ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบในโรคอัลไซเมอร์
(Behavioral
and psychological symptoms in Alzheimer’s disease)
โดยปกติแล้วหากพูดถึงโรคอัลไซเมอร์
คนส่วนใหญ่จะนึกถึงอาการหลงลืมเป็นหลัก
แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าอาการของโรคอัลไซเมอร์นั้นมีหลายด้าน ซึ่งอาการด้านที่จะพูดถึงเป็นหลักในบทความนี้คืออาการด้านพฤติกรรมและอาการทางจิต
(รูปจาก Harper L, et al. J Neurol Neurosurg Psychiatry 2014;85:692–698. doi:10.1136/jnnp-2013-306285)
ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบในโรคอัลไซเมอร์
ปัญหาพฤติกรรมแลอาการทางจิตนั้นเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก
จากการศึกษาของผู้เขียน*
พบได้มากกว่า 90% ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
และจากประสบการณ์ในการทำงานพบว่า
ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นญาติไม่ได้พามารักษาเพราะอาการหลงสืม
แต่มักพามาเพราะผู้ป่วยมีปัญหาพฤติกรรมหรืออาการทางจิตมากกว่า
ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบได้บ่อย
ๆ มีดังต่อไปนี้*
อาการหลงผิด (delusion) พบได้ 30-40 %
อาการหูแว่วหรือประสาทหลอน (auditory
hallucination and visual hallucination) พบได้ 20-30 %
ภาวะซึมเศร้า (depression) พบได้ 40-50 %
อาการวิตกกังวล (anxiety) พบได้ 40 %
อาการเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว (apathy) พบได้ 70 %
พฤติกรรมไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ (disinhibition) พบได้30-40 %
อารมณ์หงุดหงิด
โกรธ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย (irritable) พบได้ 40%
พฤติกรรมทำอะไรแปลก
ๆ (aberrant
motor behavior) พบได้ 30-40 %
ปัญหาด้านการนอน (sleep problem) พบได้ 30-50 %
ปัญหาด้านการกิน (Appetite) พบได้ประมาณ 40-50%
อาการหลงผิด (Delusion)
อาการหลงผิด (delusion) พบได้ประมาณ 30% ถึง 40% และมักทำให้เกิดปัญหากับตัวผู้ป่วยเองและญาติได้ได้บ่อย
ๆ
อาการหลงผิดคืออะไร ?
อาการหลงผิด หรือ
delusion นั้น แปลว่า “fixed false belief” นั่นคือ ความเชื่ออย่างผิด ๆ ที่เปลี่ยนไม่ได้
(และไม่มีเหตุผล) ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาการหลงผิดที่พบได้บ่อย
ๆ อาการหวาดระแวง (paranoid) เช่น คิดว่ามีคนมาขโมยของไป
(มักจะเกิดร่วมกับการที่ผู้ป่วยหลงลืม วางของแล้วจำไม่ได้) มีคนจะมาทำร้าย หรือ
สามี/ภรรยาของเขามีชู้หรือนอกใจ เป็นต้น
ตัวอย่าง
มีผู้ป่วยชายอายุประมาณ
65 ปี
อาศัยอยู่กับภรรยา และลูกชาย ลูกสาว
โดยลูกสาวเป็นคนพาบิดามาตรวจเนื่องจากผู้ป่วยระแวงว่าภรรยา (อายุ 65 เท่า ๆ
กัน) นั้นมีอะไรกับคนงานในบ้าน
ระแวงจนไม่ยอมให้ภรรยาอยู่คนเดียว ต้องเดินตามตลอด เมื่อภรรยาไม่อยู่ด้วยก็จะหงุดหงิดตะโกนโวยวายกับคนในบ้านว่าภรรยาไปมีชู้ พยายามค้นข้าวของหาหลักฐานการมีชู้ของภรรยา ผู้ป่วยยังบ่นบ่อย ๆ
ว่ามีคนในบ้านขโมยของของเขา (โดยที่ลูกสาวบอกว่าจริง ๆ ของก็ไม่ได้ไปไหน
ก็วางอยู่ในบ้านนั่นแหละ)
ลูกสาวพยายามที่จะอธิบายว่ามารดาไม่ได้เป็นอย่างนั้น และก็อายุมากขนาดนี้แล้ว แต่ผู้ป่วยเองก็ยังระแวงอยู่ตลอด ไม่ยอมเชื่อ ลูกทุกคนมายืนยันก็ไม่เชื่อ
จนมีอารมณ์หงุดหงิดโวยวายมากขึ้น
ลูกสาวจึงตัดสินใจพาผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์
หลังจากที่แพทย์ได้พูดคุยซักประวัติ
และทำการทดสอบแล้ว พบว่า ผู้ป่วยมีอาการหลงลืมมาประมาณสองปี วางของแล้วจำไม่ได้
จำเรื่องที่พึ่งผ่านมาไม่ได้
แต่ที่บ้านคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนสูงอายุ สรุปวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
ระยะเล็กน้อย (mild dementia) ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาสักระยะหนึ่ง
อาการหลงผิดก็หายไป
อาการหลงผิดอีกอันหนึ่งที่พบได้บ่อย
ๆ และมักทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวก็คือ การคิดว่าคนในบ้านขโมยของ ซึ่งสิ่งนี้ หลาย
ๆ ครั้งถึงกับทำให้เกิดการทะเลาะกัน โดยคนที่หนีไม่พ้นจะถูกผู้ป่วยบอกว่าขโมยของไปก็มักจะเป็นคนที่ดูแลใกล้ชิดที่สุดนั่นแหละ จนลูกหลานที่ดูแลหลายคนเสียใจท้อแท้ เพราะดูแลเหนื่อยยากแทบตาย
แต่ผู้ป่วยกลับไปพูดกับคนอื่นว่าตัวเองขโมยของในบ้านไป ...
สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ สิ่งเหล่านี้เป็นอาการเจ็บป่วย เป็นอาการหนึ่งของโรค ผู้ดูแลต้องเข้าใจ
ไม่ผิดหวังหรือน้อยใจไปกับคำพูดของผู้ป่วย
อาการหูแว่วและประสาทหลอน (auditory
hallucination and visual hallucination)
อาการหูแว่วและประสาทหลอนนั้นพบได้ประมาณ
20%
- 30% ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอาการหูแว่ว
อาการหูแว่วคืออะไร (auditory
hallucination) คืออะไร ?
คือการที่ผู้ป่วยได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง
แต่ผู้ป่วยจะได้ยินเหมือนว่ามีเสียงนั้นจริง ๆ
โดยผู้ป่วยอาจจะเล่าให้ฟังว่ามีใครมาพูดอะไรด้วย
หรือมีท่าทางพูดคนเดียวโดยที่ไม่มีใครอยู่ข้าง ๆ
อาการเห็นภาพหลอน (visual
hallucination)
คืออะไร ?
คือการที่ผู้ป่วยเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง โดยผู้ป่วยอาจเคยพูดว่าเขาเห็นแปลกหน้าในบ้าน
คนที่เสียชีวิตไปแล้ว หรืออาจเป็นสัตว์ สิ่งของก็ได้
อาการทั้งสองอย่างนี้อาจทำให้ผู้ป่วยหวาดกลัว
ตกใจ
หรือบางครั้งทำให้มีปัญหากับญาติได้เพราะญาติเองเถียงกับผู้ป่วยว่ามันไม่มีจริง
ซึ่งทำให้กระตุ้นอารมณ์และพฤติกรรมวุ่นวายของผู้ป่วยได้
อาการหลงผิดและอาการหูแว่วนี้เป็นอาการที่พบได้ในโรคจิตเภท (schizophrenia)
เช่นกัน
ทำให้บ่อยครั้งที่พบว่าญาติหรือแพทย์ทั่วไปเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท
ซึ่งความจริงแล้วผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
ภาวะซึมเศร้า (depression)
ภาวะซึมเศร้า เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม
ประมาณความชุกจากการศึกษาต่างๆ ได้สูงถึงร้อยละ 40-50 ในขณะที่ความชุกของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุทั่วๆไป
พบได้เพียงร้อยละ 1-5 เท่านั้น
ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าจะมี
อารมณ์เศร้าเบื่อไม่อยากที่จะทำอะไร บางครั้งร้องไห้บ่อย ๆ ไม่มีกำลังใจ รู้สึกตัวเองแย่เป็นภาระกับคนอื่น
ท้อแท้ บางครั้งพูดว่าไม่อยากอยู่ อยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย
โดยภาวะซึมเศร้าอาจนำมาก่อนการเกิดภาวะหลงลืม
หรือเกิดภายหลังก็ได้ มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการซึมเศร้าเป็นครั้งแรกหลังอายุ
60 ปี เมื่อติดตามต่อไป 2 ปี ร้อยละ 40 จะมีเริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ตามมาภายหลัง
ภาวะวิตกกังวล (anxiety)
ผู้ป่วยที่มีภาวะวิตกกังวล
จะมีอาการ กังวลเกี่ยวในเรื่องหลาย ๆ เรื่อง เครียด คิดมาก หงุดหงิด
บางครั้งอาจมีอาการใจสั่น ตกใจง่าย
บางคนเมื่อวิตกกังวลหรือกลัว จะพยายามเกาะติดกับผู้ดูแลตลอดไม่ยอมแยก
ไม่ยอมอยู่คนเดียว
อาการเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว (apathy)
ผู้ป่วยจะขาดความสนใจในสิ่งรอบ ๆ
ตัว ไม่มีแรงจูงใจจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ดูเฉยเมยไม่สนใจ
ไม่มีความอยากที่จะทำเริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง เริ่มต้นคุยกับคนอื่นน้อยลง
มีส่วนร่วมกับคนในครอบครัวหรือสังคมน้อยลง ไม่สนใจเพื่อน ๆ
ไม่มีความกระตือรือร้นในสิ่งที่เคยชอบทำมาก่อน ดังที่หลายคนอาจจะเคยเห็นผู้สูงอายุที่ทั้งวันนั่งอยู่กับเก้าอี้ตัวเดิม
นั่งเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร
พฤติกรรมไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ (disinhibition)
ผู้ป่วยจะทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่นเหมือนไม่คิด
เช่น ผู้ป่วยอาจพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักอย่างเหมือนสนิทสนม
พูดเสียงดังหรือก้าวร้าวกับคนอื่นแบบที่ไม่ควรจะพูด หรือพูดเรื่องหยาบคายลามก
หรือมีการแตะเนื้อต้องตัวคนอื่น(แต๊ะอั๋งนั่นแหละครับ)
อย่างไม่เหมาะสม
หรือบางครั้งอาจเห็นการใช้เงินฟุ่มเฟือย เห็นอะไรก็ซื้อเลยไม่สามารถยับยั้งใจตัวเองได้
เป็นต้น
อารมณ์หงุดหงิด
โกรธ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย (irritable)
ผู้ป่วยจะมีอารมณ์หงุดหงิด
โกรธง่าย (กว่านิสัยเดิมที่เคยเป็น) อาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่อดทน
ควบคุมอารมณ์ไม่ได้แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายจากอารมณ์ดีเป็นโมโหได้ในไม่กี่นาที
ผู้ป่วยอาจดูเอาแต่ใจตัวเองมากขึ้นขัดใจไม่ได้ หรือชอบเถียง
พฤติกรรมแปลก ๆ (aberrant motor
behavior)
ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เมื่อมีอาการมาก
ๆ หลาย ๆ คนพบพฤติกรรมแปลก ๆ ได้ เช่นเดินไปเดินมาซ้ำ ๆ โดยไม่มีจุดหมาย
รื้อของออกมาแล้วจัดใหม่แล้วรื้ออีก
หรือเอาของทั้งหมดในบ้านมากองรวมตรงกันกลางห้อง มีการทำอะไรซ้ำ ๆ
เช่นเอาเสื้อมาใส่แล้วถอดแล้วใส่อีก หยิบของมาดูแล้ววางแล้วหยิบมาดูใหม่ บางคนผุดลุกผุดนั่งซ้ำ
ๆ หรือบางคนอาจจะนั่งเล่นนิ้วมือตัวเองได้ทั้งวัน
อีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนพบบ่อย ๆ
คือการผู้ป่วยจะเก็บของต่าง ๆ บางครั้งก็เป็นขยะมาสะสมในบ้าน
บางคนนั้นเก็บถุงพลาสติกมาเก็บสะสมในห้องเป็นหลายร้อยถุงจนรกไปหมด เป็นต้น
ปัญหาด้านการนอน (sleep problem)
ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับในผู้ป่วยสมองเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดสำหรับผู้ดูแลได้อย่างมาก
เพราะทำให้ญาติต้องอดนอนไปด้วย ซึ่งจากตรวจผู้ป่วยในประเทศพบว่าปัญหานี้เองที่มักจะทำให้ญาติต้องพาผู้ป่วยมารับการรักษา
โดยปัญหาการนอนที่พบบ่อย
คือ ผู้ป่วยจะนอนหลับยาก หลับแล้วตื่นกลางดึกแล้วนอนไม่หลับอีก
บางคนตื่นขึ้นมาเดินไปเดินมา หรือในบางคนพบว่าผู้ป่วยตื่นมากลางดึกตีสองแล้วอาบน้ำแต่งตัวไปทำกับข้าวเหมือนว่าเช้าแล้วจนลูก
ๆ หลาน ๆ ตกใจ
ปัญหาด้านการกิน (appetite)
ผู้ป่วยมักจะมีกินน้อยลง
เบื่ออาหาร กินแต่ของซ้ำ ๆ เหมือนเดิมแทบทุกวัน จนบางคนน้ำหนักลดลงหลายกิโล
แต่ในบางคนอาจจะพบปัญหาตรงกันข้ามคือกินมากและกินบ่อยครั้ง กินทุก 2-3 ชั่วโมง
บางครั้งกินไปแล้วก็บอกว่าไม่ได้กิน
จนบางทีพบว่าทำให้ลูกทะเลาะกันเนื่องจากอีกคนหนึ่งเข้าใจว่าลูกที่ดูแลไม่ให้แม่กินข้าว
(แต่จริง ๆ คือให้กิน แต่คนไข้จำไม่ได้)
สรุป
ปัญหาทางพฤติกรรม และทางจิต ที่พบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นพบได้บ่อย
และหลายครั้งเป็นอาการที่เห็นได้ชัดเจนมากกว่าอาการหลงลืมด้วยซ้ำ
โดยปัญหาเหล่านี้จะมีผลกระทบและสร้างความเครียดให้กับครอบครัวและผู้ดูแลได้อย่างมาก
และหลายครั้งมากกว่าตัวอาการความจำเสื่อมด้วยซ้ำ การเข้ารับการรักษาทั้งด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยานั้นจะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นได้
ดังนั้นหากใครสังเกตเห็นว่าญาติที่เป็นผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้
ก็ควรพามารับการปรึกษากับแพทย์ เพื่อจะได้เป็นการหาสาเหตุและให้การช่วยเหลือต่อไป
*
เอกสารอ้างอิง
Phanasathit
Muthita, Charernboon Thammanard, Hemrungrojn S, Tangwongchai S, Phanthumchinda
K. Prevalence of Neuropsychiatric Symptoms in Mild Cognitive Impairment and
Alzheimer’s Disease. In: Mateos R, Engedal K, Franco M, eds. IPA 2010.
Diversity, Collaboration, Dignity/Abstracts of the IPA International Meeting
1st ed. Santiago De Compostela: Universidade De Santiago De Compostela, 2010:
491-492