Saturday, May 18, 2013

Post Traumatic Stress Disorder (PTSD)


ระวังป่วยทางใจ หลังเกิดภัยร้าย 


นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

     ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า ในปี พ.ศ.2554 มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกมากถึง 9,060 คน บาดเจ็บสาหัส 4,047 คน และบาดเจ็บเล็กน้อยอีกกว่า 17,123 คน ส่วนศูนย์พึ่งได้ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี พ.ศ. 2553 มีผู้หญิงถูกทำร้ายและเข้ารักษาตัวทั้งสิ้น 12,554 คน (หรือเฉลี่ยวันละ 35 คน) ข้อมูลจากแค่สองหน่วยงานก็ชี้ให้เห็นว่า อุบัติเหตุและเหตุการณ์รุนแรงเป็นเรื่องใกล้ตัวเราอย่างมาก ที่สำคัญนอกจากอาการบาดเจ็บทางร่างกายแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังได้รับบาดเจ็บทางด้านจิตใจที่เรียกว่า post traumatic stress disorder (PTSD) ที่ควรได้รับการเยียวยาด้วย

     PTSD เป็นความผิดปกติทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบเหตุการณ์รุนแรง เช่น รถชน ถูกทำร้ายร่างกาย ข่มขืน สงคราม จลาจล หรือภัยธรรมชาติต่างๆ (ลองนึกดูเล่นๆ ครับว่า ถ้าเอาสถิติของทุกอย่างที่กล่าวมารวมกันจะมีผู้ประสบเหตุมากแค่ไหน) ทั้งนี้อาการ PTSD สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการบาดเจ็บทางร่างกายก็ได้ เช่น เดินไปกับเพื่อนสองคน แล้วเพื่อนถูกคู่อริยิงตายต่อหน้าต่อตา ก็สามารถเกิดอาการได้แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ถูกทำร้ายแต่อย่างใด

      ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับภาวะนี้เป็นอย่างมาก โดยผู้ที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงเกือบทุกรายจะถูกส่งไปให้จิตแพทย์ตรวจประเมินร่วมด้วยเสมอ สำหรับในประเทศไทย คงต้องบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักภาวะ PTSD เลย แม้ว่าจะมีการพูดถึงภาวะนี้มากขึ้นอยู่ช่วงหนึ่งภายหลังจากเหตุการณ์สึนามิก็ตาม ทำให้ผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่มักไม่ได้มาพบแพทย์ และต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการนี้แบบตามมีตามเกิด

พบได้บ่อยแค่ไหน 
     โดยเฉลี่ยพบคนที่มีภาวะนี้ได้ 1-3% แต่ความชุกจะค่อนข้างแตกต่างกันไปตามสถานการณ์และประเทศ เช่น ช่วงสงครามจะพบได้เยอะมาก หรือในประเทศที่มีอุบัติเหตุสูง ความปลอดภัยในชีวิตต่ำ ก็จะพบสูงกว่าประเทศที่ค่อนข้างปลอดภัย

      สำหรับในกลุ่มคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงจะพบความชุกของภาวะ PTSD ได้ดังนี้

      - ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรง (เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์) พบในผู้ชาย 25% ผู้หญิง 14%
     - ผู้ที่ถูกทำร้ายด้วยอาวุธ (เช่น ถูกแทง ถูกยิง) พบในผู้ชาย 19%
     - ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง (เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว) พบได้ 19%
     - ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน พบได้ 9%

      โดยภาวะ PTSD สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบเยอะที่สุดในช่วงวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ เหตุผลก็เพราะเป็นวัยที่เสี่ยงที่สุดต่อการเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรม
อาการเป็นอย่างไร 
     อาการของภาวะ PTSD จะแสดงออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

      1. การนึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ (reexperienced) หรือเรียกแบบง่ายๆ ว่า เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกหลอน โดยการตามมาหลอกหลอนนี้จะแสดงออกได้ในสองรูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่

      - ฝันร้าย (nightmares) โดยฝันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น ในผู้ป่วยที่ถูกรถชน ก็อาจจะฝันว่าตัวเองถูกรถชนซ้ำแล้วซ้ำอีก

      - เห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนภาพติดตา (flashbacks) อันนี้ใครดูละครหรือภาพยนตร์บ่อยๆ คงนึกออกว่า เวลาที่ตัวละครนึกถึงอะไรสักอย่างแล้วก็มีภาพเหตุการณ์นั้นโผล่ขึ้นมา อาการนี้ก็จะคล้ายๆ แบบนั้น เช่น ผู้ป่วยคนหนึ่งที่รอดจากเหตุการณ์สึนามิบรรยายว่า บางครั้งจะเห็นภาพคลื่นที่ซัดเข้าหาตัวเอง รวมทั้งภาพที่เพื่อนถูกน้ำพัดหายไปต่อหน้า โผล่ขึ้นมาซ้ำๆ

      2. มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้นหรือสิ่งที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นั้น (avoidance) เป็นพฤติกรรมที่สืบต่อมาจากอาการ reexperienced เพราะการเห็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์จะทำให้นึกถึง หรือเกิด flashbacks มากขึ้นได้ ทำให้ผู้ป่วยจะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งของ สถานการณ์ บุคคลหรือสถานที่ที่ทำให้รู้สึกกลัว เช่น ผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุรถชนจำนวนมากจะไม่สามารถขับรถได้อีก หรือในรายที่เป็นมากๆ บางคนถึงกับไม่สามารถเดินข้ามถนนได้เลย หรือบางกรณี อาการอาจแสดงออกด้วยการจำบางส่วนของเหตุการณ์นั้นไม่ได้ (โดยไม่ได้เกี่ยวกับการบาดเจ็บที่สมอง) ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่ถูกข่มขืน เมื่อรอดมาได้เธอจำเหตุการณ์ขณะที่ถูกข่มขืนไม่ได้เลย เป็นต้น การที่ผู้ป่วยจำเหตุการณ์ไม่ได้นี้เป็นกลไกทางจิตอย่างหนึ่ง เพื่อปกป้องไม่ให้ต้องเผชิญกับความรู้สึกที่รุนแรงและน่ากลัวนั้น

      3. อาการตื่นกลัว (hyperarousal) ผู้ป่วยจะมีอาการนอนไม่หลับ ใจสั่น หงุดหงิด โมโหง่าย ไม่มีสมาธิ ตกใจง่าย สมาธิไม่ดี กลัวอะไรต่างๆ ได้ง่ายกว่าปกติ เช่น บางคนได้ยินเสียงดังก็จะสะดุ้งตกใจทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือแม้แต่ดูภาพยนตร์ที่มีฉากรุนแรงหรือเสียงดังก็ไม่ได้ เป็นต้น


      โดยอาการของโรคมักจะเกิดภายในอาทิตย์แรกหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง แต่บางคนอาจเริ่มมีอาการหลังจากเหตุการณ์รุนแรงผ่านไปแล้วหลายเดือนก็ได้ ส่วนใหญ่จะมีอาการเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษามักจะไม่หาย และอาการมักจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่มีความเครียด

      ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่ประสบเหตุสึนามิคนหนึ่ง เธอเป็นนักศึกษา ไปเที่ยวกับเพื่อนหลายคน ในวันที่เกิดเหตุ ตอนนั้นเธอยืนอยู่ที่ชายหาดกับเพื่อนสองคน เธอเล่าว่า จู่ๆ คลื่นก็ซัดเข้ามาแล้วพัดเอาเพื่อนหายไปต่อหน้าต่อตา เธอเองก็ถูกคลื่นซัดไปด้วย แต่รอดมาได้โดยไม่เป็นอะไร ส่วนเพื่อนที่ไปด้วยเสียชีวิตทั้งหมด

      หลังจากกลับมาบ้าน เธอมีอาการนอนไม่หลับ และฝันว่าจมน้ำบ้าง ถูกคลื่นซัดเข้าใส่บ้าง จนสะดุ้งตื่นเกือบทุกคืน ส่วนเวลากลางวัน แม้แต่เวลานั่งเรียน เธอจะเห็นภาพที่คลื่นกำลังโถมเข้าใส่เธอกับเพื่อนซ้ำๆ วันละหลายๆ รอบ จนกลายเป็นคนกลัวน้ำ แค่เห็นสระว่ายน้ำหรือแม่น้ำก็จะกลัวมากจนใจสั่น ตัวสั่น มือเท้าเย็นไปหมด จนไม่สามารถเข้าใกล้ได้ นอกจากนี้เธอยังมีอาการตกใจง่าย ได้ยินเสียงดังก็จะสะดุ้งตกใจทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็น เรียนหนังสือแย่ลงเพราะไม่มีสมาธิ อ่านหนังสือไม่รู้เรื่องจนเกรดตก แรกๆ เธอก็ไม่ได้รับการรักษา จนเริ่มมีอาการซึมเศร้าเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน และเมื่ออาการโรคซึมเศร้ามีความรุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย จึงมาพบแพทย์

      ภายหลังได้รับการรักษาต่อเนื่องกับจิตแพทย์ เธอก็มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถกลับไปเรียนได้ นอนหลับ ไม่ฝันหรือเห็นภาพซ้ำๆ อีก อาการซึมเศร้าก็หายไป แม้จะไม่กล้าเล่นน้ำทะเลอีก แต่ก็สามารถเดินอยู่ริมหาด หรือนั่งข้างสระว่ายน้ำได้โดยไม่มีอาการใดๆ

ความผิดปกติที่พบร่วม
     ผู้ที่มีอาการ PTSD ควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น เรียนหนังสือไม่ได้ ทำงานแย่ลง ไม่กล้าขับรถ ไม่กล้าออกจากบ้านแล้ว หากไม่รักษาผู้ป่วยมักมีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลตามมาด้วย โดยพบสูงถึง 50% ทีเดียว และจากการศึกษายังพบว่า ผู้ที่มีอาการ PTSD พยายามฆ่าตัวตายมากกว่าคนปกติถึง 14 เท่า


การรักษา
     - สำหรับผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งรักษาเร็วยิ่งมีโอกาสหายเร็ว และได้รับผลการรักษาดี
     - สำหรับบุคคลใกล้ชิด การรับฟัง ปลอบใจและให้กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน
     - การรักษาด้วยยา ยาหลักที่ใช้รักษาคือ ยาต้านเศร้า (antidepressant) ซึ่งจะช่วยลดอาการต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มอาการตื่นกลัว แต่บางครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการกลัวมากหรือนอนไม่หลับ แพทย์อาจให้ยาคลายกังวลร่วมด้วย (anxiolytic)
     - การรักษาโดยการทำจิตบำบัด ในบัจจุบันพบว่าการรักษาด้วยวิธีปรับความนึกคิด (cognitive behavior therapy หรือ CBT) เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีมาก


อ้างอิงและหนังสือสำหรับอ่านประกอบ
     - ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจร จาก: “อุบัติเหตุจราจรทางบกและมูลค่าความเสียหาย ทั่วราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2541 – 2554.” http://social.nesdb.go.th/SocialStat/
     - ข้อมูลสถิติจำนวนผู้หญิงถูกทำร้าย จาก: “ปี 2554 ทุก 1 ชั่วโมง มีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกาย 3 คน”.http://news.voicetv.co.th/infographic/33965.html
     - มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์. จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2540.
     - บุรณี กาญจนถวัลย์, พีรพนธ์ ลือบุญธวัชชัย. พฤติกรรมมนุษย์และความผิดปกติทางจิต, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย, 2547
     - Sadock BJ, Sadock VA. Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry. 10th ed. Philadelphia: Wolter Kluwer/Lippincott Williams & Wilkins; 2007