger เป็นต้น
โดย stalker ในกลุ่มนี้มักไม่ได้มีความผิดปกติทางจิตแบบหลงผิดแต่อย่างใด

4. ผู้โกรธเคือง The resentful
               กลุ่มนี้แรงจูงใจในการตามเกิดจากการโกรธ เจ็บใจ รู้สึกถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม หรือถูกกลั่นแกล้ง ดูถูก  ทำให้ขายหน้า ต่อมาความโกรธแค้น ก็เปลี่ยนไปเป็นความพอใจ สะใจ รู้สึกตัวเองมีอำนาจ รู้สึกว่าเหนือกว่าอีกฝ่าย จากที่ตัวเองเคยเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ กลั่นแกล้ง การติดตามจะช่วยลดอารมณ์โกรธ ความรู้สึกอยุติธรรมลงไปได้
               ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ stalker ไม่ได้มีโรคทางจิตเวช อาจจะมีบ้างส่วนน้อยที่เกิดจากความหลงผิดแบบหวาดระแวง (paranoid delusion)

5. ผู้ล่า The predator
            กลุ่มนี้คือผู้ที่ทำเพื่อต้องการทำความรุนแรงต่อเหยื่อ หรือต้องการตอบสนองความต้องการทางเพศของตัวเอง แรงจูงใจของการติดตามเริ่มมาจากความอยากรู้จักข้อมูลของอีกฝ่าย ได้ความพอใจจากการลอบแอบดู ความตื่นเต้น ความรู้สึกมีอำนาจเหนือเหยื่อ ความสุขจากการได้วางแผนที่จะลงมือกับเหยื่อ
               กลุ่มนี้มักจะมีความผิดปกติทางจิตใจเป็น ซาดิสต์ (sadistic) หรือ pedophilia (ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก)

ความเสี่ยงของการทำร้ายร่างกาย
               เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการประเมินการติดตามนี้ว่า มีความเสี่ยงที่ stalker จะกระทำรุนแรงต่อผู้ถูกติดตามแค่ไหน การกระทำรุนแรงในที่นี้หมายถึงการทำร้ายร่างกาย โดยพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการทำร้ายร่างกายคือ
  • ลักษณะของความสัมพันธ์ ดังที่กล่าวมาคือ stalker ที่เป็นอดีตคนรัก หรือเพื่อนนั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความรุนแรง โดยพบว่าประมาณ 50% ของ stalker ที่เป็นอดีตคนรักมีการทำร้ายร่างกายร่วมด้วย ในขณะที่ stalker ที่เป็นแค่คนผู้ร่วมงานมีการทำร้ายร่างกายประมาณ 16% ส่วนที่เป็นคนแปลกหน้านั้นทำร้ายร่างการแค่ประมาณ 8%
  • การขู่ การ stalking นั้นบางครั้ง stalker มีการขู่ เช่น ขู่ว่าจะทำร้าย หรืออื่น ๆ กับผู้ถูกติดตาม พบว่าการขู่นั้นเป็นสัญญาณหนึ่งของการก่อความรุนแรง โดยพบว่า ประมาณ 44% ของผู้ที่ถูกขู่ทำร้ายตามมาด้วยการทำร้ายจริง ๆ
  • วิธีการติดตาม พบว่ายิ่งวิธีติดตามที่รุกรานมาก ยิ่งเป็นความเสี่ยงที่ stalker จะทำความรุนแรงกับผู้ถูกติดตาม โดยวิธีที่พบว่ามีความเสี่ยงมากคือ การที่ stalker บุกรุกถึงในบ้านหรือในที่ทำงาน
  • โรคทางจิตเวช เป็นที่เข้าใจผิดกันว่า stalker ที่ก่อความรุนแรงนั้นน่าจะป่วยทางจิต แต่กลับพบว่าโดยทั่วไปแล้ว stalker ที่ไม่ได้เจ็บป่วยทางจิตก่อความรุนแรงต่อเหยื่อมากกว่ากลุ่มที่เจ็บป่วยทางจิต (ยกเว้นกลุ่ม Predator)

เมื่อถูกติดตามควรทำยังไงดี
1. พบแพทย์  หากรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีปัญหาเช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เครียดมาก ซึมเศร้า แบบนี้ควรพบแพทย์ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อย่าปล่อยทิ้งไว้จนเป็นมาก
2. บอกคนอื่นที่ใกล้ชิด เมื่อถูกติดตาม ควรที่จะบอกครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน การบอกคนอื่นเพื่อจุดมุ่งหมายดังนี้
·       เพื่อคนอื่น ๆ จะได้เข้าใจ และให้กำลังใจ
·       เพื่อคนอื่น ๆ จะได้ช่วยระมัดระวัง ดูแล ป้องกันไม่ให้ stalker เข้าถึง หรือเผลอไปช่วย stalker โดยไม่ตั้งใจ เช่น ไม่ต่อโทรศัพท์ให้ ไม่รับฝากโน๊ตหรือของ ไม่บอกว่าผู้ถูกติดตามอยู่ที่ไหน
·       เพื่อคนอื่นจะได้ช่วยในการดูว่า บางครั้งเรากังวลมากเกินไปรึเปล่า
3. ควรหลีกเลี่ยงการติดต่อกับ stalker ไม่พยายามพูดคุย ตอบโต้ใด ๆ เพราะยิ่งจะทำให้การติดตามเป็นมากขึ้น และไม่ควรตอบโต้ด้วยการด่าว่าหรือด้วยความรุนแรง เพราะยิ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการที่ stalker จะก่อความรุนแรงมากขึ้น
4. เพิ่มการรักษาความปลอดภัย เช่น ควรล็อกประตูหน้าต่างให้ดี  ติดไฟเพิ่มความสว่างบริเวณรอบ ๆ บ้าน หลีกเลี่ยงการไปในที่เปลี่ยวคนเดียว เป็นต้น
5. การจัดการด้านกฎหมาย ในเมืองนอกพบว่าวิธีจัดการกับการติดตามที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้อำนาจศาล แบบที่เราคงเคยเห็นในหนังบ่อย ๆ คือห้ามคน ๆ นั้นเข้าใกล้ในรัศมีเท่านั้นเท่านี้ แต่จุดนี้ในประเทศไทยผมก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่ามีการทำมากน้อยเพียงใด แต่ในเมืองนอกนั้นคงเป็นเรื่องที่ไม่ประหลาดมาก เพราะผมเองยังมีคนรู้จักที่เคยขอคำสั่งศาลแบบนี้มาแล้ว
               จุดสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในประเด็นนี้คือ ควรเก็บหลักฐานการติดตามไว้ เช่นจดหมายหรือของที่ส่งมาให้ อัดเสียงการโทรศัพท์ เก็บอีเมล์ที่ส่งมา หรือการถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอการติดตามไว้ เผื่อไว้ในกรณีที่ต้องใช้ในการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป

               อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือผู้ที่เป็น stalker เพราะจำนวนหนึ่งของ stalker เองก็เกิดจากความเจ็บป่วยทางจิต ดังนั้นผู้ปกครองหรือญาติ ๆ หากเห็นลูก ๆ หลาน ๆ หรือคนรู้จักมีพฤติกรรมแบบ stalker ก็ควรเข้าไปดูแลพูดคุย และพามาพบแพทย์เพื่อที่จะรักษาให้หายต่อไป