Saturday, May 3, 2014

อิทธิพลกลุ่มบนสังคมออนไลน์

อิทธิพลกลุ่มบนสังคมออนไลน์



บทความเผยแพร่ในนิตยสาร Health Today 
http://www.healthtoday.net/thailand/mental/mental_153.html

     ยุคนี้เป็นยุคที่ว่ากันว่าเป็นยุคแห่งสังคมออนไลน์ (social network) เกือบทุกคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำ อย่างน้อยคงต้องใช้ social network อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter หรือ web board สักแห่ง จบแทบจะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว เมื่อมีการใช้สังคมออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง ทำให้ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ กลับมาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในสังคมออนไลน์



อิทธิพลกลุ่ม (Group Influence)
     อิทธิพลกลุ่มในภาษาวิชาการที่จริงมีหลายคำที่ใช้ใกล้เคียงกัน เช่น Group/Peer influence หรือ Conformity การศึกษาชื่อดังอันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของอิทธิพลกลุ่ม ที่ไม่คิดว่าจะมีคนทำแต่ก็ทำกันมาแล้ว แถมยังเป็นการศึกษาที่มีการอ้างอิงบ่อยที่สุดอันหนึ่งได้แก่ การทดลองของ Milgram ในปี 1969 วิธีการศึกษาง่ายมากครับ เหล่าผู้วิจัยจะให้คนจำนวนหนึ่งเล่นเป็นหน้าม้า ไปยืนมองหน้าต่างชั้น 6 บนตึกๆ หนึ่งในเมืองนิวยอร์ก แล้วคอยสังเกตดูพฤติกรรมของคนที่เดินผ่านไปผ่านมาแถวนั้น ว่ามีคนที่มาหยุดยืนดูด้วยกี่คน แน่นอนว่าหน้าต่างก็เป็นหน้าต่างธรรมดาไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ผลการศึกษาก็เป็นที่คาดเดาได้เลยครับ ว่าจำนวนคนที่หยุดดูจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนหน้าม้าที่มอง โดยพบว่าถ้ามีหน้าม้ามองคนเดียวคนก็จะหยุดมองตามไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าหน้าม้าเพิ่มเป็น 5 คน คนเดินผ่านไปมาเกินครึ่งหนึ่งจะมองตาม และถ้ามีหน้าม้า 15 คน คนกว่า 85% จะหยุดมองจนคนล้นไปกีดขวางทางจราจร!

      อิทธิพลกลุ่ม แนวคิดแบบพวกมากลากไป หรือแห่ตาม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ในชีวิตประจำวันเราก็พบเห็นได้บ่อยๆ อย่างเช่น เวลาร้านอะไรสักร้านมีคนมุงเยอะๆ เราก็มักเข้าไปมุงด้วย ในสังคมออนไลน์ก็เช่นกัน แถมจากการศึกษาระยะหลังยังดูเหมือนว่าอิทธิพลกลุ่มในสังคมออนไลน์จะรุนแรงและเห็นได้ชัดมากกว่าในชีวิตจริงด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายรูปท่าต่างๆ อย่างแพลงกิ้ง หรือถ่ายรูปคู่กับไอติมที่ช่วงหนึ่งฮิต ก็มีคนทำตามกันอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์

ทำไมคนเราถึงทำตามกลุ่ม?
     1. เพราะคนเราต้องการที่จะได้รับการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ประเด็นนี้ที่จริงเป็นความต้องการ (Need) ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่อยากให้คนอื่นยอมรับและเชื่อมโยงกับคนอื่น ซึ่งใครๆ ก็อยากได้ แต่สิ่งเหล่านี้ยากที่จะได้มาหากเราเล่นสวนกระแสผู้อื่นตลอดเวลา สำหรับในสังคมออนไลน์ที่เราสามารถลบหรือบล๊อคเพื่อนกันได้ง่ายๆ ซึ่งต่างจากชีวิตจริง จึงไม่แปลกเลยที่เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่ามีคนถูกลบออกจากการเป็นเพื่อนเพราะมีทัศนคติบางอย่างไม่ตรงกัน (โดยเฉพาะเรื่องการเมือง) ดังนั้นการทำตัวแตกต่างจากกลุ่มก็มีโอกาสสูงที่จะถูกเพื่อนเลิกเป็นเพื่อน (unfriend) ได้

      2. เพราะเราหลีกเลี่ยงที่จะถูกด่า (หรือวิจารณ์) คนเราทุกคนย่อมไม่อยากโดนด่า และในสังคมออนไลน์ก็เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นที่ที่คนจะปากจัดกว่าในชีวิตจริง เพราะไม่ได้เจอหน้าเจอหน้ากันจึงไม่ค่อยเกรงใจกัน ดังนั้นการโพสอะไรขัดหูขัดตาคนอื่นย่อมไม่พ้นการโดนด่าหรือวิจารณ์

      3. เพราะเราอยากจะทำในสิ่งที่คิดว่าน่าจะถูกต้อง ปัญหาคือบางกรณีเราก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกกันแน่ และวิธีการง่ายที่สุดในกรณีที่เราไม่รู้หรือไม่มั่นใจว่าอะไรดี อะไรถูกต้อง ก็คือทำการตามชาวบ้านไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ความจริงมันอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราขับรถอยู่บนถนนแห่งหนึ่ง แล้วเกิดอยากจอดข้างทาง แต่เราไม่แน่ใจว่าข้างทางตรงนี้มันห้ามจอดรึเปล่า ไม่มีป้ายบอกว่าห้ามจอดหรือไม่ ในกรณีนี้ถ้าเราเห็นว่าด้านหน้าเรามีรถคันอื่นๆ จอดอยู่เราก็มักจะกล้าจอด เพราะเห็นว่าคนอื่นเค้ายังจอดได้เลย ในสังคมออนไลน์เองก็พบได้ เช่น กรณีมีโพสทำนองว่า “นักร้องชายชื่อดังทำผู้หญิงท้องแล้วไม่รับ” แรกๆ หลายคนก็อาจไม่ค่อยแน่ใจว่าจริงรึเปล่านะ ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ ไม่แน่ใจว่าควรคอมเมนท์ว่าไงดี แต่พอดูไปดูมาสักพัก เห็นมีคนโพสด่านักร้องกันมากมาย ทีนี้เราก็เริ่มมั่นใจจนไปโพสด่ากับเขามั่ง 

      4. เพราะเราไม่อยากรู้สึกต่ำต้อยกว่าคนอื่น คนบางคนมักจะรู้สึกแย่ถ้าเราไม่มีในสิ่งที่คนอื่นมีหรือไม่ทำสิ่งที่คนอื่นทำ เราเห็นคนโพสอะไรก็อยากโพสมั่ง ถ้าไม่ทำก็จะรู้สึกเหมือนเราต่ำต้อยกว่าคนอื่นยังไงชอบกล
ที่ผ่านมาเป็นการอธิบายว่าเพราะอะไรคนเราถึงชอบทำตามคนอื่น ถัดมาเราจะมาดูว่าการอยู่กับกลุ่มที่มีความเชื่อคล้ายกันเป็นเวลานานๆ จะเกิดอะไรขึ้น และมีผลเสียยังไง กับปรากฏการณ์ group polarization



Group Polarization
     Group polarization คือปรากฏการณ์ที่เวลาคนเราไปอยู่ในกลุ่มที่มีทัศนคติหรือความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งคล้ายกันมากๆ เราจะยิ่งมีความเห็นหรือการตัดสินใจที่สุดโต่งหรือสุดขั้วมากขึ้นกว่าตอนที่อยู่คนเดียว แรกๆ group polarization มีต้นกำเนิดมาจากเรื่องของความเสี่ยง (risky shift) คือพบว่าเมื่อคนเราอยู่ในกลุ่มที่มีความคิดเหมือนกัน เราจะกล้าเลือกทางเลือกที่เสี่ยงมากขึ้น แต่ภายหลังพบว่ามันสามารถประยุกต์ใช้ได้มากกว่าเรื่องความเสี่ยงอย่างเดียว

      การทดลองหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ได้แก่การทดลองของ Myers และ Bishop ในปี 1970 ทั้งสองคนทำการทดลองโดยให้นักศึกษามาทำแบบประเมินทัศนคติการเหยียดสีผิว แล้วแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีทัศนคติเหยียดสีผิวมาก ปานกลาง และน้อย แล้วให้ทั้งสามกลุ่มทำการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มประเด็นเรื่องเชื้อชาติและสีผิว โดยทำซ้ำๆ กันหลายครั้ง และเมื่อเสร็จสิ้นการพูดคุยแล้ว ก็เอาแต่ละคนมาทำแบบประเมินทัศนคติการเหยียดผิวใหม่อีกที ผลออกมาพบว่า กลุ่มที่เอาคนที่เหยียดผิวมากมารวมตัวกัน หลังคุยเป็นกลุ่มทัศนคติก็ยิ่งแย่กว่าเดิม เหยียดผิวหนักกว่าเดิม ส่วนกลุ่มที่เหยียดผิวน้อยอยู่แล้วก็จะมีทัศนคติที่ดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่อยู่ตรงกลางทัศนคติก็จะพอๆ เดิม การทดลองนี้ได้ข้อสรุปง่ายๆ คือกลุ่มที่ทัศนคติดียิ่งคุยก็ยิ่งดีขึ้น กลุ่มที่ทัศนคติแย่ยิ่งคุยก็ยิ่งแย่ลง นี่คือลักษณะของ Group polarization 

      Group polarization นี้สามารถเห็นชัดที่สุดเวลาเราเข้าไปดูในกลุ่มเกี่ยวกับการเมือง (ที่จริงกลุ่มอื่นก็เกิดได้ครับ เช่น กลุ่มคนรักผลิตภัณฑ์บางอย่าง กลุ่มต่อต้านอะไรสักอย่าง เป็นต้น) จะเห็นได้ว่าความเห็นนั้นมักจะดุเดือด ยิ่งโพสยิ่งรุนแรง เกลียดใครก็ยิ่งเกลียดมากขึ้นเรื่อยๆ และความคิดเห็นก็ไปทางเดียวกันอย่างสุดขั้ว ซึ่งมักจะก่อให้เกิดผลเสียตามมา



ปัญหาของการคิดเป็นกลุ่มหรือได้อิทธิพลกลุ่มมากเกินไป

     1.ไม่มีความคิดสร้างสรรค์หรือคิดต่างจากเดิม (ไม่คิดนอกกรอบของกลุ่ม) 
     2.ไม่มีทางเลือกอื่น หรือมีทางเลือกน้อยมาก 
     3.ไม่มีอิสระทางความคิดของแต่ละคน 
     4. ยิ่งอยู่นานยิ่งคิดแบบสุดโต่ง
     5. เชื่อง่ายโดยไม่มีการหาข้อมูลก่อน หรือลำเอียง (Bias) เชื่อแต่ข้อมูลที่มาจากกลุ่มตัวเอง



รู้ได้อย่างไรว่าเราได้อิทธิพลกลุ่มหรือคิดแบบเป็นกลุ่มมากเกินไปหรือเปล่า?

     Irving Janis ได้เขียนลักษณะของคนที่คิดเป็นกลุ่มมากเกินไปไว้ (ซึ่งผมเอามาดัดแปลงเล็กน้อย) ดังนี้

      กลุ่มที่ 1 ประเมินค่าของกลุ่มมากเกินไป ทั้งในแง่ของอำนาจและศีลธรรม (Overestimations of the group)

      1.1 เชื่อในพลังอำนาจของกลุ่มมากจนเกินไป มองกลุ่มในแง่ดีเกินไปจนนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงๆ

      1.2 ไม่สงสัยในศีลธรรมของกลุ่ม จนทำให้ไม่คิดถึงผลเสียที่อาจจะตามมา

      ตัวอย่างที่ดีในสังคมออนไลน์คือ พฤติกรรมการล่าแม่มดและเสียบประจาน จะเห็นว่าคนในกลุ่มนี้เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ “ดี” “ถูกต้อง” และ “สมควรทำ” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ทำนั้นยอกย้อนในตัวเอง เพราะการเสียบประจานก็เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นและผิดกฎหมายในตัวมันเอง แต่คนในกลุ่มส่วนใหญ่ไม่สงสัยในศีลธรรมหรือความถูกต้องในสิ่งที่ทำ ตรงกันข้ามกลับเชื่อในอำนาจของกลุ่มว่าเปรียบเสมือนศาลที่สามารถตัดสินถูกผิดคนอื่นได้ และมักไม่คิดถึงผลเสียที่อาจจะตามมา เช่น ทำผิดกฎหมายซะเองซึ่งอาจถูกฟ้อง หรืออาจจะถูกเอาคืนด้วยการเสียบประจาน เป็นต้น

      กลุ่มที่ 2 โลกแคบ (Closed-mindedness)

     2 .1 แก้ตัวให้กลุ่มหรือโจมตีคนอื่นที่ขัดแย้งกับความคิดของกลุ่ม โดยไม่สนใจตัวเนื้อหาหรือเหตุผลใด

      2.2 มองว่าคนอื่นที่คิดตรงข้ามว่าอ่อนแอ ชั่วช้า ลำเอียง ปัญญาอ่อน ไร้การศึกษา ฯลฯ (อ่านแล้วคุ้นๆ ไหมครับ)

      กลุ่มที่ 3 กดดันเพื่อให้คิดเหมือนกัน (Pressures toward uniformity)

      3.1 ไม่กล้าแสดงความเห็นที่แตกต่างจากกลุ่ม โดยยอมเซ็นเซอร์ตัวเอง

      3.2 มีภาพลวงตาแห่งการเห็นด้วย เชื่อในการเห็นด้วยของกลุ่มแบบมากเกินจริง จนกระทั่งการไม่ออกความเห็นถูกแปลว่าเป็นการเห็นด้วย เช่น ในกลุ่มมีคนหนึ่งโพสว่า “แม่ง นัง ก. โคตรเลวเลย” แล้วมีบางคนเข้ามาเห็นด้วย ความจริงมีคนจำนวนมากในกลุ่มที่ไม่ได้เข้ามาด่าด้วย แต่ผู้ที่โพสกลับแปลว่าทุกคนในกลุ่มเห็นด้วยทั้งๆ ที่ไม่เป็นจริง

      3.3 ผู้ไม่เห็นด้วยจะถูกกดดันให้กลายเป็น “คนทรยศ” “หักหลัง” หรือ “ไม่ภักดี” ต่อกลุ่ม

      3.4 สมาชิกคอยปกป้องกลุ่มจากการถูกโจมตีด้วยตัวเอง คือไม่มีใครสั่ง ไม่ได้มีการจัดตั้ง ไม่ได้มีตำแหน่งองครักษ์พิทักษ์กลุ่ม แต่รู้และทำการปกป้องกลุ่มหรือความเห็นของคนในกลุ่มด้วยตัวเองอย่างเต็มที่


วิธีป้องกันและแก้ไขการคิดแบบกลุ่มที่มากเกินไป

      1. ผู้นำหรือผู้ทรงอิทธิพลของกลุ่ม ไม่ควรแสดงความเห็นเร็วหรือชี้นำมากเกินไป เพราะจะไม่มีใครกล้าเสนออะไรอีก นอกจากนี้ควรมีการสนับสนุนให้ผู้อื่นได้แสดงความเห็นบ้าง

      2. พยายามคิดอะไรที่ต่างไปจากกลุ่มบ้าง

      3. พูดคุยกับคนอื่นภายนอกกลุ่มเป็นระยะ โดยเฉพาะคนที่คิดต่างจากกลุ่ม

      4. ไม่ประณามคนที่คิดต่างหรือแหกคอกจากกลุ่ม

      5. มีผู้ทำหน้าที่แย้งประจำกลุ่มอย่างน้อยสัก 1 คน (หรือถ้ามีอยู่แล้วก็อย่าพึ่งไปลบเขาออกจากการเป็นเพื่อน) คล้ายๆ ฝ่ายค้าน คอยถามว่า “จริงเหรอ” “มั่นใจได้ไง” “ไม่ผิดเหรอทำแบบนี้” “รู้ได้ไง” เป็นต้น
ถ้าหากอ่านบทความนี้แล้วเริ่มรู้สึกว่ามันตรงกับชีวิตเราหลายข้อเหลือเกิน นี่เป็นสัญญาณว่าเราอาจจะติดและอินกับกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป ดังนั้นจงรีบเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อนที่อาจจะเกิดผลเสียตามมาในอนาคตได้


เอกสารอ้างอิงที่สำคัญ
Janis IL, 1971. Groupthink. Psychology Today, 5: 43-76.
Milgram S, Bickman L, Berkowitz L, 1969. Note on the drawing power of crowds of different size. Journal of Personality and Social Psychology, 13: 79-82.
Myers DG, Bishop GD, 1970. Discussion Effects on Racial Attitudes. Science, 169: 778-779.