Sunday, March 25, 2012

การฆ่าตัวตาย (Suicide)



การฆ่าตัวตาย
(Suicide)

เรื่อง: การฆ่าตัวตาย
ตีพิมพ์ใน: นิตยสาร Health Today
Keywords: ฆ่าตัวตาย, ซึมเศร้า,  suicide, depression

"There is not a righteous man on Earth who does what is right and never sins." Ecclesiastes 7:20
“ไม่มีคนชอบธรรมสักคนเดียวบนแผ่นดินโลก ที่ได้ประพฤติแต่สิ่งที่ถูกต้องและไม่กระทำบาปเลย”  ปัญญาจารย์ 7:202x1
6
“ปี 2550 ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 3,458 คน
มีคนพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าสองหมื่นกว่าคน”

                ซึ่งในความเป็นจริงเชื่อว่าตัวเลขน่าจะเยอะกว่านี้เยอะ เพราะมีผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากที่ทำแล้วไม่ได้มาโรงพยาบาล หรือไม่ได้มีการรายงานอย่างตรงไปตรงมาว่าฆ่าตัวตาย เช่น บางคนกินยาเกินขนาดมา ยามีผลทำให้ตับวาย บางครั้งแพทย์ก็อาจจะลงสาเหตุการตายว่าตับวาย โดยไม่ได้ลงว่าฆ่าตัวตาย ในโรงพยาบาลที่ผมทำงานเองเฉลี่ยแล้วก็มีคนพยายามฆ่าตัวตายมาอย่างน้อยวันละ 1-2 คน

                คำว่า “Suicide” นั้นมาจากภาษาลาติน ซึ่งแปลว่า “self-murder” หรือ การฆาตกรรมตัวเอง ในที่นี้จะมีคำศัพท์ที่ใช้บ่อย ๆ เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งขออธิบายไว้ก่อน เพื่อที่อ่านแล้วจะได้ไม่สับสนครับ
การฆ่าตัวตายสำเร็จ (completed suicide) คือ การฆ่าตัวตายซึ่งทำให้ผู้ฆ่าตัวตายเสียชีวิต หรือพูดง่าย ๆ ทำแล้วตายจริง
การพยายามฆ่าตัวตาย (attempted suicide) คือ การที่ผู้กระทำพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ อาจด้วยจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น แพทย์ช่วยไว้ได้ วิธีการนั้นไม่รุนแรงพอทำให้เสียชีวิต เป็นต้น
               
สถานที่ ที่มีคนฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลกคือสะพาน Golden gate ใน San Francisco โดยตั้งแต่สร้างเสร็จที่นี่ที่เดียวมีคนมาฆ่าตัวตายเสียชีวิตแล้วมากกว่า 800 คน



ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย

เพศใดฆ่าตัวตายมากกว่ากัน ?
                พบว่าเพศชายเป็นเพศที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ(คือตายจริง) มากกว่าเพศหญิง 4 เท่า
                แต่ผู้หญิงมีการพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย 4 เท่า คือทำมากกว่า แต่ตายจริงน้อยกว่า   เหตุผลเพราะผู้หญิงมักใช้วิธีการฆ่าตัวตายที่รุนแรงน้อยกว่า คือในผู้ชายมักจะใช้ ใช้ปืนยิง แขวนคอ หรือกระโดดตึก (ซึ่งรุนแรง เมื่อทำแล้วมักจะตายจริง) ในขณะที่ผู้หญิงมักใช้วิธีรุนแรงน้อยกว่า เช่น กินยาเกินขนาด กรีดข้อมือ เป็นต้น


(ภาพ:  Old Man in Sorrow (On the Threshold of Eternity) is emblematic of Vincent van Gogh's suffering in his final months in Auvers-sur-Oise)

อายุไหนฆ่าตัวตายมากกว่ากัน ?
                พบว่าการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มมากขึ้นตามอายุ  โดยอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในเด็กและวัยรุ่นจะน้อยกว่าในวัยผู้ใหญ่ โดยผู้ชายจะพบมากอย่างชัดเจนหลังอายุ 45 ที่จริงแล้วการพยายามฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเองก็เกิดบ่อยมาก แต่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้นน้อยกว่า (คือวัยรุ่นทำบ่อยแต่ตายน้อยกว่า) แต่ในบัจจุบันพบแนวโน้มอัตราการพยายามฆ่าตัวตายในเด็กวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ และเจอได้ในอายุที่น้อยลงเรื่อย ๆ

โสด vs. การแต่งงาน ใครฆ่าตัวตายมากกว่ากัน
                พบว่าการแต่งงานอยู่เป็นครอบครัวนั้นลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะถ้ามีลูก เหมือนที่ผู้ป่วยที่เคยพยายามฆ่าตัวตายหลาย ๆ คนมักจะบอกว่าที่ไม่คิดจะฆ่าตัวตายอีกเพราะคิดถึง”ลูก”
                แต่ในคนโสด รวมถึงคนที่หย่าหรือคนที่เป็นหม้ายนั้นพบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่แต่งงานกว่า 2 เท่า

การทำงาน
                พบว่าการมีงานทำลดอัตราฆ่าตัวตาย และในทางตรงกันข้ามการตกงานนั้นเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตาย  ในแง่ของเศรษฐกิจนั้น ที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดวิกฤตเศษรฐกิจนั้นจะมีคนฆ่าตัวตายมากกว่าช่วงที่เศรษฐกิจดี

สุขภาพทางกาย
                พบว่าสุขภาพทางกายนั้นเป็นปัจจัยอันหนึ่งที่สำคัญมากของการฆ่าตัวตาย
                โดยปัจจัยการป่วยที่สำคัญคือ การเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดการสูญเสียสมรรถภาพถาวร จนทำให้ทำงานหรือทำสิ่งที่ชอบไม่ได้ เช่นเป็นอัมพาต เป็นโรคพาร์คินสัน หรือตาบอดทั้งสองข้างเป็นต้น กับอีกปัจจัยที่สำคัญคือการเจ็บปวดจากการเจ็บป่วยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เป็นมะเร็งแล้วมีอาการปวดอย่างมากจนผู้ป่วยทนไม่ได้

ความสำคัญของความเจ็บป่วยทางจิต
                ความเจ็บป่วยทางจิตเวชเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับการฆ่าตัวตาย โดยพบว่ามากกว่า  90 % ของคนที่พยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น มีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจอยู่ด้วย
โดยจากการศึกษาในผู้ที่ฆ่าตัวตายพบว่า
45-80%                 เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า (depressive disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder)
10-20%                  เป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) 
5%                          นั้นเป็นโรคสมองเสื่อมและภาวะสับสน (delirium)
โดยพบว่า 25 % ของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายนั้นเป็นโรคติดสุรา (alcohol dependence) ร่วมด้วย และยังพบว่าในคนที่ติดสุรานั้น ร้อยละ 15 จะมีการพยายามฆ่าตัวตาย

การพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
                อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือพบว่าในคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น กว่า 20-24 % นั้นเคยมีการพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน (แต่ไม่สำเร็จ) สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า การที่ใครสักคนมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่คนรอบข้างควรใส่ใจ และที่สำคัญคือควรให้คนเหล่านี้มาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำสอง ซ้ำสาม


สาเหตุที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย
ในคนอายุน้อยกว่า 30 ปี แน่นอนว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเครียดนั้น มักเป็นปัญหากับคนใกล้ชิด โดยเฉพาะทะเลาะหรือเลิกกับแฟน อันนี้บ่อยสุด ส่วนกับคนอื่น ๆ เช่น มีปัญหากับพ่อแม่ เป็นต้น ถ้าอายุปลาย ๆ ยี่สิบส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากเรื่องของตกงานหรือความเครียดจากการทำงาน

ในคนอายุมากกว่า 30 ปี สาเหตุที่สำคัญคือ เรื่องของการเจ็บป่วยทางกายที่เรื้อรัง กับปัญหาเรื่องฐานะการเงิน เป็นปัญหาหลัก ๆ

จิตวิทยาของการฆ่าตัวตาย
                ทางจิตวิทยานั้นเชื่อว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายนั้น มีเหตุผลหรือแรงพลักดันในลักษณะที่ต่าง ๆ กันไปดังนี้
1.               การฆ่าตัวตายนั้นนำไปสู่สิ่งชีวิตดีกว่า เช่น มีชาติภพหน้าที่ดีกว่า เป็นอิสระเสรี เป็นต้น
2.               การฆ่าตัวตายนั้นเป็นการลงโทษตัวเอง เช่น เกิดในคนที่รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรผิด เช่น สามีขับรถไปกับภรรยาแล้วรถชน ภรรยาเสียชีวิตแต่ตัวเองรอด ทำให้รู้สึกผิดมากจนอยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น
3.               การฆ่าตัวตายนั้นเป็นเสมือนการแก้แค้นคนที่รัก เช่น ถ้าเธอไม่รักฉัน ฉันจะตายให้ดู (ถ้าฉันตายมันเป็นความผิดของเธอ)
4.               การฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา เช่น มีปัญหาหนี้สิ้นท่วมตัว ไม่รู้จะแก้ไขจัดการยังไงดี เป็นต้น
5.               การฆ่าตัวตายเนื่องจากอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน เช่น ในผู้ป่วยโรคจิตเภทส่วนหนึ่งจะฆ่าตัวตายจากการที่มีหูแว่วมาสั่งให้ฆ่าตัวตาย หรือบางรายอาจมีอาการหวาดระแวงกลัวคนมาทำร้าย ทำให้เครียดมากจนฆ่าตัวตาย เป็นต้น

การป้องกันและสังเกตการพยายามฆ่าตัวตาย
                สิ่งสำคัญคือประชาชนทั่วไปควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช และการฆ่าตัวตายให้มากขึ้น และไม่มองว่าการฆ่าตัวตายเป็นตราบาป (Stigma) เช่นคิดว่าเป็นเรื่องของคนสิ้นคิด หรือคิดว่าเป็นเพียงเรื่องเล่น ๆ 
ถึงแม้ว่าการฆ่าตัวตายนั้นหลายครั้งจะเป็นการยากที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่ก็มีหลายจุดที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ก่อน และสามารถป้องกันหรือให้การรักษาได้ทันท่วงที โดยสิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรถือเป็นเรื่องจริงจัง และจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง
·        พฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย ต้องถือเป็นเรื่องจริงจัง เพราะในชีวิตจริงทุกวันนี้จะพบว่า หลาย ๆ ครั้งของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายนั้น ไม่ได้มาพบแพทย์ ผมเองมีเด็กวัยรุ่นที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาหลายครั้ง แต่ ที่บ้านก็ไม่เคยพามาพบแพทย์เลย จนครั้งหลังสุดทำรุนแรงจริง ๆ จึงพามาพบแพทย์
·        ความเจ็บป่วยทางจิต ดังที่กล่าวข้างต้นว่า การฆ่าตัวตายนั้นสัมพันธ์กับความเจ็บป่วยทางจิตอย่างมาก ดังนั้นหากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจขึ้นมา ก็อย่ารีรอที่จะมาพบแพทย์
·        สัญญาณเตือน (Warning signs) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรสังเกตและให้ความสนใจ โดยพบว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายจะมีสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างออกมาให้คนรอบข้าง เช่น พูดเปรย ๆ ว่า ไม่อยากอยู่ หรือ ครอบครัวจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีตัวเองอยู่ ชีวิตนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว นี่คงเป็นข้าวมื้อสุดท้าย เป็นต้น  หรือมีพฤติกรรมบางอย่างเช่น ซื้อยามาเก็บไว้มาก ๆ ซื้อสารอันตรายที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาเก็บไว้ เขียนจดหมายลาตาย หรือพูดทำนองสั่งเสียกับคนอื่น ๆ เป็นต้น

สิ่งที่ควรทำเมื่อพบผู้ที่สงสัยว่ามีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย
1.               ต้องถือเป็นเรื่องจริงจัง
2.               ให้พูดคุย ซักถามว่าเกิดอะไรขึ้น โดยไม่แสดงท่าทีตำหนิหรือว่ากล่าว
3.               เสนอความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้
4.               เก็บ/เอาสิ่งที่อาจจะใช้ทำร้ายตัวเองออกไปให้หมด
5.              อย่าปล่อยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายอยู่คนเดียวลำพัง
6.              รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากไม่สามารถจัดการได้ หรือสถานการณ์ไม่ดีขึ้น


) "Although the world is full of suffering, it is also full of overcoming it."
Helen Keller 06, "
ถึงแม้นว่าโลกนี้จะเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน แต่มันก็ยังเต็มไปด้วยการได้ชัยชนะต่อสิ่งเหล่านั้น

Saturday, March 17, 2012

สูงวัย เรื่องนอนเรื่องใหญ่


สูงวัย นอนเรื่องใหญ่

การแก้ไขปัญหาการนอนในผู้สูงอายุ
นพ. ธรรมนาถ เจริญบุญ 
ตีพิมพ์ใน นิยสาร Health Today, ส่วนหนึ่งดัดแปลงเป็นแผ่นพับใช้เผยแพร่ในคลินิคจิตเวชผู้สูงอายุ (non-commercial)
Keyword: การนอน, นอนไม่หลับ, หลับยาก, ผู้สูงอายุ, sleep hygeine

                การนอนนั้นเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งของคนเรา และเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่ง  เป็นที่ยอมรับกันว่าคนเราทุกคนต้องนอน และในหลาย ๆ คนการนอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียว นอกจากนั้นการนอนยังถือว่ามีความสำคัญกับเรามาก การนอนที่ไม่พอหรือคุณภาพไม่ดีนั้นจะมีผลทำให้  ง่วง ไม่สดชื่น ไม่มีเรี่ยวแรง หรือแม้กระทั่งสมาธิและความจำจะลดลง และที่สำคัญ การง่วงมาก ๆ นั้นอาจจะนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงหรือเกิดอุบัติเหตุได้
                ธรรมชาติของการนอนในคนทั่ว ๆ ไปส่วนใหญ่ต้องการนอนเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง (ติดต่อกัน ไม่ใช่แยกกันเป็นช่วง ๆ ) แต่ในบางคนอาจจะต้องการมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ สิ่งสำคัญของการดูว่านอนเพียงพอหรือไม่ก็คือการดูว่าตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกสดชื่น สามารถทำการงานต่าง ๆ ได้ตามปกติหรือเปล่า 


สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในการนอนของผู้สูงอายุ
                เป็นเรื่องปกติที่เมื่ออายุมากขึ้นแล้วย่อมจะมีการเสื่อมลงของทั้งร่างกายและสมอง ซึ่งก็จะมีผลทำให้การนอนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน คุณภาพการนอนในผู้สูงอายุนั้นมักจะลดลง โดยทั่วไปแล้วถ้าเทียบกับวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่แล้วสิ่งที่จะเปลี่ยนไปมีดังนี้
¹ ช่วงการหลับลึกจะลดลง คือจะมีช่วงเวลาที่หลับไม่ลึกเยอะขึ้น
¹ ความต่อเนื่องในการนอนลดลง คือจะมีลักษณะหลับ ๆ ตื่น ๆ มากขึ้น ตื่นหลายครั้งต่อคืน มีช่วงเวลาที่ตื่นมากขึ้น
¹ ความไวต่อสิ่งเร้าจะมากขึ้น คือจะตื่นง่าย มีการเปลี่ยนแปลงเช่น ได้ยินเสียงเบา ๆ ก็ตื่นแล้ว หรือเปลี่ยนสถานที่ก็นอนหลับยาก เป็นต้น
¹ การนอนจะเลื่อนเวลามาเร็วขึ้น คือผู้สูงอายุมักจะรู้สึกง่วงเร็วกว่าแต่ก่อน ทำให้เข้านอนเร็ว บางคนกินข้าวเย็นเสร็จก็นอนเลย
¹ ง่วงนอนในช่วงบ่าย คือเมื่ออายุมากขึ้น คุณภาพการนอนลดลงทำให้หลาย ๆ คนง่วงนอนในช่วงบ่าย ๆ

แต่สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นเช่นนี้ทุกอย่างทุกคน บางคนก็อาจจะไม่เป็นก็ได้ และที่สำคัญแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกว่านอนพออยู่และสดชื่นพอสมควร คงมีบางคนเท่านั้นที่รู้สึกนอนไม่พอ


ข้อแนะนำสำหรับผู้สูงอายุที่รู้สึกมีปัญหาเรื่องการนอน
ü ควรตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อที่ร่างกายจะสามารถปรับตัวได้ง่าย และเคยชิน
ü หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรือสารกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ชา กาแฟ หรือยาบางชนิด หรือถ้าอยากจะกินจริง ๆ ก็ไม่ควรกินหลังจากตอนเที่ยง และไม่ควรกินเกิน 1 แก้วต่อวัน
ü ออกกำลังกายให้เหมาะสม  การออกกำลังกายนั้นแล้วแต่คน แล้วแต่ความชอบ และแล้วแต่สภาพร่างกาย การออกกำลังกายนั้นออกตอนเช้าหรือตอนเย็นก็ได้ ยกเว้นแต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนเวลาที่จะนอน เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัวและไม่ง่วง ดังนั้นควรออกกำลังกายก่อนเวลาที่จะนอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
ü หลีกเลี่ยงการนอนในช่วงกลางวัน อย่างที่กล่าวมาคือผู้สูงอายุมักง่วงตอนบ่าย ๆ ยิ่งหลายคนไม่มีอะไรทำ อยู่บ้านเฉย ๆ ทำให้นอนตอนกลางวันเยอะ บางคนกลางวันนอนหลายชั่วโมง ทำให้กลางคืนไม่ง่วงแล้วนอนไม่หลับ ดังนั้นจึงควรงดนอนกลางวัน ให้หากิจกรรมทำแทน หรือถ้าง่วงมากจริง ๆ ก็ไม่ควรนอนเกิน 1 ชั่วโมง และไม่ให้นอนหลังบ่าย 3 ไปแล้ว
ü จัดสภาพห้องนอนให้เหมาะสม เพราะผู้สูงอายุมักจะไวต่อสิ่งเร้า ดังนั้นควรจัดสภาพห้องนอนให้เงียบ มืดเพียงพอ อุณหภูมิเหมาะสม
ü หากเข้านอนแล้วนอนไม่หลับ ไม่ควรฝืนอยู่บนเตียงนาน ๆ โดยไม่หลับ เมื่อรู้สึกว่านอนไม่หลับควรลุกไปทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น อ่านหนังสือธรรมะ สวดมนต์ ฟังเพลงเบา ๆ สักพักเมื่อรู้สึกง่วงแล้วควรกลับมานอนใหม่
ü งดกินอาหารหนักหรือกินน้ำเยอะ ๆ ก่อนนอน 1 ชั่วโมง  เพราะจะทำให้นอนหลับยาก และอาจตื่นมาเข้าห้องน้ำหลายครั้งได้

è การแก้ปัญหาเรื่องการเข้านอนเร็ว  จากประสบการณ์ผู้เขียนพบว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ คือหลาย ๆ คนจะเข้านอนเร็วมาก คือเข้านอน 6 โมงเย็น หรือทุ่มนึง ซึ่งถ้านอนเวลานี้แล้วจะให้ตื่น 6 โมงเช้านั้นจะเรื่องที่ยากมาก เพราะนั่นจะเท่ากับว่านอนต่อกันถึง 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปไม่ค่อยได้ในวัยขนาดนี้ ทำให้ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุเหล่านี้มักจะมาตื่นตอนตี 2 ตี 3 ซึ่งพอตื่นมาเวลานี้ก็ไม่มีอะไรทำ ลุกไปไหนก็ไม่ได้เพราะมืดอยู่ ทำให้ต้องฝืนทนนอนต่อ พอฝืนนอนต่อก็หลับ ๆ ตื่น ๆ
                วิธีแก้คือพยายามเลื่อนเวลานอนออกไปเป็นสัก 3 4 ทุ่ม โดยให้หากิจกรรมทำ เช่นกินข้าวเย็นเสร็จ ให้ดูละครก่อน หรือชวนท่านออกไปเดินแถว ๆ บ้าน หรือออกไปนั่งหน้าบ้านรับแสงยามเย็น เป็นต้น ถ้าอยู่ในบ้าน ก็ให้ใช้แสงช่วย คือเปิดไฟในห้องที่อยู่ให้สว่างมาก ๆ (ถ้าบ้านมืด ๆ ก็อาจต้องติดไฟเพิ่ม หรือเอาโคมไฟมาเปิดช่วย) เพราะยิ่งมืด ฮอร์โมนในสมองก็จะหลั่งสารบางตัวออกมาทำให้ยิ่งง่วง ดังนั้นให้ทำให้ห้องสว่างเข้าไว้ก็จะช่วยได้  

                เหล่านี้คือคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอน แต่ถ้าทำตามที่แนะนำดังกล่าวแล้วยังมีปัญหาเรื่องนอนติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ก็ควรจะมาพบแพทย์เพื่อจะได้ตรวจดูว่ามีความผิดปกติในเรื่องการนอนอื่น ๆ หรือไม่
ควรระมัดระวังในเรื่องการใช้ยานอนหลับในผู้สูงอายุ ไม่ควรซื้อยามากินเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางอย่างมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้ความจำแย่ลง บางตัวใช้นาน ๆ มีผลทำให้ติดได้ หรือบางตัวออกฤทธิ์นานมากทำให้ง่วงทั้งวัน เป็นต้น

ความผิดปกติด้านการนอนที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
                ที่จริงความผิดปกติด้านการนอนนั้นมีหลายอย่าง ในที่นี้จะยกตัวอย่างความผิดปกติบางแบบที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เช่น
·       การหยุดหายใจระหว่างการนอน (sleep apnea) ลักษณะสำคัญคือผู้ป่วยจะมีการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ระหว่างที่นอน มักพบร่วมกับมีอาการนอนกรนเยอะ  ทำให้ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น รู้สึกง่วงนอน บางรายหากการหยุดหายใจนานผู้ป่วยอาจจะสะดุ้งตื่นเพราะเหมือนขาดอากาศ
·       อาการกระสับกระส่ายที่ขา (Restless leg syndrome) ลักษณะสำคัญคือผู้ป่วยจะรู้สึก ขาอยู่ไม่นิ่ง หรือรู้สึกยุบยิบ ๆ คล้ายมีตัวอะไรมาไต่ อยากขยับขา หรือบางรายอาจจะรู้สึกเหมือนชา ๆ แบบเหน็บที่ขา อาการมักจะเป็นในช่วงเวลาเข้านอน มีผลทำให้ให้นอนหลับยาก
·       อาการขากระตุกเป็นช่วง ๆ (Periodic limb movement) ลักษณะสำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีอาการกระตุกที่แขนหรือขาในช่วงที่หลับไปแล้ว บ่อย ๆ หลายครั้งต่อคืน บางครั้งหากการกระตุกเป็นมาก ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยตื่นได้ทำให้ผู้ป่วยตื่นหลายครั้งต่อคืน
·       ความผิดปกติของพฤติกรรมในช่วงการนอนแบบ REM (REM sleep behavior disorder) ในคนปกตินั้นในช่วงของ REM นั้นอาจมีการฝัน แต่ร่างกายจะไม่เคลื่อนไหวไม่มีแรง แต่ในผู้ป่วยภาวะนี้ แขนขาจะยังเคลื่อนไหวได้ ทำให้มีอาการนอนดิ้นหรือละเมออย่างรุนแรง สะบัดแขนหรือขาอย่างมาก ซึ่งจะเป็นผลเนื่องจากการฝัน การดิ้นอย่างรุนแรงทำให้รู้สึกเมื่อย ไม่สดชื่น บางคนดิ้นรุนแรงจะกระแทกกับขอบเตียง ผนัง หรือตกเตียงทำให้บาดเจ็บและตื่นนอนได้
·       นอนไม่หลับจากโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล เพราะในโรคทางจิตเวชหลาย ๆ อย่าง ก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับได้

ปัญหาการนอนในผู้สูงอายุนั้นพบได้บ่อย แต่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้เพราะจะมีผลเสียต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ดังนั้นควรที่จะทำการปรับเปลี่ยน แก้ไขให้ดีขึ้น และถ้าหากไม่ดีขึ้นก็ควรจะไปพบแพทย์ต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุนะครับ

Sunday, March 11, 2012

GID: หญิงข้ามเพศ กับข้อเท็จจริงทางการแพทย์

Disease Management : Gender Identity Disorder ภาวะความไม่พอใจในเพศตัวเอง
Article: นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ
นิตยสาร Health Today
http://www.healthtoday.net/thailand/disease/diisease_118.html
Keywords: GID, Gender identity disorder, หญิงข้ามเพศ, กระเทย, ตุ๊ด, การแพทย์, จิตเวช, จิตวิทยา

    กะเทย ตุ๊ด แต๋ว สาวประเภทสอง และหญิงข้ามเพศ (บางคนบอกว่าบุรุษข้ามเพศน่าจะถูกต้องกว่า) เหล่านี้คงเป็นคำพูดที่เราได้ยินบ่อยๆ และเพิ่งกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อแพทยสภาออกกฎเกี่ยวกับการแปลงเพศออกมา ฉะนั้นเราจะมาเรียนรู้กันดีกว่าว่า ภาวะนี้คืออะไรกันแน่
     ในภาษาการแพทย์ใช้คำเรียกภาวะนี้ว่า gender identity disorder (GID) ขณะที่สมัยก่อนจะใช้คำว่า transsexualism แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้เท่าไรแล้ว ในบทความนี้จึงขอใช้คำว่า GID เป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงคำประเภท ตุ๊ด กะเทย แต๋ว หรือหญิงข้ามเพศ ซึ่งบางคำอาจฟังไม่ไพเราะ และเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน 

พัฒนาการด้านเพศของเด็ก
     โดยปกติจะพบว่า

* อายุ 2-3 ปี เด็กจะเริ่มรู้จักเพศตนเอง บอกเพศตนเอง และผู้อื่นได้
* อายุ 3-5 ปี เริ่มเลียนแบบบทบาททางเพศของพ่อหรือแม่ที่เป็นเพศเดียวกัน
* อายุ 6-12 ปี เริ่มเลียนแบบคนรอบๆ ตัว ต่อมาเริ่มมีกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกัน ส่งเสริมพฤติกรรมกันและกัน
* อายุ 13-18 ปี เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เกิดความรู้สึกทางเพศ รู้ว่าตนเองชอบเพศใด
และโดยปกติแล้วความพอใจทางเพศนี้เมื่อเกิดแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ารักเพศเดียวกันก็เรียกว่ารักร่วมเพศ (homosexuality)

GID คืออะไร
     GID คือ ภาวะที่มีความไม่พอใจในเพศตัวเอง คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นเพศตรงข้าม รังเกียจอวัยวะเพศของตนเอง ทำให้มีความต้องการจะเป็นเพศตรงข้ามเมื่อโตขึ้น ซึ่งก็คือ ผู้ชายอยากจะเป็นผู้หญิง และผู้หญิงอยากจะเป็นผู้ชายนั่นเอง

พบได้บ่อยแค่ไหน ?
     GID จะพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 3-5 เท่า โดยเพศชายพบได้ 1 ใน 30,000 คน ส่วนเพศหญิงพบได้ 1 ใน 100,000 คน

สาเหตุการเกิด GID
     ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ยังไม่มีการศึกษาที่มากพอ เกี่ยวกับเรื่องผลของพันธุกรรมกับ GID มีเพียงบางการศึกษาที่พบว่า พันธุกรรมอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิด GID

      ปัจจัยทางด้านกายภาพ เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ นั่นคือ โดยปกติแล้ว ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในช่วงที่เป็นตัวอ่อน เนื้อเยื่อจะถูกกำหนดมาให้เป็นเพศหญิงไว้ก่อน แต่หากมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (ซึ่งการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจนนั้นถูกกำหนดโดยโครโมโซม Y) เกิดขึ้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนจะทำให้เกิดการพัฒนาและการเจริญของอัณฑะ (testicular development) ทำให้บริเวณอวัยวะเพศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอวัยวะเพศชาย แต่หากไม่มีฮอร์โมนแอนโดรเจนจะทำให้เกิดอวัยวะเพศหญิง พูดง่ายๆ ก็คือ ฮอร์โมนแอนโดเรเจนเป็นฮอร์โมนความเป็นชายนั่นเอง

      นอกจากนี้ฮอร์โมนแอนโดรเจนยังเกี่ยวกับความชอบทางเพศด้วย โดยการมีฮอร์โมนแอนโดรเจนมากทำให้เกิดความชอบต่อเพศหญิง ส่วนการมีฮอร์โมนแอนโดรเจนน้อยทำให้มีความชอบในเพศชาย จากการศึกษาพบว่า การที่มารดามีฮอร์โมนแอนโดรเจนต่ำในช่วงตั้งครรภ์ทำให้เด็กผู้ชายเติบโตมี ลักษณะและพฤติกรรมที่ค่อนไปทางเพศหญิง ในขณะเดียวกันเด็กผู้หญิงที่มีฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงก็จะมีลักษณะและท่าทางออก ไปทางผู้ชาย

      ปัจจัยทางด้านการเลี้ยงดู พบว่าในเรื่องของความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยหากพ่อหรือแม่มีปัญหา มีการใช้ความรุนแรง หรือไม่ใกล้ชิด จะทำให้ลูกเกิดปัญหาทางเพศได้ เช่น เด็กผู้ชายที่พ่อไม่อยู่ หรือพ่อเป็นตัวอย่างไม่ดี เช่น ก้าวร้าว เมาเหล้า ตบตี ก็ทำให้เด็กไม่มีแบบอย่างที่ดีในการเลียนแบบ หรืออาจนำไปสู่การโกรธ เกลียด ไม่พอใจในเพศชาย รวมถึงทำให้เด็กสนิทกับแม่ ซึ่งเป็นเพศหญิง มากจนเกินไป จนทำให้เด็กเลียนแบบแม่แทน

      อีกปัจจัยหนึ่งจากการเลี้ยงดูก็คือ การส่งเสริมหรือยอมรับในพฤติกรรมทางเพศของพ่อแม่ เช่น การที่พ่อแม่ไม่ทำให้เด็กพอใจหรือยอมรับในเพศตัวเอง แต่กลับมีท่าทีหรือทัศนคติบางอย่างที่ทำให้เด็กคิดว่า การทำตัวเป็นเพศตรงข้ามจะทำให้ตัวเองมีคุณค่ามากกว่า รวมไปถึงการที่เด็กแสดงออกผิดเพศแล้วพ่อแม่ไม่แก้ไข เช่น พ่อที่อยากได้ลูกชายมาก เมื่อได้ลูกสาวก็อาจจะชอบที่ลูกเล่นอะไรแบบเด็กผู้ชาย และไม่พยายามห้าม เป็นต้น

ลักษณะอาการเป็นอย่างไร
     แม้ว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจจะสังเกตเห็นความผิดปกติของเด็กที่เป็น GID ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 3-4 ขวบ แต่มักจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเข้าวัยเรียนไปแล้ว
โดยอาการหลักๆ จะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ

- มีความไม่พอใจในเพศตัวเองอย่างมาก
- เอาแบบเพศตรงข้ามอย่างชัดเจนและเป็นตลอดเวลา
- มีความต้องการจะเป็นเพศอื่น

     โดยในเด็กผู้หญิง อาจจะเห็นว่า เด็กชอบที่จะเล่นอะไรแบบผู้ชายมากกว่า เช่น เล่นบอล เล่นต่อสู้ เล่นแรงๆ แทนที่จะเล่นตุ๊กตา เล่นเป็นครอบครัว หรือเล่นทำอาหาร

      ในเด็กผู้ชายจะพบว่า เด็กจะสนใจกิจกรรมแบบผู้หญิงมากกว่า เช่น มีตุ๊กตาเป็นของเล่นชิ้นโปรด มากกว่าสัตว์ประหลาดหรือหุ่นยนต์ต่างๆ เด็กชอบเล่นเป็นครอบครัว (โดยที่มักจะชอบเล่นเป็นแม่) ชอบเล่นกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย หรือบางครั้งอาจจะแต่งตัวหรือใช้เครื่องประดับของผู้หญิง (มักหยิบเอาของแม่หรือพี่สาวมาใส่)

      เด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นมักจะบอกว่า ตัวเองอยากเป็นเพศตรงข้าม เด็กผู้ชายบางคนอาจจะบอกว่า เมื่อโตขึ้นอัณฑะของเขาจะหายไป หรืออาจจะบอกว่า เขาจะมีความสุขกว่านี้หากไม่มีอัณฑะ ส่วนในเด็กผู้หญิงอาจจะบอกว่า ไม่อยากจะมีเต้านม

     เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น คนกลุ่มนี้ต้องการมีชีวิตและถูกปฏิบัติแบบเพศตรงข้าม ต้องการลักษณะทางเพศของเพศตรงข้าม ชอบและอยากที่จะแต่งตัวเป็นเพศตรงข้าม ทำกิจกรรมแบบเพศตรงข้าม รวมถึงมีความคิดว่าตัวเองเกิดมาผิดเพศ (เช่น ผู้ชายที่เป็น GID มักจะบอกว่า รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงที่เกิดมาในร่างผู้ชาย) มักเริ่มอยากที่จะใช้ยา ฮอร์โมน หรือผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกให้เป็นเพศตรงข้าม

      โดยในผู้ชายมักจะกินฮอร์โมนเอสโตเจน (estrogen) โดยอาจจะใช้วิธีกินยาคุมเพื่อให้มีหน้าอก และมีรูปร่างแบบผู้หญิง รวมถึงอาจจะไปจี้หรือเลเซอร์เอาขน หนวด เคราออก ส่วนในผู้หญิงมักเริ่มจากพันผ้าที่หน้าอก (เพื่อให้เหมือนไม่มี) หรืออาจจะสนใจการผ่าตัดเพื่อตัดเต้านม กินฮอร์โมนเพศชายเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ เพื่อให้เสียงเปลี่ยนเป็นแบบผู้ชาย

GID กับ homosexual ต่างกันอย่างไร
สองภาวะนี้มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ใน homosexual (คำในภาษาไทยอาจจะเรียกว่าเกย์ ทอม) นั้น ถึงแม้จะชอบเพศเดียวกัน แต่คนๆ นั้นจะยังมีบทบาทหรือการใช้ชีวิตในแบบเพศของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เกย์ แม้จะชอบผู้ชาย แต่ก็จะยังแต่งตัวแบบผู้ชาย ใช้ชีวิต หรือทำงานแบบผู้ชายได้ และไม่ได้ต้องการเปลี่ยนเพศ เพียงแต่ชอบผู้ชายเท่านั้น ซึ่งจะไม่เหมือนกับ GID ในเพศชาย ที่จะต้องการมีบทบาทหรือใช้ชีวิตแบบเพศหญิง แต่งตัวเป็นผู้หญิง ไว้ผม แต่งหน้า ทำงานแบบที่ผู้หญิงชอบทำ และต้องการที่จะแปลงเพศ

การดำเนินของโรคและอนาคต
     แม้จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการให้เห็นตั้งแต่ตอน 3-4 ขวบ และจะแสดงอาการให้เห็นมากขึ้นตามอายุ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเด็กทุกคนที่มีอาการจะโตขึ้นมาเป็น GID ทุกคน โดยบางส่วนจะโตขึ้นมาเป็น homosexual บางส่วนก็กลับเป็นปกติ และบางส่วนเป็น GID ต่อไป

การรักษา
     ในเด็ก การรักษา GID นั้น หากรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะได้ผลดีกว่า และมีโอกาสหายมากกว่าปล่อยให้มีอาการจนเข้าวัยรุ่น ซึ่งการรักษามักไม่ค่อยได้ผล อย่างไรก็ดี การรักษาตั้งแต่เด็กก็อาจจะได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ดังนั้นไม่ควรคาดหวังว่าจะเปลี่ยนได้ในทุกราย

      สำหรับวิธีการรักษาจะใช้การปรับเรื่องทักษะทางสังคมให้เหมาะสมกับเพศของเด็ก โดยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัว พยายามให้เด็กทำอะไรที่เหมาะกับเพศ ให้อยู่ร่วมกับเพื่อนที่เป็นเพศเดียวกัน ให้พ่อหรือแม่ที่เป็นเพศเดียวกันเข้ามามีส่วนดูแลลูกมากขึ้น (เช่น ลูกชายก็ให้ใกล้ชิดกับพ่อมากขึ้น) เป็นต้น รวมถึงการลดความตึงเครียดในครอบครัว เช่น ไม่ตำหนิหรือด่าว่าเด็กอย่างรุนแรง ส่งเสริมให้เด็กเข้ากลุ่มกับเพศเดียวกันที่โรงเรียน ส่งเสริมการแสดงออกให้เหมาะกับเพศ เช่น เด็กผู้ชายก็คงเหมาะกับการเล่นฟุตบอลมากกว่าแสดงละครเป็นผู้หญิง

      ในวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ มีการพูดกันเล่นๆ ว่า “GID ในเด็กนั้นให้รักษาเด็ก แต่ในวัยรุ่นนั้นให้รักษาพ่อแม่” หมายถึง เมื่อเลยเข้ามาถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่แล้ว มักแก้ไขอะไรที่ตัวเด็กไม่ได้แล้ว และไม่มียาตัวใดหรือการรักษาใดในโลกนี้ที่ทำให้ผู้ป่วยกลับมาชอบเพศตัวเอง ได้ ดังนั้นการรักษา คือ การให้พ่อแม่ทำใจ เข้าใจ และยอมรับในตัวลูกได้ โดยไม่ดุด่า ไม่คาดหวัง ไม่เสียใจกับตัวเด็ก ส่วนการรักษาตัวลูกนั้นมักจะเป็นในแง่ของการช่วยให้ผู้ป่วยเป็นเพศที่เขา อยากจะเป็น และมีชีวิตอยู่อย่างสุขภาพจิตดี

โดยวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ

    * ให้ผู้ป่วยได้ทดลองใช้ชีวิตในแบบเพศตรงข้ามสักระยะหนึ่ง
    * การรักษาด้วยฮอร์โมน (hormone treatment) โดยในผู้ชายจะให้กินฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อให้มีเต้านม มีลักษณะภายนอกไปทางผู้หญิง ซึ่งจากประสบการณ์พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็น GID มักจะใช้วิธีไปซื้อยาคุมกินเอง และกินเป็นจำนวนมาก (บางคนกินเดือนละ 4-8 แผง) ซึ่งค่อนข้างจะเสี่ยงต่ออันตรายจากผลข้างเคียงของยาโดยเฉพาะเมื่อใช้ไปนานๆ ดังนั้นควรจะไปตรวจดูผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนกับแพทย์เป็นระยะๆ เพราะอาจมีผลต่อการทำงานของตับ ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด หรือปัญหาเกี่ยวกับเรื่องหลอดเลือดอุดตันได้ ส่วนในผู้หญิงจะใช้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (testosterone) ด้วยการฉีดทุก 3-4 สัปดาห์ เพื่อช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ และทำให้เสียงเหมือนผู้ชาย รวมถึงมีผลทำให้ไม่มีประจำเดือน ซึ่งควรตรวจกับแพทย์เป็นระยะ เพื่อระวังผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเช่นกัน

       * การผ่าตัดแปลงเพศ (sexual reassignment surgery)
มักเป็นการรักษาขั้นสุดท้าย ในปัจจุบันกำหนดไว้ว่าการผ่าตัดแปลงเพศจะทำได้เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์เท่านั้น หากอายุ 18-20 ปี ต้องมีผู้ปกครองให้การยินยอม โดยผู้ป่วยควรที่จะได้ทดลองใช้ชีวิตในแบบเพศตรงข้ามมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป



---------------------------------------------------------------------------------------------



เปิดพจนานุกรมหาคำแปล ???
ตุ๊ด มีความหมายว่า “ผู้ชายที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศเป็นหญิง”
กะเทย มีความหมายว่า “คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง, คนที่มีจิตใจและกิริยาตรงข้ามกับเพศของตนเอง; ผลไม้ที่เมล็ดลีบ เช่น ลำไยกะเทย.
แต๋ว มีความหมายว่า เรียกผู้ชายที่ทำกริยากระตุ้งกระติ้ง
ส่วนหญิงข้ามเพศ (หรือชายข้ามเพศ) ยังไม่มีการบัญญัติความหมายในพจนานุกรมครับ

Sunday, March 4, 2012

ทำอย่างไรเมื่อต้องหย่าร้าง


บทความเรื่อง "แยกคู่...แต่ครอบครัวไม่สลาย"
นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ

 Keyword: หย่า, หย่าร้าง, ทำอย่างไร, แยกคู่, ครอบครัว, แยกกัน, divorce, family, how to
นิยสาร Health Today
Credit: http://www.healthtoday.net/thailand/mental/mental_109.html


“They will have an ex-husband or ex-wife, 
but children do not have ex-mother or ex-father”

     การหย่าร้างนั้นเป็นวิกฤติอันรุนแรงอย่างหนึ่งในชีวิต ปัจจุบันแนวโน้มการหย่าร้างมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกา มากกว่า 50% ของการแต่งงานสิ้นสุดลงด้วยการหย่าร้าง ประเทศไทยเองอัตราการหย่าร้างก็สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ในปี พ.ศ.2550 มีการจดทะเบียนสมรส 307,910 คู่ แต่มีการหย่าร้าง 100,420 คู่ หรือคิดเป็นกว่า 33% โดยที่ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมคู่สมรสที่แยกกันอยู่โดยยังไม่ได้หย่าขาดกันทาง กฎหมายที่คาดว่าน่าจะมีอีกเป็นจำนวนมาก

      การหย่าร้างนั้นควรจะเป็นหนทางเลือกสุดท้ายจริงๆ ของชีวิตครอบครัว หลังจากที่ทั้งสองคนพยายามร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเต็มที่ แล้ว ใช้เหตุใช้ผลและตัดสินใจอย่างรอบคอบ ไม่ควรจะเกิดจากเพียงอารมณ์ชั่ววูบ โกรธ ประชด น้อยใจ เสียใจ หรือท้าทายกัน อย่างเช่นที่มักได้ยินบ่อยๆ เวลาคู่สามีภรรยาทะเลาะกันว่า “แน่จริงไปหย่ากันเลยไหม”
แต่หากว่าสุดท้ายต้องหย่าร้างกันไปจริงๆ การหย่าร้างก็อาจจะไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว จากการศึกษาพบว่า ในครอบครัวที่มีความขัดแย้งกันอย่างมาก มีการทะเลาะเบาะแว้งกันของพ่อแม่เป็นประจำ จะทำให้เด็กมีความเครียดอย่างรุนแรง และปรับตัวได้ยากกว่าพ่อแม่ที่แยกทางกัน ตรงกันข้ามเมื่อครอบครัวกลุ่มนี้หย่าร้างกันไปแล้วความขัดแย้งสิ้นสุดลง พบว่าเด็กมักจะดีขึ้นและปรับตัวได้มากขึ้น


แยกกันอย่างไร... หัวใจลูกไม่สลาย
     สิ่งที่ไม่ควรทำคือ ไม่ควรดึงลูกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของตัวเอง ที่พบบ่อยๆ คือ

     1. การด่าว่าอีกฝ่ายให้ลูกฟัง พบได้บ่อยในพ่อหรือแม่ที่เจ็บปวดหรือโกรธการกระทำของอีกฝ่าย แล้วระบายความคับข้องใจต่างๆ ให้เด็กฟัง โดยเล่าให้ลูกฟังถึงความไม่ดีของอีกฝ่าย เล่าถึงการนอกใจของพ่อ ความไม่เอาไหนของแม่เหล่านี้เป็นต้น
“แม่บอกผมว่า พ่อไม่รักผมหรอก เพราะพ่อมีเงินเท่าไรก็เอาไปให้นังนั่นหมด” ... เด็กชายคนหนึ่งพูด

      2. การดึงลูกให้เข้ามาเป็นพวกเป็นฝ่ายของตน
อยากให้ลูกอยู่กับตัวเองมากกว่าอีกฝ่าย ไม่อยากให้คุยกับอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบางครั้งถึงกับไม่พอใจที่ลูกไปคุยด้วย ยกตัวอย่างเช่นแม่คนหนึ่งบอกลูกว่า “ถ้าลูกไปคุยกับพ่อ แปลว่าลูกไม่รักแม่”

      3. ทำให้ลูกกลายเป็นตัวกลางระหว่างพ่อแม่ คือพ่อแม่ไม่พูดกันเพราะทะเลาะกันอยู่ เมื่อจะบอกอะไรอีกฝ่ายก็บอกผ่านลูกให้ลูกไปบอกอีกที เช่น พ่อบอกให้ลูกไปบอกแม่ว่า “เสาร์อาทิตย์นี้จะไม่อยู่นะ” พอลูกไปบอกแม่ แม่ก็บอกให้ลูกไปบอกพ่อว่า “เออ จะไปตายที่ไหนก็ไป” เป็นต้น

      4. ไม่ควรบังคับให้เด็กเลือกว่าจะอยู่กับใคร
“ผมทำให้เกิดสงครามในบ้าน เพราะผมบอกแม่ว่าผมอยากอยู่กับพ่อ” ... เด็กชายคนหนึ่งพูด

      ภาพที่ไม่ควรมีเลยคือ การเอาเด็กมายืนตรงกลางระหว่างพ่อแม่ แล้วถามว่า “ลูกตอบสิ ลูกจะอยู่กับใคร” ซึ่งไม่ว่าจะตอบหรือเลือกใครก็ไม่ดีทั้งนั้นสำหรับเด็ก เพราะเด็กเองก็มักจะรู้เหมือนกันว่าฝ่ายที่เขาไม่ได้เลือกย่อมโกรธ ไม่พอใจ เด็กจะรู้สึกผิดอย่างมาก บางคนก็กลัวว่าพ่อหรือแม่ที่เขาไม่ได้เลือกจะเลิกรักเขา

      หากต้องการรู้ว่าเด็กอยากอยู่กับใครมากกว่าอาจจะใช้วิธีการอ้อมๆ เช่น ให้ญาติที่สนิทกับเด็กถามเด็กว่า ชอบอยู่กับใครมากกว่ากัน หรือให้ถามแบบสมมติว่าถ้าพ่อแม่ต้องแยกกันอยู่ อยากอยู่กับใครมากกว่า เป็นต้น

      สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะสร้างความเครียดและทำให้เกิดความขัดแย้งในใจอย่างมาก เพราะสำหรับเด็กแล้ว ไม่ว่าอย่างไรพ่อแม่ย่อมเป็นคนสำคัญของเขาเสมอ (แม้จะดูไม่ดีในสายตาของคู่สามีภรรยาก็ตาม) การที่แม่ด่าพ่อให้เด็กฟัง เด็กจะอึดอัดและทำตัวไม่ถูก หากไม่เห็นด้วยกับแม่ก็เท่ากับทรยศแม่และแม่อาจไม่รัก แต่ถ้าเห็นด้วย ก็เหมือนกับตัวเองยอมรับและมีส่วนว่าพ่อเลวไปด้วย

      เราคงไม่อยากให้เด็กคนหนึ่งโตมาด้วยบาดแผลในใจที่เกลียดพ่อหรือแม่ตัวเอง หรือรู้สึกว่ามีพ่อหรือแม่ก็เหมือนไม่มี เพราะเชื่อว่าลึกๆ ในใจของทุกคนนั้นก็ย่อมรักพ่อและแม่ของตัวเองทั้งนั้น การสร้างความรู้สึกเกลียดชังอีกฝ่ายขึ้นในใจของเด็กนั้นอาจจะนำมาซึ่งความ ทุกข์ทรมานในใจของเด็กไปตลอดชีวิต

      สำหรับพ่อหรือแม่แล้ว หากบางครั้งมีความโกรธ ความอึดอัดคับข้องใจ ควรจะระบายกับเพื่อนสนิท หรือญาติจะเหมาะสมกว่า และยอมรับว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามในส่วนลึกเด็กส่วนมากยังรักและโหยหาพ่อหรือ แม่ของเขาอยู่เสมอ ดังนั้นไม่ควรห้ามไม่ให้ลูกพูดถึงพ่อหรือแม่ที่ห่างออกไป หรือแสดงความไม่พอใจในการที่เขาจะไปไหนด้วยกันบ้าง

      สิ่งที่พ่อและแม่ควรตระหนักก็คือ ปัญหา หย่าร้างเป็นปัญหาของคนสองคน คนที่จะหย่าร้างกันคือสามี ภรรยา ไม่ได้แปลว่าลูกจะต้องหย่าร้างกับพ่อหรือแม่ ชีวิตคู่อาจจะมีอดีตสามีหรืออดีตภรรยาได้ แต่สำหรับเด็กแล้วจะไม่มีอดีตพ่อหรืออดีตแม่ คนเรารักกันได้ ก็มีเลิกกันได้ อาจมีคนรักใหม่ได้ แต่เด็กจะไม่เลิกกับพ่อแม่แล้วไปมีพ่อแม่ใหม



สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับลูก
    พ่อแม่หลายคนคิดว่าไม่จำเป็นต้องบอกเด็กเลยเกี่ยวกับเรื่องหย่าร้าง เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเด็ก หรือบางคนก็กลัวว่าจะทำให้ลูกเสียใจ จึงใช้วิธีไม่บอกแล้วแยกทางกันไปเลยจะดีกว่า ซึ่งความคิดเหล่านี้ไม่ถูกต้อง เพราะเด็กส่วนใหญ่พอจะเข้าใจอะไรได้บ้าง การที่อยู่ๆ พ่อหรือแม่หายไป จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง และทำให้มีปัญหาในการปรับตัวได้มากกว่า

      1. สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องให้ความมั่นใจกับเด็กว่า การที่พ่อแม่แยกกันไม่ได้มีสาเหตุจากลูก ใน เด็กที่ยังอายุไม่มากบางครั้งเด็กจะเข้าใจว่าตัวเองเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อ แม่แยกทางกัน เช่น ทำตัวไม่ดี ได้คะแนนน้อย หรือเพราะตัวเองดื้อเมื่อครั้งก่อน ดังนั้นต้องย้ำในประเด็นนี้ว่า เด็กไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่มีส่วนในการหย่าร้างของพ่อแม่ และทำให้เด็กได้รู้ว่า ถึงแม้พ่อแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้แปลว่าพ่อหรือแม่ไม่รัก

      2. การบอกเด็กทั้งพ่อและแม่ควรร่วมกันพูดคุยเรื่องหย่าร้างกับลูก จะทำให้เด็กปรับตัวได้ดีกว่าในระยะยาว เป้าหมายคือให้ข้อมูลที่เด็กควรต้องรู้ ให้ความมั่นใจเกี่ยวกับอนาคตและเปิดโอกาสให้เด็กได้ถามในสิ่งที่อยากจะรู้
เด็กอาจจะอยากรู้ว่าเพราะอะไรพ่อและแม่ถึงหย่ากัน พ่อแม่ควรตอบโดยกว้างๆ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากจนกลายเป็นการด่าว่าอีกฝ่ายหนึ่ง อธิบายว่าการหย่าร้างนั้นเป็นการตัดสินใจร่วมกันอย่างมีเหตุผล เป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อและแม่นั้นจะยังคงดำเนินต่อไป พ่อและแม่ก็ยังคงเป็นพ่อและแม่ของลูกอย่างเดิม

      3. พยายามรักษาสภาพความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงชีวิตเดิมของลูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในระยะแรก ไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าเมื่อพ่อหรือแม่แยกไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สิ่งนี้ยิ่งจะทำให้เด็กปรับตัวได้ยากขึ้น ดังนั้นหากเด็กยังสามารถเรียนที่โรงเรียนเดิม เจอเพื่อน เจอครูคนเดิม หรือยังได้ดูหนังทุกวันอาทิตย์เหมือนเดิมที่ผ่านมา ก็จะช่วยให้เด็กไม่เครียดมากจนปรับตัวไม่ได้

      4. ปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรักความอบอุ่นเหมือนเดิมที่ผ่านมา ไม่ว่าลูกจะอยู่กับใครก็ตาม แรกๆ เด็กอาจจะมีปฏิกิริยาแปลกๆ หรือแสดงความไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ถ้าพ่อแม่เข้าใจ นิ่ง และปฏิบัติต่อเขาเหมือนเดิม เด็กก็จะค่อยๆ เข้าใจและรู้ได้ว่าเขายังเป็นที่รักเหมือนเดิม

สิ่งที่ต้องเตรียมตัวสำหรับพ่อหรือแม่
     1. เตรียมตัวสำหรับเรื่องเงินทอง โดยปัญหามักจะเกิดเมื่อก่อนที่จะหย่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะฝ่ายหญิง ที่มักไม่ได้ทำงาน ทำให้มีปัญหาในการหาเลี้ยงตัวเองและลูก สิ่งที่ควรทำคือการตกลงกันตามกฎหมาย คือจะมีการให้ค่าเลี้ยงดูเท่าไร แต่ในขณะเดียวกันก็ควรคิดเผื่อหาทางช่วยเหลือตัวเองไปด้วย ในกรณีที่ลูกเข้าโรงเรียนไปแล้ว อาจคิดหางานพิเศษหรืองานประจำทำไปด้วย ต้องเน้นว่าปัญหาเรื่องการเงินนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากอันหนึ่ง ต้องวางแผนให้ดี แรกๆ อาจจะติดต่อขอคำปรึกษาจากญาติๆ หรือเพื่อนฝูงไปด้วย

      2. มั่นใจว่าไม่มีเขาหรือเธอเราก็อยู่ได้ เมื่อหย่าร้างกันใหม่ๆ คนส่วนใหญ่จะรู้สึกคล้ายๆ กันคือ เหมือนว่าอะไรบางอย่างมันหายไปจากชีวิต หลายคนขาดความมั่นใจ ไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตใหม่ลำพังได้ บางครั้งความรู้สึกเหล่านี้ทำให้ไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าหางาน ไม่กล้าเริ่มชีวิตใหม่ เลี้ยงลูกก็ไม่มั่นใจ ดังนั้นอย่าลืมดูแลจิตใจตัวเองให้ดี เพื่อที่จะสามารถเป็นเสาหลักให้กับทั้งตัวเองและลูกได้

      3. ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าการหย่าร้างกำลังจะเกิดหรือเกิดแล้ว เพื่อให้ไม่ต้องเก็บมาคิด มาทำให้ใจหมกมุ่น ระลึกถึงอดีต หรือติดค้างแต่ความคาดหวังในตัวของอดีตสามีหรือภรรยา เพื่อชีวิตจะได้อยู่กับปัจจุบันและพร้อมจะเดินต่อไปข้างหน้า

      4. ภายหลังการหย่าร้างใหม่ๆ บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ตัวเองไร้ค่า ถูกทิ้ง รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่รักของใครๆ ความรู้สึกเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้ หากเกิดขึ้นให้พยายามเข้าใจว่า แท้จริงแล้วการหย่าร้างนั้นไม่ได้แปลว่าเราไม่ดี เราไร้ค่า ไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินคุณค่าของเรา การหย่าร้างนั้นเป็นเพียงการบอกว่า เราสองคนเข้ากันไม่ได้ อยู่แล้วมีปัญหา ไม่มีความสุข การยุติการอยู่ด้วยกันนั้นจะช่วยให้ทั้งสองคนยุติปัญหา และสามารถมีความสุขได้มากขึ้น

      5. ปรับเครือข่ายทางสังคมใหม่ เมื่อเกิดการหย่าร้างสภาพสังคมนั้นย่อมเปลี่ยน จากอยู่กันหลายคน เลิกงานก็กลับบ้านอยู่กับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ หลังหย่าบางคนอาจต้องอยู่คนเดียว บางคนอาจได้อยู่กับลูก ในคนที่อยู่คนเดียวนั้นย่อมรู้สึกแปลกๆ เหงาๆ โหวงเหวงเป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ชิน ดังนั้นอาจจะต้องปรับสังคมใหม่ ควรไปพบปะเพื่อนฝูงหรือญาติๆ ให้มากขึ้น ไปเที่ยวบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เราตระหนักได้ว่า ถึงแม้ไม่มีเขาหรือเธอ แต่เราก็ยังมีคนอื่น

      6. ควรหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ เพื่อลดความรู้สึกเศร้า เหงา เปล่าเปลี่ยว เช่น ไปเรียนหนังสือ เรียนภาษา เล่นเกม เข้าชมรม เล่นกีฬา อ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะได้ไม่ว่างเกินไปแล้ว ยังอาจได้ความรู้ความสามารถมากขึ้น ได้เจอเพื่อนเจอคนใหม่ๆ มากขึ้นไปด้วย

      7. จัดการกับอดีตสามีหรือภรรยาอย่างเหมาะสม นั่นคือแยกกันอย่างสงบ คงความสัมพันธ์ที่ดีในฐานะพ่อของลูกและแม่ของลูก ซึ่งไม่ได้แปลว่าคุณกับเขาต้องสนิทสนมกันเหมือนก่อน แต่ร่วมมือกันเพื่อเลี้ยงลูกให้ได้ดีตามสมควร การหย่าร้างนั้นไม่ใช่สงคราม เราไม่จำเป็นต้องทำลายล้างอีกฝ่ายจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งมีแต่จะยิ่งนำความไม่สงบในใจให้คงอยู่ไปเรื่อย ๆ

      8. อย่ารีบหาใครมาทดแทนคนรักเดิม หลังจากที่แยกกันใหม่ๆ ยามเหงา เศร้า อารมณ์ไม่ปกติ บางครั้งจะทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ดี ทำให้บางครั้งเลือกคนที่ไม่ค่อยเหมาะสม ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้แทนที่จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น กลายเป็นไปเอามาทำให้เกิดแผลในใจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
     

          สุดท้าย ความตึงเครียดที่เกิดจากการหย่าร้างพบได้ในทุกๆ ครอบครัว และมักก่อให้เกิดความยากลำบากสำหรับเด็กทุกคน สิ่ง สำคัญที่พ่อและแม่ควรจะต้องพิจารณาก่อนการหย่าร้างคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เด็กมีบาดแผลในใจน้อยที่สุด มีการปรับตัวและพัฒนาการเป็นไปอย่างเหมาะสม ทำให้เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามวัย อย่างเท่าที่เด็กคนหนึ่งพึงจะมี อย่าให้ถึงกับว่า หย่าแล้ว หัวใจ(ลูก)แตกสลาย ครอบครัวพังพินาศเลย

Saturday, March 3, 2012

 Neurobic Exercise 
บริหารสมองให้แข็งแรง


ชื่อเรื่อง : Neurobic Exercise บริหารสมอง ให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม
Article : นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ
http://www.healthtodaythailand.com/
 Key words:  Neurobic exercise, บริหาร, สมอง, สมองเสื่อม

         ความ ฟิตแอนด์เฟิร์มไม่ใช่แค่เรื่องของร่างกายที่จับต้องได้ หรือมองด้วยตาเปล่าเห็นเท่านั้น เพราะสมองก็ต้องการความฟิตแอนด์เฟิร์มด้วย เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะหลงลืมอวัยวะสำคัญส่วนนี้ไป ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้นละก็คงอยู่เฉยไม่ได้แล้ว

          ความเชื่อเดิมๆ ในอดีต (สมัยที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม) บอกว่า สมองของคนเราจะพัฒนาจนสมบูรณ์เมื่อเรามีอายุ 5-6 ขวบ หลังจากนั้นเซลล์ประสาทจะไม่มีการเพิ่มจำนวนหรือเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป มีแต่จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ผลจากการศึกษาในปัจจุบันกลับพบว่า เซลล์ประสาทสามารถที่จะเติบโต เปลี่ยนแปลง รวมถึงมีการแตกแขนงกิ่งก้านสาขาของเซลล์ได้อีก แม้ว่าเราจะมีอายุมากแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบด้วยว่า ผู้ที่ใช้สมองอย่างต่อเนื่องเป็นประจำมีอัตราการเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่า คนที่ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้

      ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ง่ายๆ ว่า สมองก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากกล้ามเนื้อของร่างกาย ที่หากไม่ได้ใช้งานนานๆ ก็จะลีบเล็กไป แต่ถ้ามีการบริหารบ่อยๆ กล้ามก็จะโตและแข็งแรง สมองก็เช่นกันเพราะเราสามารถที่จะบริหารให้เซลล์ประสาทเติบโตแข็งแรงขึ้นมา ได้

      การออกกำลังสมองแบบ neurobic exercise นี้ คิดขึ้นมาโดยศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ซี แคทซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ชาวอเมริกัน โดยท่านได้เขียนหนังสือชื่อ “Keep your brain alive” ออกมา และกลายเป็นหนังสือขายดีที่ได้รับการแปลเป็นหลายภาษา หลักการของ neurobic exercise เป็นการนำแนวคิดการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ด้วยการขยับกล้ามเนื้อหลายๆ ส่วน มาประยุกต์กลายเป็นวิธีการบริหารสมองที่ใช้ประสาทสัมผัสไปกระตุ้นกล้ามเนื้อ สมองหลายๆ ส่วนให้ขยับและตื่นตัว ทำให้เซลล์ประสาทแตกกิ่งก้านสาขา เซลล์สมองมีการสื่อสารกันมากขึ้น ด้วยวิธีการคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

หลักการสำคัญของneurobic exercise
      1.ใช้ประสาทสัมผัสให้มากขึ้นในทุก ๆ ด้าน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพื่อจะได้ดึงความสามารถของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ออกมาให้มากที่สุด และควรลองใช้สัมผัสหลายๆ ด้านผสมกัน เพราะคนเราทุกวันนี้ส่วนใหญ่มักจะมีกิจกรรมที่ใช้ประสาทสัมผัสซ้ำๆ เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นประสาทสัมผัสทางตาและหู ขณะที่ประสาทสัมผัสอื่นๆ มักจะไม่ค่อยถูกใช้งาน แต่เนื่องจากระบบประสาทสัมผัสแต่ละชนิดใช้สมองคนละส่วนกัน ดังนั้นเมื่อมีการใช้ประสาทสัมผัสหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันก็จะเป็นการกระตุ้นเซลล์สมองหลายๆ ส่วนให้ทำงานและตื่นตัว ซึ่งจะช่วยให้เซลล์ประสาทแตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น รวมถึงมีการเชื่อมโยงประสานงานกันระหว่างเซลล์เพิ่มขึ้นด้วย

      2. ทำอะไรใหม่ๆ หากเรามัวแต่ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ซ้ำๆ สมองจะไม่ได้ทำงานเท่าไร เพราะสมองจะทำทุกอย่างไปตามความเคยชินหรือเป็นอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น การที่เราขับรถไปที่ทำงานทางเดิมทุกวัน บางครั้งเราจะขับโดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้สมาธิ สมองจึงแทบจะไม่ได้ทำงานอะไรเลย แต่การทำอะไรใหม่ๆ จะเป็นการกระตุ้นสมองให้คิด วิเคราะห์ วางแผน และต้องใช้สมาธิ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้สมองมีความสามารถเพิ่มขึ้น รวมถึงยังทำให้ชีวิตมีความสนุก ตื่นเต้น ไม่ซ้ำซากน่าเบื่อ


ลองมาบริหารสมองกันดูหน่อย


วิธีการบริหารสมองแบบ neurobic exercise ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก เพียงเริ่มจาก

1. เลือกวิธีการออกกำลังสมองที่จะยกตัวอย่างให้ดูหลังจากนี้มาทำวันละ 2-3 อย่าง โดยที่คุณสามารถคิด ดัดแปลง ประยุกต์เพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสภาพบ้านหรืองานของตัวคุณเองได้

2.ให้เปลี่ยนวิธีที่ทำไปเรื่อย ๆ อย่าทำวิธีซ้ำๆ จนกลายเป็นความเคยชิน

3. ทำให้ง่าย ให้เข้ากับชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้ไม่เกิดความเครียด เพราะความเครียดมีผลให้เซลล์ประสาทฝ่อ แทนที่จะแข็งแรงขึ้น

ตัวอย่างการทำ neurobic exercises

สิ่งที่สามารถทำได้ที่บ้าน
      - อาหารเช้า ก่อนกินให้ลองดมกลิ่นดูด้วย (ไม่ใช่พออาหารมาถึงก็กินรวดเดียวหมด) ถ้ากินชาหรือกาแฟ อาจจะลองเปลี่ยนกลิ่นหรือรสไปเรื่อยๆ ไม่ให้ซ้ำกัน การทำเช่นนี้จะทำให้เราได้สัมผัสถึงรสชาติ กลิ่น รูปลักษณ์ของอาหารแต่ละชนิดอย่างละเอียด เป็นการใช้ประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น
     - อาบน้ำ ให้ใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ มากขึ้น เช่น อาจจะหลับตาอาบน้ำเพื่อฝึกใช้ประสาทสัมผัสทางกายแทนการมอง ดมกลิ่นสบู่หรือแชมพูที่ใช้ และร้องเพลงหรือเปิดเพลงฟังไปด้วย
     - แปรงฟัน ด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เพราะโดยทั่วไปสมองที่ควบคุมมือขวาจะเป็นสมองด้านซ้าย ส่วนมือซ้ายควบคุมโดยสมองด้านขวา ดังนั้นให้ลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัดดูบ้าง เพื่อจะได้ฝึกใช้สมองทั้งสองข้าง
    - สับเปลี่ยนการทำกิจวัตรประจำวันอย่าทำอะไรเหมือนเดิม เช่น จากที่เคย ตื่นนอน ? แปรงฟัน ? อาบน้ำ ? กินข้าว ก็อาจเปลี่ยนเป็น ตื่นนอน ? แปรงฟัน ? กินข้าว ? อาบน้ำ เป็นต้น
    - หลับตาเดินในบ้าน หรือลองหลับตาหาของบนโต๊ะ
    - เปิดเพลงที่ชอบในบรรยากาศที่มีกลิ่มหอม เช่น อาจจะจุดตะเกียงน้ำมันหอมระเหย เพราะโดยปกติแล้วเรามักจะไม่ค่อยใช้ประสาทสัมผัสในการฟังพร้อมกับการดมกลิ่น การทำสองอย่างนี้พร้อมกันบ่อยๆ จะช่วยสร้างการเชื่อมโยงระหว่างประสาทสองระบบนี้

สิ่งที่สามารถทำได้ที่ทำงาน
     - หลับตาหาของบนโต๊ะทำงานแทนการมอง
     - จัดโต๊ะใหม่เป็นพักๆ จัดที่วางของใหม่ หมุนทิศทางของโต๊ะทำงานไม่ให้เหมือนเดิม เปลี่ยนที่วางถังขยะใหม่ เพื่อกระตุ้นสมองจดจำตำแหน่งใหม่ๆ
     - ขับรถกลับบ้านด้วยเส้นทางใหม่ๆ ไม่กลับทางเดิม
     - ลองประชุมนอกสถานที่ดูบ้าง เปลี่ยนจากการประชุมในห้องทำงาน หรือการประชุมด้วยรูปแบบเดิมๆ การออกไปประชุมนอกสถานที่ดูบ้าง เช่น อาจจะไปนั่งประชุมในสวน
    - เปลี่ยนตำแหน่งการนั่งประชุม โดยไม่ให้แต่ละคนนั่งที่เดิม
    - เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในการทำงาน เช่น เปลี่ยนจากการใช้ windows XP มาใช้ mac os หรือ window 7 หากใช้ Microsoft Office Word 2003 อยู่ก็เปลี่ยนมาใช้เวอร์ชั่น 2007 ถ้าใช้ internet explorer ก็ลองเปลี่ยนมาใช้ google chrome หรือ firefox ดูบ้าง แล้วจะพบว่าการใช้โปรแกรมใหม่ๆ เป็นสุดยอดแห่งการเรียนรู้และการกระตุ้นสมองอย่างหนึ่ง
   - ใช้กลิ่น เช่น น้ำมันหอมระเหยระหว่างการทำงาน

สิ่งที่สามารถทำได้ในเวลาว่าง
   - ไปออกกำลังกายในสถานที่ใหม่ๆ เช่น หากปกติไปวิ่งอยู่แล้วก็ลองไปวิ่งในสวนสาธารณะใหม่ๆ ดูบ้าง หรือเปลี่ยนเส้นทางการวิ่งไม่ให้ซ้ำเดิม
   - ทำอาหารใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ หรือถ้าไม่เคยทำอาหารเลยก็ให้ลองทำดูบ้าง
   - เล่นเกมส์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเล่น เช่น เล่นหมากรุก ครอสเวิร์ด ซูโดกุ หมากล้อม หรือไพ่ โดยสลับสับเปลี่ยนการเล่นไปเรื่อยๆ
   - ไปท่องเที่ยวในสถานที่ไม่เคยไปมาก่อน เพราะการเดินทางไปในสถานที่ใหม่ๆ จะทำให้ได้เจอคนใหม่ๆ รวมถึงการได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้สมองได้คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหามากขึ้น
   - อ่านหนังสือประเภทที่ไม่เคยอ่านมาก่อน หรือเลือกอ่านหนังสือและนิตยสารที่แตกต่างจากที่เคยอ่านอย่างชัดเจนดูบ้าง
   - ทำงานอดิเรกใหม่ เช่น เล่นกีฬา งานฝีมือ เย็บปักถักร้อย รวมถึงการพบปะสังสรรค์ การเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมในครอบครัว เป็นสมาชิกชมรม หรือเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ จะทำให้สมองได้แก้ปัญหาและมีการสื่อสารระหว่างเซลล์สมองมากขึ้น 

          จะ เห็นว่าการออกกำลังสมองแบบ neurobic exercises เป็นอะไรที่ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก และไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเสียเวลาเพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมง รวมถึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันปกติได้ โดยมีหลักการง่ายๆ คือ ลองใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ให้ทั่วถึง หลีกเลี่ยงการทำอะไรจนเป็นกิจวัตรประจำวัน เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้สมองแข็งแรง และสร้างความสนุกให้กับชีวิตได้
ขอให้ทุกท่านสนุกสนานกับการออกกำลังสมอง เพื่อสมองจะได้แข็งแรงคู่กับร่างกายที่ฟิตแอนด์เฟิร์มไงครับ