Tuesday, July 1, 2014

ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตในโรคอัลไซเมอร์ (BPSD)

ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบในโรคอัลไซเมอร์
(Behavioral and psychological symptoms in Alzheimer’s disease)

            โดยปกติแล้วหากพูดถึงโรคอัลไซเมอร์ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงอาการหลงลืมเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าอาการของโรคอัลไซเมอร์นั้นมีหลายด้าน ซึ่งอาการด้านที่จะพูดถึงเป็นหลักในบทความนี้คืออาการด้านพฤติกรรมและอาการทางจิต


 (รูปจาก Harper L, et al. J Neurol Neurosurg Psychiatry 2014;85:692–698. doi:10.1136/jnnp-2013-306285)


ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบในโรคอัลไซเมอร์
               ปัญหาพฤติกรรมแลอาการทางจิตนั้นเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก จากการศึกษาของผู้เขียน* พบได้มากกว่า 90% ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และจากประสบการณ์ในการทำงานพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นญาติไม่ได้พามารักษาเพราะอาการหลงสืม แต่มักพามาเพราะผู้ป่วยมีปัญหาพฤติกรรมหรืออาการทางจิตมากกว่า

ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบได้บ่อย ๆ มีดังต่อไปนี้*
อาการหลงผิด (delusion) พบได้  30-40 %
อาการหูแว่วหรือประสาทหลอน (auditory hallucination and visual hallucination) พบได้ 20-30 %
ภาวะซึมเศร้า (depression) พบได้  40-50 %
อาการวิตกกังวล (anxiety) พบได้ 40 %
อาการเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว (apathy) พบได้ 70 %
พฤติกรรมไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ (disinhibition) พบได้30-40 %
อารมณ์หงุดหงิด โกรธ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย (irritable) พบได้ 40%
พฤติกรรมทำอะไรแปลก ๆ (aberrant motor behavior) พบได้ 30-40 %
ปัญหาด้านการนอน (sleep problem) พบได้ 30-50 %
ปัญหาด้านการกิน (Appetite)  พบได้ประมาณ 40-50%

อาการหลงผิด (Delusion)
อาการหลงผิด (delusion)  พบได้ประมาณ 30% ถึง 40% และมักทำให้เกิดปัญหากับตัวผู้ป่วยเองและญาติได้ได้บ่อย ๆ 
อาการหลงผิดคืออะไร ?
อาการหลงผิด หรือ delusion นั้น แปลว่า “fixed false belief”  นั่นคือ ความเชื่ออย่างผิด ๆ ที่เปลี่ยนไม่ได้ (และไม่มีเหตุผล)  ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาการหลงผิดที่พบได้บ่อย ๆ  อาการหวาดระแวง (paranoid) เช่น  คิดว่ามีคนมาขโมยของไป (มักจะเกิดร่วมกับการที่ผู้ป่วยหลงลืม วางของแล้วจำไม่ได้) มีคนจะมาทำร้าย หรือ สามี/ภรรยาของเขามีชู้หรือนอกใจ  เป็นต้น

ตัวอย่าง
มีผู้ป่วยชายอายุประมาณ 65 ปี  อาศัยอยู่กับภรรยา และลูกชาย ลูกสาว  โดยลูกสาวเป็นคนพาบิดามาตรวจเนื่องจากผู้ป่วยระแวงว่าภรรยา (อายุ 65 เท่า ๆ กัน) นั้นมีอะไรกับคนงานในบ้าน  ระแวงจนไม่ยอมให้ภรรยาอยู่คนเดียว ต้องเดินตามตลอด เมื่อภรรยาไม่อยู่ด้วยก็จะหงุดหงิดตะโกนโวยวายกับคนในบ้านว่าภรรยาไปมีชู้  พยายามค้นข้าวของหาหลักฐานการมีชู้ของภรรยา  ผู้ป่วยยังบ่นบ่อย ๆ ว่ามีคนในบ้านขโมยของของเขา (โดยที่ลูกสาวบอกว่าจริง ๆ ของก็ไม่ได้ไปไหน ก็วางอยู่ในบ้านนั่นแหละ)  ลูกสาวพยายามที่จะอธิบายว่ามารดาไม่ได้เป็นอย่างนั้น  และก็อายุมากขนาดนี้แล้ว  แต่ผู้ป่วยเองก็ยังระแวงอยู่ตลอด ไม่ยอมเชื่อ ลูกทุกคนมายืนยันก็ไม่เชื่อ จนมีอารมณ์หงุดหงิดโวยวายมากขึ้น  ลูกสาวจึงตัดสินใจพาผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์
หลังจากที่แพทย์ได้พูดคุยซักประวัติ และทำการทดสอบแล้ว พบว่า ผู้ป่วยมีอาการหลงลืมมาประมาณสองปี วางของแล้วจำไม่ได้ จำเรื่องที่พึ่งผ่านมาไม่ได้  แต่ที่บ้านคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนสูงอายุ สรุปวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ระยะเล็กน้อย (mild dementia) ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาสักระยะหนึ่ง อาการหลงผิดก็หายไป
              
อาการหลงผิดอีกอันหนึ่งที่พบได้บ่อย ๆ และมักทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวก็คือ การคิดว่าคนในบ้านขโมยของ ซึ่งสิ่งนี้ หลาย ๆ ครั้งถึงกับทำให้เกิดการทะเลาะกัน  โดยคนที่หนีไม่พ้นจะถูกผู้ป่วยบอกว่าขโมยของไปก็มักจะเป็นคนที่ดูแลใกล้ชิดที่สุดนั่นแหละ  จนลูกหลานที่ดูแลหลายคนเสียใจท้อแท้  เพราะดูแลเหนื่อยยากแทบตาย  แต่ผู้ป่วยกลับไปพูดกับคนอื่นว่าตัวเองขโมยของในบ้านไป ... สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ สิ่งเหล่านี้เป็นอาการเจ็บป่วย เป็นอาการหนึ่งของโรค  ผู้ดูแลต้องเข้าใจ ไม่ผิดหวังหรือน้อยใจไปกับคำพูดของผู้ป่วย

อาการหูแว่วและประสาทหลอน (auditory hallucination and visual hallucination)
อาการหูแว่วและประสาทหลอนนั้นพบได้ประมาณ 20% - 30% ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอาการหูแว่ว
อาการหูแว่วคืออะไร (auditory hallucination) คืออะไร ?
               คือการที่ผู้ป่วยได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง แต่ผู้ป่วยจะได้ยินเหมือนว่ามีเสียงนั้นจริง ๆ  โดยผู้ป่วยอาจจะเล่าให้ฟังว่ามีใครมาพูดอะไรด้วย หรือมีท่าทางพูดคนเดียวโดยที่ไม่มีใครอยู่ข้าง ๆ
อาการเห็นภาพหลอน (visual hallucination) คืออะไร ?
               คือการที่ผู้ป่วยเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง  โดยผู้ป่วยอาจเคยพูดว่าเขาเห็นแปลกหน้าในบ้าน คนที่เสียชีวิตไปแล้ว หรืออาจเป็นสัตว์ สิ่งของก็ได้
               อาการทั้งสองอย่างนี้อาจทำให้ผู้ป่วยหวาดกลัว ตกใจ หรือบางครั้งทำให้มีปัญหากับญาติได้เพราะญาติเองเถียงกับผู้ป่วยว่ามันไม่มีจริง ซึ่งทำให้กระตุ้นอารมณ์และพฤติกรรมวุ่นวายของผู้ป่วยได้

               อาการหลงผิดและอาการหูแว่วนี้เป็นอาการที่พบได้ในโรคจิตเภท (schizophrenia) เช่นกัน ทำให้บ่อยครั้งที่พบว่าญาติหรือแพทย์ทั่วไปเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท ซึ่งความจริงแล้วผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์

ภาวะซึมเศร้า (depression)
ภาวะซึมเศร้า  เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม ประมาณความชุกจากการศึกษาต่างๆ ได้สูงถึงร้อยละ 40-50 ในขณะที่ความชุกของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุทั่วๆไป พบได้เพียงร้อยละ 1-5 เท่านั้น  
ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าจะมี อารมณ์เศร้าเบื่อไม่อยากที่จะทำอะไร บางครั้งร้องไห้บ่อย ๆ  ไม่มีกำลังใจ รู้สึกตัวเองแย่เป็นภาระกับคนอื่น ท้อแท้ บางครั้งพูดว่าไม่อยากอยู่ อยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย
โดยภาวะซึมเศร้าอาจนำมาก่อนการเกิดภาวะหลงลืม หรือเกิดภายหลังก็ได้   มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการซึมเศร้าเป็นครั้งแรกหลังอายุ 60 ปี เมื่อติดตามต่อไป 2 ปี ร้อยละ 40 จะมีเริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ตามมาภายหลัง  

ภาวะวิตกกังวล (anxiety)
               ผู้ป่วยที่มีภาวะวิตกกังวล จะมีอาการ กังวลเกี่ยวในเรื่องหลาย ๆ เรื่อง เครียด คิดมาก หงุดหงิด บางครั้งอาจมีอาการใจสั่น ตกใจง่าย  บางคนเมื่อวิตกกังวลหรือกลัว จะพยายามเกาะติดกับผู้ดูแลตลอดไม่ยอมแยก ไม่ยอมอยู่คนเดียว

อาการเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว (apathy)
               ผู้ป่วยจะขาดความสนใจในสิ่งรอบ ๆ ตัว ไม่มีแรงจูงใจจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ดูเฉยเมยไม่สนใจ ไม่มีความอยากที่จะทำเริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง เริ่มต้นคุยกับคนอื่นน้อยลง มีส่วนร่วมกับคนในครอบครัวหรือสังคมน้อยลง ไม่สนใจเพื่อน ๆ ไม่มีความกระตือรือร้นในสิ่งที่เคยชอบทำมาก่อน  ดังที่หลายคนอาจจะเคยเห็นผู้สูงอายุที่ทั้งวันนั่งอยู่กับเก้าอี้ตัวเดิม นั่งเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร

พฤติกรรมไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ (disinhibition)
            ผู้ป่วยจะทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่นเหมือนไม่คิด เช่น ผู้ป่วยอาจพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักอย่างเหมือนสนิทสนม พูดเสียงดังหรือก้าวร้าวกับคนอื่นแบบที่ไม่ควรจะพูด หรือพูดเรื่องหยาบคายลามก หรือมีการแตะเนื้อต้องตัวคนอื่น(แต๊ะอั๋งนั่นแหละครับ) อย่างไม่เหมาะสม  หรือบางครั้งอาจเห็นการใช้เงินฟุ่มเฟือย เห็นอะไรก็ซื้อเลยไม่สามารถยับยั้งใจตัวเองได้ เป็นต้น

อารมณ์หงุดหงิด โกรธ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย (irritable)
               ผู้ป่วยจะมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย (กว่านิสัยเดิมที่เคยเป็น) อาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่อดทน ควบคุมอารมณ์ไม่ได้แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายจากอารมณ์ดีเป็นโมโหได้ในไม่กี่นาที ผู้ป่วยอาจดูเอาแต่ใจตัวเองมากขึ้นขัดใจไม่ได้ หรือชอบเถียง

พฤติกรรมแปลก ๆ (aberrant motor behavior)
               ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เมื่อมีอาการมาก ๆ หลาย ๆ คนพบพฤติกรรมแปลก ๆ ได้ เช่นเดินไปเดินมาซ้ำ ๆ โดยไม่มีจุดหมาย รื้อของออกมาแล้วจัดใหม่แล้วรื้ออีก หรือเอาของทั้งหมดในบ้านมากองรวมตรงกันกลางห้อง มีการทำอะไรซ้ำ ๆ เช่นเอาเสื้อมาใส่แล้วถอดแล้วใส่อีก หยิบของมาดูแล้ววางแล้วหยิบมาดูใหม่ บางคนผุดลุกผุดนั่งซ้ำ ๆ หรือบางคนอาจจะนั่งเล่นนิ้วมือตัวเองได้ทั้งวัน
               อีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนพบบ่อย ๆ คือการผู้ป่วยจะเก็บของต่าง ๆ บางครั้งก็เป็นขยะมาสะสมในบ้าน บางคนนั้นเก็บถุงพลาสติกมาเก็บสะสมในห้องเป็นหลายร้อยถุงจนรกไปหมด เป็นต้น

ปัญหาด้านการนอน (sleep problem)

ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับในผู้ป่วยสมองเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดสำหรับผู้ดูแลได้อย่างมาก เพราะทำให้ญาติต้องอดนอนไปด้วย  ซึ่งจากตรวจผู้ป่วยในประเทศพบว่าปัญหานี้เองที่มักจะทำให้ญาติต้องพาผู้ป่วยมารับการรักษา
โดยปัญหาการนอนที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยจะนอนหลับยาก หลับแล้วตื่นกลางดึกแล้วนอนไม่หลับอีก บางคนตื่นขึ้นมาเดินไปเดินมา หรือในบางคนพบว่าผู้ป่วยตื่นมากลางดึกตีสองแล้วอาบน้ำแต่งตัวไปทำกับข้าวเหมือนว่าเช้าแล้วจนลูก ๆ หลาน ๆ ตกใจ

ปัญหาด้านการกิน (appetite)
               ผู้ป่วยมักจะมีกินน้อยลง เบื่ออาหาร กินแต่ของซ้ำ ๆ เหมือนเดิมแทบทุกวัน จนบางคนน้ำหนักลดลงหลายกิโล แต่ในบางคนอาจจะพบปัญหาตรงกันข้ามคือกินมากและกินบ่อยครั้ง กินทุก 2-3 ชั่วโมง บางครั้งกินไปแล้วก็บอกว่าไม่ได้กิน จนบางทีพบว่าทำให้ลูกทะเลาะกันเนื่องจากอีกคนหนึ่งเข้าใจว่าลูกที่ดูแลไม่ให้แม่กินข้าว (แต่จริง ๆ คือให้กิน แต่คนไข้จำไม่ได้)

สรุป  ปัญหาทางพฤติกรรม และทางจิต ที่พบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นพบได้บ่อย และหลายครั้งเป็นอาการที่เห็นได้ชัดเจนมากกว่าอาการหลงลืมด้วยซ้ำ โดยปัญหาเหล่านี้จะมีผลกระทบและสร้างความเครียดให้กับครอบครัวและผู้ดูแลได้อย่างมาก และหลายครั้งมากกว่าตัวอาการความจำเสื่อมด้วยซ้ำ   การเข้ารับการรักษาทั้งด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยานั้นจะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นได้ ดังนั้นหากใครสังเกตเห็นว่าญาติที่เป็นผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้ ก็ควรพามารับการปรึกษากับแพทย์ เพื่อจะได้เป็นการหาสาเหตุและให้การช่วยเหลือต่อไป


* เอกสารอ้างอิง Phanasathit Muthita, Charernboon Thammanard, Hemrungrojn S, Tangwongchai S, Phanthumchinda K. Prevalence of Neuropsychiatric Symptoms in Mild Cognitive Impairment and Alzheimer’s Disease. In: Mateos R, Engedal K, Franco M, eds. IPA 2010. Diversity, Collaboration, Dignity/Abstracts of the IPA International Meeting 1st ed. Santiago De Compostela: Universidade De Santiago De Compostela, 2010: 491-492

3 comments:

  1. ขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจในการให้บริการออนไลน์สำหรับการช่วยเหลือเงินกู้ 200,000 ยูโรเพื่อเริ่มต้นครอบครัวของฉันภายใน 24 ชั่วโมงหากคุณสนใจที่จะกู้เงินด่วนในอัตราต่ำติดต่อ Trustloan Online Services ที่: {trustloan88 @ g m a l l. c o m}

    ReplyDelete
  2. Augmented Reality in Healthcare
    Healthcare is a major factor that contributes to a country’s economic growth. Augmented Reality with its ability to blend virtual content to the real world is creating groundbreaking innovation in health sector. It has become a vital tool in not only treatment but also in patient education. UniteAR is the most socialized AR platform which will help you to create Augmented Reality at your finger tips.
    https://www.unitear.com/

    ReplyDelete